child development disease definition scaled

เช็กพัฒนาการลูกน้อย แรกเกิด–5 ปี ลูกโตสมวัยหรือเปล่า และวิธีเสริมพัฒนาการลูก

การได้มองเห็นลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย ก็คงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องการ แต่พ่อแม่จะได้รู้ได้อย่างไรว่าลูกของเรามีพัฒนาการสมวัย หรือสิ่งไหนบ้างที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย 

วันนี้ HDmall ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี รวมไปถึงวิธีการเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมกับลูกน้อยมาฝากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูได้เลย

ทำความเข้าใจ “พัฒนาการเด็ก”

พัฒนาการเด็กเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และทักษะการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ทำให้เด็กสามารถทำความเข้าใจ ปรับตัว หรือมีทักษะที่ซับซ้อนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวัน และอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข 

พัฒนาการเด็กสามารถแบ่งออกได้ 4 ด้าน ดังนี้ 

  1. พัฒนาการด้านร่างกาย คือ ความสามารถของร่างกายทั้งในส่วนของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การทรงตัว การเคลื่อนไหว เป็นต้น
  2. พัฒนาการด้านสติปัญญา คือ ความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การใช้เหตุผล การแก้ปัญหา รวมถึงพัฒนาการด้านภาษา และการใช้มือกับตา 
  3. พัฒนาการด้านอารมณ์ คือ ความสามารถในการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ และการควบคุม การแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม 
  4. พัฒนาการด้านสังคม คือ ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน มีความรู้ผิดชอบชั่วดี และมีคุณธรรม

นอกจากพันธุกรรมแล้ว พัฒนาการเด็กยังได้รับอิทธิพลมาจากสภาพแวดล้อมด้วย การส่งเสริมพัฒนาการให้เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกจะช่วยให้เด็กพัฒนาได้เต็มศักยภาพ และเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ 

พัฒนาการลูกน้อยตามวัย (เด็กแรกเกิด-5 ปี)

ช่วงวัยของเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 5 ปี จะเป็นช่วงที่มีอัตราการเจริญเติบโตและพัฒนาการสูง จึงเป็นช่วงสำคัญที่พ่อแม่จำเป็นต้องสังเกตพัฒนาการของลูกน้อย พร้อมทั้งคอยส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

เดือน พัฒนาการตามวัย
แรกเกิด-1 เดือน
  • เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ สามารถยกหัวและหันเปลี่ยนข้างได้
  • มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในระยะใกล้ (8-12 นิ้ว) เช่น หน้าคุณพ่อคุณแม่ แต่ดวงตายังขยับตามไม่ได้ จะใช้การหันหัวมองแทน
  • มองหน้าคนพูดได้ระยะสั้น ๆ อย่างน้อย 1 วินาที 
  • ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ เช่น ขยับหัวเมื่อมีคนลูบแก้ม สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดัง กำนิ้วมือเมื่อมีสิ่งของวางบนฝ่ามือ และเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วน
  • ทำเสียงในลำคอ เสียงอ้อแอ้ได้
1-2 เดือน  
  • เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ ยกหัวขึ้นได้ประมาณ 45 องศา ระยะสั้น ๆ ประมาณ 3 วินาที  และหันเปลี่ยนข้างได้ 
  • เริ่มสนใจกับสิ่งที่ผ่านตาไป มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหว สามารถมองตามจากด้านข้างถึงประมาณระยะกลางลำตัวได้ 
  • มองหน้าคนพูดได้ระยะสั้น ๆ อย่างน้อย 5 วินาที 
  • มีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงพูดระดับปกติ
  • เริ่มส่งเสียง อู อา อือ หรือเสียงในลำคอ ฟังเสียงคุยกันได้
  • สามารถกำมือหลวม ๆ ได้ 
3-4 เดือน
  • เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ สามารถใช้แขนยันหน้าอกกับพื้นได้ ชันคอได้ 90 องศา ในท่านั่งสามารถตั้งหัวตรงได้
  • มองตามสิ่งของได้ 180 องศา
  • เริ่มโต้ตอบได้มากขึ้น ส่งเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ แสดงความรู้สึกได้ เช่น ยิ้ม หรือหัวเราะ เมื่อเจอพ่อกับแม่ หรือมีคนมาเล่นด้วย 
  • เหยียดแขนออกมา หรือใช้มือคว้าของใกล้ตัวได้ 
  • หันตามทิศทางเสียงที่ถูกต้องได้ 
5-6 เดือน
  • ยันตัวขึ้นจากท่านอนคว่ำ โดยเหยียดแขนตรงทั้ง 2 ข้างได้ นั่งโดยใช้มือยันพื้นได้เอง
  • มีการพลิกคว่ำหรือหงายตัวได้ 
  • ลูกเริ่มจำพ่อแม่ได้ เริ่มมีการร้องตาม 
  • เริ่มสนใจสิ่งที่มองเห็นรอบตัว 
  • เอื้อมมือไปหยิบ และถือสิ่งของได้ 
  • เริ่มเลียนแบบการเล่น หรือทำเสียงได้ตามได้ 
7-9 เดือน
  • นั่งได้ เอี้ยวตัวได้ 
  • ยืนเกาะได้อย่างน้อย 10 วินาที
  • รู้ชื่อของตัวเองและคำง่าย ๆ ที่ใช้บ่อย หันตามเสียงเรียกชื่อได้ 
  • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้เมื่อใช้ท่าทางประกอบ เช่น ตบมือ โบกมือ บ๊ายบาย เล่นจ๊ะเอ๋
  • ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่น ๆ หยิบของขึ้นจากพื้น ใช้นิ้วหยิบอาหารกินเองได้
  • เริ่มออกเสียงที่สระผสมกับพยัญชนะต่าง ๆ ได้ เช่น ปาปา มามา หม่ำ หม่ำ 
10-12 เดือน
  • ยืนได้โดยไม่ต้องพยุง อย่างน้อย 2 วินาที
  • สามารถทำท่าตามคำสั่งได้ โดยไม่ต้องมีคนทำท่าให้ดู เช่น โบกมือ ตบมือ 
  • แสดงความต้องการ โดยการเปล่งเสียง หรือทำท่าทาง 
  • สามารถจีบนิ้วโป้งและนิ้วชี้เข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในการหยิบจับ
  • สามารถเล่นของตามประโยชน์ของสิ่งของได้ เช่น หยิบช้อนมาทำท่ากินข้าว หยิบแปรงสีฟันมาแปรง
13-15 เดือน
  • ยืนได้โดยไม่ต้องพยุง อย่างน้อย 10 วินาที
  • เล่นตามบทบาทสมมติได้มากขึ้น เช่น แปรงฟันให้ตุ๊กตา 
  • เลียนแบบท่าทางได้อย่างน้อย 1 อย่าง เช่น ท่าทางการทำงานบ้าน
  • เริ่มขีดเขียนเป็นเส้น ๆ ลากเส้นยุ่ง ๆ ได้ 
  • เริ่มจำชื่อหรือบอกสิ่งของรอบตัวได้
  • เริ่มพูดคำพยางค์เดียวที่มีความหมายได้ 
  • สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ 
16-18 เดือน
  • เดินลากรถของเล่นหรือสิ่งของได้ 
  • พูดได้ประมาณ​ 1-5 คำ
  • พูดตามคำที่เด่น ๆ หรือคำสุดท้ายของประโยคได้
  • ดื่มน้ำจากแก้วได้โดยไม่หก วิ่งได้
  • พลิกหน้าหนังสือได้ทีละแผ่น
2 ปี
  • ใช้ช้อนตักอาหารกินเอง 
  • ใช้สิ่งของเข้ามาช่วยแก้ปัญหาง่าย ๆ เช่น หยิบเก้าอี้มาใช้ต่อตัวหยิบของ หรือใช้ไม้เขี่ย
  • พูดตอบรับและปฏิเสธได้ เช่น เอา ไม่เอา
  • พูดวลีหรือคำที่มีความหมายได้ประมาณ 2-3 คำ
  • รู้จักและชี้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ 
  • กระโดด 2 เท้าพร้อมกันได้ เดินขึ้นบันได โดยก้าวเท้าตามทีละข้างได้ 
3 ปี
  • ถอดรองเท้าและใส่เสื้อเองได้
  • เล่นสมมติที่ซับซ้อนเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น
  • ทำตามคำสั่งต่อเนื่องได้ 2 ขั้นตอน เช่น “เก็บของเล่น แล้วหยิบกลับมาให้แม่”
  • บอกชื่อตนเอง หรือเวลาที่ต้องขับถ่ายได้ 
  • ยืนขาเดียวได้ 2-3 วินาที
  • เดินขึ้นบันได สลับเท้าได้ ขี่รถสามล้อเด็กได้
  • ลากเส้นต่อเนื่อง หรือเป็นวงกลมได้ 
  • พูด 3 คำติดต่อกัน ได้อย่างน้อย 4 ความหมาย
4 ปี
  • ร้องเพลงได้
  • ถามคำถามได้ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ใคร อะไร ที่ไหน ทำไม 
  • ทำตามกฎในการเล่นเป็นกลุ่มได้ 
  • แยกขนาดวัตถุต่าง ๆ ได้ เช่น เล็ก ใหญ่ ยาว สั้น 
  • อธิบายลักษณะของวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น สี หรือขนาด 
  • รู้จักการหลีกเลี่ยงสิ่งที่อันตราย
  • นับของทีละชิ้นได้ 
  • แต่งตัว ใส่กระดุมเสื้อเองได้
5 ปี
  • ต่อชิ้นส่วนหรือจิ๊กซอว์ภาพง่าย ๆ ได้ 
  • แปรงฟันได้เอง และทำความสะอาดหลังอุจจาระได้ 
  • วิ่งเตะลูกบอลได้
  • จับดินสอได้ถูกต้อง สามารถจำแนกสีได้ 8 สี
  • เลียนแบบบทบาทของผู้ใหญ่ได้  
  • พูด ฟัง เข้าใจ และตอบคำถามได้ถูกต้อง มีการถามคำถามเกี่ยวกับเหตุและผลมากขึ้น
  • จำตัวอักษรได้ 
  • กระโดดสลับเท้า หรือกระโดดไปด้านหน้าด้านหลังได้ 

มีคำถามหรือเกิดความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการลูกน้อย อย่าปล่อยให้เวลาผ่านจนลูกเริ่มโต รู้ก่อนแก้ได้ก่อน ลองดูแพ็กเกจตรวจประเมินพัฒนาการเด็ก ในราคาสบายกระเป๋า คลิก! 

วิธีเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย (เด็กแรกเกิด-5 ปี)

นอกจากการสังเกตพัฒนาการลูกน้อยแล้ว พ่อแม่ควรส่งเสริมวิธีการเล่นกับลูกอย่างถูกวิธี และเลือกของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการให้ตรงตามวัยด้วย 

เดือน วิธีเสริมพัฒนาการเด็ก และของเล่นช่วยเสริมพัฒนาการ
แรกเกิด-1 เดือน
  • อุ้มลูกบ่อยๆ และคุยกับลูกใกล้ ๆ 
  • แสดงสีหน้ามาก ๆ และชัด ๆ เช่น ยิ้ม แลบลิ้น อ้าปาก เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะทำตาม
  • ของเล่นในช่วงแรกเกิดควรเป็นเฉดสีขาวดำ พอลูกอายุ 1 เดือนแนะนำของเล่นที่มีสีสันสะดุดตา เช่น สีแดง ส้ม ฟ้า เหลือง
  • หาของเล่นที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง หรือเสียงดนตรี เพื่อให้ลูกเรียนรู้การสนใจวัตถุตรงหน้า
1-2 เดือน  
  • จัดลูกให้อยู่ในท่านอนหงาย หรืออุ้มลูก แล้วพูดคุย เรียกชื่อ ส่งยิ้ม กระพริบตากับลูกในระยะ 30 ซม. หรือประมาณ 1 ไม้บรรทัด
  • จัดลูกอยู่ในท่านอนคว่ำ เขย่าของเล่นเสียงกรุ๊งกริ๊งที่มีสีสด ๆ อย่างสีแดง นำมาเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ เพื่อฝึกให้ลูกมองตามเสียงและวัตถุ
  • ของเล่นที่เหมาะ เช่น ลูกบอลผ้าหรือไหมพรมสีสันสดใส กรุ๊งกริ๊งทำด้วยพลาสติกหรือผ้าที่จับถือง่ายและปลอดภัย 
3-4 เดือน
  • พูดคุย เล่น พร้อมทำหน้าตาให้ลูกสนใจ 
  • สัมผัสจุดต่าง ๆ ของลูก เช่นใช้นิ้วมือสัมผัสเบา ๆ ที่ฝ่าเท้า ท้อง เอว โดยการสัมผัสแต่ละครั้ง ควรมีจังหวะหนักเบาที่แตกต่างกัน
  • เริ่มฝึกให้ลูกทำตาม เช่น อาจจะพูดว่า “ยิ้มให้คุณพ่อสิลูก” 
  • แขวนโมบายให้ลูกในระยะที่สามารถเอื้อมจับได้ 
  • หาของเล่นที่สามารถถือได้ สีสันสดใส เช่น ตุ๊กตาผ้านิ่ม ๆ ลูกบอลผ้าหรือไหมพรม 
5-6 เดือน
  • ชี้ชวนให้ลูกมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัว 
  • พูดคุยกับลูกด้วยเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกัน
  • จัดท่าลูกให้อยู่ในท่านอนคว่ำ แล้วใช้ของเล่น โดยเคลื่อนที่ขึ้นข้างบนเหนือหัวช้า ๆ เพื่อให้ลูกฝึกยกหัวและยันตัวตาม
  • ใช้ของเล่นมาวาง เพื่อให้ลูกฝึกเอื้อมหยิบจับ เช่น ให้เล่นลูกบอลบีบแล้วมีเสียง ลูกบอลผ้าหรือไหมพรมสีสด กรุ๊งกริ๊งทำจากพลาสติกหรือผ้า หรือหนังสือรูปภาพสีสด
7-9 เดือน
  • ให้ลูกนั่ง พร้อมวางของเล่นกระจายอยู่รอบ ๆ ตัว เพื่อให้ลูกฝึกเอื้อมและหยิบ
  • จับลูกนั่งตัก พร้อมเปิดหนังสือภาพ ชี้ภาพต่าง ๆ ให้ลูกดูตาม
  • เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ 
  • ทำเสียงใหม่ ๆ ให้ลูกเลียนเสียงตาม หรือร้องเพลงง่าย ๆ 
  • ส่งเสริมให้ลูกฝึกคลานในพื้นที่ปลอดภัย ฝึกเกาะขอบโต๊ะหรือโซฟา
  • ตัวอย่างของเล่นให้ลูกเล่น เช่น บล็อกไม้สี ๆ  หรือของเล่นขนาดพอดีมือ ของเล่นสีสดใส ที่ถือมือเดียวได้
10-12 เดือน
  • แบ่งขนมหรืออาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 ซม. ใส่ภาชนะไว้ เพื่อฝึกให้ลูกหยิบทาน แต่พ่อแม่ควรคอยดูและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
  • เล่นกับลูกโดยใช้คำง่าย ๆ เช่น โบกมือ สวัสดี บ๊ายบาย
  • เมื่อนำของเล่นหรือขนมที่ลูกชอบมาให้ ให้พ่อแม่ถามเสมอว่า เอาไหม? เอาอันไหน? เพื่อเป็นกระตุ้นการแสดงออกของลูก
  • ชวนลูกเล่นสมมติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชวนหวีผม แปรงฟัน 
13-15 เดือน
  • เล่นสมมติกับลูก เช่น หวีผมให้ตุ๊กตา ป้อนข้าวตุ๊กตา
  • ให้ลูกขีดเขียนลงกระดาษ อาจมีการช่วยจับมือ หรือขีดเส้นให้ลูกดู
  • เริ่มบอกให้ลูกรู้จักกับสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว ว่าอันไหนเรียกว่าอะไร 
  • ฝึกใช้คำสั่งง่าย ๆ กับลูก เช่น หยิบตุ๊กตาให้แม่หน่อย
16-18 เดือน
  • ชวนลูกลากของเล่นหรือสิ่งของ และเดินไปด้วยกัน 
  • ชวนลูกเล่นต่อของแนวตั้ง
  • ชี้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ชักชวนให้ลูกชี้หรือพูดตาม
  • ให้หยิบตักอาหาร หรือดื่มน้ำเอง
2 ปี
  • ฝึกขยายคำพูดของลูก เช่น หากลูกพูดว่า “กิน” ให้เติมคำหรือขยายความ เช่น “กินข้าว” 
  • ฝึกขึ้นบันได หรือกระโดดต่ำ ๆ โดยมีพ่อแม่ดูแลอย่างใกล้ชิด
  • เล่นบทบาทสมมติต่าง ๆ กับลูก อาจใช้การเล่านิทาน เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น
  • เล่นตัวต่อแนวตั้ง หรือของเล่นที่มีรูปทรงเลขาคณิต ให้ลูกฝึกแยกแยะของรูปทรงต่าง ๆ
  • เริ่มเพิ่มรายละเอียดในสิ่งที่ลูกทำได้ เช่น ก่อนจะกินข้าว ให้ล้างมือ เช็ดมือ 
3 ปี
  • ชวนลูกให้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ช่วยทำงานบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน 
  • ฝึกใช้สีเทียนวาดรูปต่าง ๆ เช่น รูปวงกลม ควบคู่กับการสอนให้ลูกรู้จักสีแต่ละสี
  • ให้ลูกเล่นเกมง่าย ๆ เช่น นำของเล่นไปซ่อน ให้ลูกลองหาของ และนำมาให้ 
  • เริ่มตั้งคำถามบ่อย ๆ ให้ลูกได้ฝึกตอบ 
  • อ่านนิทาน สอดแทรกการตั้งคำถามระหว่างเล่าเรื่อง
  • ตัวอย่างของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการ เช่น ภาพตัวต่อจิ๊กซอว์ บล็อกไม้สี และรูปทรงต่าง ๆ ที่ซับซ้อนขึ้น หนังสือนิทานที่มีเรื่องราวที่ซับซ้อนตามวัย ชุดการเล่นบทบาทสมมติในเรื่องต่าง ๆ 
4 ปี
  • ส่งเสริมให้ลูกเริ่มเล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน
  • พูดคุยชีวิตประจำวันมากขึ้น พร้อมฝึกตั้งคำถามโต้ตอบกับเด็ก เช่น แม่ทำอะไรอยู่นะ พ่ออยู่ที่ไหนนะ
  • ฝึกให้ลูกแยกขนาดและลักษณะของต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ของเล่นอันไหนใหญ่กว่าหรือเล็กกว่า อันนี้มีสีอะไร 
  • สอนให้ลูกแสดงออกให้โอกาสต่างๆ เช่น การขอบคุณ การขอโทษ
  • เริ่มสอนให้ลูกรู้จักสิ่งที่ต้องเลี่ยงอันตราย
  • ชวนเล่นปั้นดินน้ำมัน แป้งโดว์ วาดภาพระบายสี ให้เล่นของเล่นที่ถอดประกอบได้ ก้อนไม้สี ๆ เพื่อนับหรือเรียง อ่านนิทานตามวัย 
5 ปี
  • ชักชวนให้ลูกต่อจิ๊กซอว์ภาพที่มีขนาด 6-8 ชิ้น
  • ฝึกลูกให้เข้าห้องน้ำ และทำความสะอาดหลังเข้าห้องน้ำ
  • ฝึกจับดินสอ และขีดเส้นรูปแบบต่าง ๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม
  • สอนเรื่องสีต่าง ๆ 
  • เล่นสวมบทบาทที่ซับซ้อน เช่น เล่นขายของ เล่นเป็นคุณหมอกับคนไข้ เป็นต้น
  • ฝึกวิ่ง เตะลูกบอล หรือกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง
  • ตัวอย่างของเล่น เช่น สมุดภาพ สมุดระบายสี สีเทียน สีไม้ สีน้ำตัวต่อ เลโก้ ชุดการเล่นบทบาทสมมติ และหนังสือนิทานตามวัย

จะเห็นได้ว่าในแต่ละช่วงเวลาของลูกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ลูกจะได้เรียนรู้และรู้จักกับความสามารถของตัวเอง รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว 

โดยหัวใจของ “พัฒนาการเด็ก” คือ การเฝ้าสังเกต เอาใจใส่ ให้เวลา และคอยส่งเสริมพัฒนาการลูกในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีพัฒนาการสมวัย

อย่างไรก็ดี พัฒนาการเด็ก ย่อมมีความแตกต่างกันในแต่ละคน หากมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก “การตรวจประเมินพัฒนาการเด็ก” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง รับรู้ถึงปัญหา และวางแนวทางการเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างเหมาะสม 

นอกจากเฝ้าสังเกตแล้ว “การตรวจประเมินพัฒนาการเด็ก” เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้พ่อแม่รู้ถึงพัฒนาการของลูก และวางแนวทางเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างเหมาะสม หาแพ็กเกจตรวจประเมินพัฒนาการเด็ก โดยผู้เชี่ยวชาญ ราคาโปร ใกล้บ้านคุณ คลิก!

Scroll to Top