เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อนคุณถึงไม่ยิ้มเลยทั้งที่ชีวิตดูแฮปปี้? หรือทำไมเพื่อนร่วมงานถึงตื่นตระหนกกับการพรีเซนต์งานธรรมดาราวกับเป็นวันสิ้นโลก?
ความลับที่ซ่อนอยู่อาจไม่ใช่แค่อารมณ์ชั่ววูบ แต่เป็นเรื่องของสุขภาพจิต ปัญหาที่มองไม่เห็นแต่ทำร้ายเราได้ลึกกว่าที่คิด
ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็น “โรคจิตเวช” อยู่ไม่น้อย รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ไปเช็กพร้อมกัน โรคทางจิตเวชพบบ่อยมีอะไรบ้าง แต่ละโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร มีสัญญาเตือนหรือไม่ ไปอ่านกันเลย
โรคจิตเวช คืออะไร เกิดจากอะไร
โรคจิตเวชเป็นกลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้คนนั้นเกิดความทุกข์ทรมาน หรือมีความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน โรคทางจิตเวชมีอยู่หลายประเภท โดยจะเอาสาเหตุและอาการเป็นตัวกำหนดโรคนั้น ๆ
ความผิดปกติทางจิตเป็นปริศนาที่ซับซ้อนกว่าที่เราคิด มักเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว ปัจจัยเหล่านี้รวมถึง
- พันธุกรรมและประวัติครอบครัว ถ้ามีพ่อหรือแม่มีประวัติเป็นโรคจิตเวช ลูกก็เสี่ยงที่จะเป็นด้วยเช่นกัน
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมนและสารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) และโดปามีน (Dopamine)
- สภาพแวดล้อมที่อาจกดดันจนเกิดความเครียด เช่น การเลี้ยงดูของครอบครัว การเรียน การทำงาน เป็นต้น
- การบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง สมองถูกกระทบกระเทือน หรือการทำงานของ สมองเสื่อมถอย ส่งผลให้การทำงานของสมองผิดปกติ กระทบต่อร่างกาย ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม
- การใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์เป็นเวลานานหรือปริมาณมาก สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทางจิต
- โรคร้ายทางกาย อย่างมะเร็ง อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ
5 โรคทางจิตเวชพบบ่อย
ตัวอย่างโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่
1. โรคซึมเศร้า (Depression)
โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองเสียสมดุล โดยมีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ ลักษณะนิสัยส่วนตัว และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ความเครียดสะสม ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ดี หรือการสูญเสียคนรัก
ผู้ที่ป่วยจะมีอารมณ์เศร้าอย่างต่อเนื่อง รู้สึกไร้ค่า หดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ และยังมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย เช่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหัว และปวดเมื่อยตัว
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยอาจมีความคิดในการฆ่าตัวตายได้ ถ้ามีอาการในข้างต้นนานต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ ในการรักษาโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะใช้ทั้งยารักษา และการทำจิตบำบัดไปพร้อมกัน
2. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized anxiety disorders)
โรควิตกกังวลเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่กดดัน ทั้งจากการเรียน การทำงาน หรือสังคม และอาจเกิดร่วมกับสารเคมีในสมองผิดปกติ เช่น เซโรโทนิน (Serotonin), นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และโดพามีน (Dopamine )
ผู้ป่วยจะมีความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวันเป็นเวลานานและมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ครอบครัว เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไป ส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกายขึ้น เช่น กระสับกระส่าย หงุดหงิด กระวนกระวาย ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการนอนหลับ
การรักษาอาการวิตกกังวล สำหรับคนที่อาการไม่รุนแรง หรือยังไม่เข้าข่าย จะแนะนำให้ฝึกรับมือและจัดการความเครียด ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น
แต่ถ้าอาการวิตกกังวลยังแสดงออกมาอยู่เรื่อย ๆ แพทย์จะใช้วิธีการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัดร่วมด้วยกัน
3. โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)
เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่สลับไปมาระหว่างภาวะซึมเศร้า (Depression) และอารมณ์ดีมากเกินไป (Mania) ในช่วงซึมเศร้า ผู้ป่วยจะหดหู่ ท้อแท้ และสิ้นหวัง คล้ายโรคซึมเศร้าทั่วไป อาการอาจคงอยู่หลายเดือนแล้วหายไป
ก่อนเปลี่ยนเป็นช่วงอารมณ์ดี ผู้ป่วยจะรู้สึกคึกคัก เปี่ยมพลัง กระฉับกระเฉง นอนน้อยลง และมีมนุษยสัมพันธ์ดีขึ้น แต่มักควบคุมอารมณ์ได้ยาก ตัดสินใจรวดเร็วโดยไม่ยั้งคิด และหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายเมื่อถูกขัดใจ ผู้ป่วยจะวนเวียนระหว่างสองภาวะนี้ โดยมีช่วงอารมณ์ปกติคั่นกลาง
โรคไบโพลาร์เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเสียสมดุลของสารสื่อนำประสาท พันธุกรรม โรคบางโรค รวมถึงสภาพแวดล้อม อย่างการเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียดในชีวิตประจำวัน
การรักษาหลักจะเป็นการใช้ยาทางจิตเวช เพื่อช่วยปรับระดับสารสื่อนำประสาทและควบคุมอารมณ์ และแพทย์อาจแนะนำให้ทำจิตบัดบำในบางคนร่วมด้วย
4. โรคจิตเภท (Schizophrenia)
โรคจิตเภทเป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของความคิดและการรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หากไม่รักษาตั้งแต่ต้นหรือปล่อยไว้นานเกินกว่า 6 เดือน การรักษาจะยุ่งยากและได้ผลไม่ดี
ผู้ป่วยมักมีอาการประสาทหลอน หูแว่วและภาพหลอน พูดหรือหัวเราะคนเดียว หลงผิดหรือหวาดระแวง
สาเหตุและปัจจัยกระตุ้นโรคมาจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง ความเครียดและภาวะจิตใจ อย่างการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใช้อารมณ์รุนแรง ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ ความสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ดี
การรักษาโรคจิตเภทจะใช้ยาต้านโรคจิตเป็นหลัก เพื่อช่วยควบคุมอาการและป้องกันอาการกำเริบ ผู้ป่วยต้องใช้ยาตลอดชีวิต ห้ามหยุดยาแม้อาการจะดีขึ้น เพราะจะทำให้อาการกำเริบ และต้องเริ่มรักษาใหม่
ทั้งนี้ การได้รับความใส่ใจจากครอบครัว เข้าใจว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแบบนี้ แต่เป็นอาการทางสมอง ดูแลผู้ป่วยให้ใช้ยาและเข้ารับการบำบัด จะส่งผลดีต่อการการรักษาในระยะยาว
5. โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ (Post-traumatic stress disorder: PTSD)
โรค PTSD เป็นผลมาจากผู้ป่วยได้ผ่านเหตุการณ์เลวร้าย หรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ผ่านเหตุการณ์เฉียดตาย เห็นคนใกล้ตัวตายหรือถูกทำร้าย
ผู้ป่วยจะมีอาการระแวง หวาดกลัว ตกใจง่ายกว่าปกติ พยายามเลี่ยงสถานที่หรือพูดถึงเหตุการณ์นั้น ฝันร้าย ฝันถึงเหตุการณ์นั้นบ่อย ๆ และอารมณ์เปลี่ยนไปในทางลบ
หากเกิดอาการต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือน หรืออาการกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรต้องไปปรึกษากับแพทย์ การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด และสิ่งสำคัญในการรักษาคือ การที่ได้รับแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างและครอบครัว
มาป้องกันโรคทางใจกันเถอะ
การดูแลสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต แนวทางง่าย ๆ เริ่มจากการใส่ใจสุขภาพกาย ทั้งการรับประทานอาหารที่ดี ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
ควบคู่กันไปกับการดูแลสภาพจิตใจ พยายามมองโลกในแง่ดี คิดบวก รู้สึกขอบคุณสิ่งเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ฝึกทักษะการรับมือกับปัญหา ผ่อนคลายกับชีวิต ทำในสิ่งที่ชื่นชอบ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว
นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความรู้สึกเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือเบื่อหน่าย หากมีอาการเหล่านี้ต่อเนื่อง ไม่สามารถหาทางออกได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องอะไร ควรไปปรึกษาแพทย์โดยไม่ลังเล
การไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นผู้ป่วยจิตเวช หรือเป็นโรคจิต แต่เป็นการไปขอคำแนะนำ หรือปรึกษาปัญหาทางใจที่กำลังเผชิญอยู่เท่านั้นเอง
อย่าปล่อยให้ความเครียดและอารมณ์ ควบคุมชีวิตคุณอีกต่อไป ! มาตรวจเช็กอารมณ์และสุขภาพใจได้ที่ HDmall.co.th มีหลากหลายแพ็กเกจเกี่ยวกับอารมณ์และจิตใจ ให้คุณปรึกษาคุณหมอเชี่ยวชาญเฉพาะทาง คลิกเลย
สอบถามเพิ่มเติม จองคิวคุณหมอ หรือแนะนำแพ็กเกจ สอบถามแอดมินทางไลน์ได้เลย ที่นี่