causes of lung cancer in non smoking disease definition scaled

4 ตัวร้าย สาเหตุโรคมะเร็งปอด ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงมะเร็งปอดได้

รู้กันรึเปล่า? บุหรี่เป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็งปอดเท่านั้น ความเป็นจริงแล้ว มีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดนอกจากสารเคมีในบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษจากที่อื่น มลพิษทางอากาศ ไปจนถึงพันธุกรรม

โรคมะเร็งปอดเป็นโรคร้ายที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ความทุกข์ และการเสียชีวิต การรู้จักกับสาเหตุของโรคนี้พอจะช่วยให้เราประเมินความเสี่ยง และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดได้อย่างเหมาะสม

สาเหตุพบบ่อยของโรคมะเร็งปอด 4 ตัวการร้ายที่ต้องเลี่ยง

โรคมะเร็งปอดเป็นผลมาจากเซลล์ปอดถูกทำลายซ้ำ ๆ เป็นเวลานานด้วยปัจจัยต่าง ๆ อย่างสารเคมี สารพิษ หรือแม้แต่ฝุ่นควัน ทำให้ดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์ปอดผิดปกติ กลายเป็นมะเร็งนั่นเอง 

สาเหตุต่อไปนี้มักเป็นตัวการเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด

1. บุหรี่

บุหรี่เป็นหนึ่งในประเภทของยาสูบ แต่ไม่ว่าจะเป็นยาสูบรูปแบบไหน ก็ล้วนเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดได้ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งบุหรี่ธรรมดา ยาเส้น ซิการ์ ไปป์ หรือยาสูบชนิดอื่น 

บุหรี่และยาสูบประกอบไปด้วยสารเคมีและสารพิษหลายร้อยชนิด หนึ่งในนั้นมีสารก่อมะเร็งรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง และบุหรี่ถือเป็นสาเหตุร้อยละ 50 ของโรคมะเร็งปอด 

ตัวอย่างสารพิษและสารก่อมะเร็งในบุหรี่และยาสูบ เช่น นิโคติน ทาร์ คาร์บอนมอนออกไซด์ ไซยาไนด์ แคดเมียม เบนซีน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ คนที่สูบบหรี่จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดสูง และแนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเป็นกลุ่มแรก ๆ โดยเฉพาะคนอายุ 50–80 ปี มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด ตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • สูบบุหรี่ตั้งแต่ 20 ซองต่อปีขึ้นไป (จำนวนซองที่สูบต่อวัน คูณจำนวนปีที่สูบ)
  • สูบบุหรี่อย่างน้อย 40 มวนต่อวัน ติดต่อกันนาน 15 ปี
  • สูบบุหรี่อย่างน้อย 20 มวนต่อวัน ติดต่อกันนาน 20 ปี
  • สูบบุหรี่อย่างน้อย 10 มวนต่อวัน ติดต่อกันนาน 30 ปี
  • หยุดสูบหรี่ไปแล้วไม่เกิน 15 ปี

นอกจากโรคมะเร็งปอดแล้ว บุหรี่และยาสูบยังเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่เรื้อรังอื่น ๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วย

2. ก๊าซเรดอน

ก๊าซเรดอนเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดรองจากบุหรี่ เป็นสารกัมมันตรังสีที่พบได้ทั่วไปทุกที่ เป็นส่วนประกอบของหิน ดิน ทราย และวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งยังไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส และไม่สามารถสัมผัสได้จากประสาทสัมผัสใด ๆ ของคนเรา 

การอยู่ภายในห้องหรืออาคารที่ปิดทึบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทำให้อากาศอาจปะปนก๊าซเรดอนมากกว่าปกติ พอเราสูดเอาก๊าซเรดอนผ่านการหายใจ ทำให้ก๊าซนี้เข้าสู่ปอดและกระแสเลือด เมื่อได้รับมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดได้

3. สารก่อมะเร็งอื่น ๆ

สารก่อมะเร็งหลายชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดได้ เช่น สารหนู แร่ใยหิน (สารแอสเบสตอส) นิกเกิล สารพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่น PM 2.5 และแม้แต่ควันธูป  

สารก่อมะเร็งเหล่านี้มักเป็นส่วนประกอบของใช้ต่าง ๆ ซึ่งคนที่ทำงานในโรงงานสิ่งทอ เหมืองแร่ อุปกรณ์ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็งเหล่านี้ และเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปอดตามมาได้ รวมถึงคนที่เผชิญกับมลภาวะทางอากาศอยู่บ่อย ๆ ด้วย

4. พันธุกรรม

อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่คนไม่รู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด คือ พันธุกรรม แม้มะเร็งปอดไม่ได้ถ่ายทอดพันธุกรรมผ่านทางสายเลือด แต่คนที่มีญาติสายตรง อย่างพ่อ แม่ หรือพี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด จะมีความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไป 23 เท่า  

อย่างไรก็ตาม การที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคมะเร็งปอดเสมอไป เพียงแค่ต้องคอยหมั่นระวัง และเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ 

รู้ทันสัญญาณโรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอดในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ถึงปัญหาสุขภาพที่กำลังเผชิญอยู่ หรือบางคนอาจพบอาการเล็กน้อย เช่น

  • ไอเรื้อรัง ไม่ยอมหาย
  • ไอปนเลือด
  • เสียงแหบ เสียงหวีดแหลม
  • แน่นหรือเจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก

หากพบอาการเหล่านี้ ร่วมกับมีความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนการตรวจคัดกรองโรคปอดอย่างเหมาะสม 

กรณีเริ่มพบอาการผิดปกติอื่น เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร ปวดกระดูก หรือปวดตามร่างกาย ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งปอดที่เริ่มลุกลาม

ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด รู้เร็วรักษาได้

การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคมะเร็งปอด อย่างการงดสูบบุหรี่ และการรับสารพิษอื่น ๆ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ แต่ไม่ทั้งหมด สิ่งที่ช่วยในการรับมือกับโรคมะเร็งปอด คือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด 

การตรวจพบร่องรอยของโรคเร็วจะช่วยให้การรักษาทำได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสหายขาดมากกว่าระยะที่โรคลุกลาม โดยแพทย์จะแนะนำให้คนกลุ่มต่อไปนี้ เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดเป็นประจำทุกปี

  • อายุ 50–80 ปี
  • สูบบุหรี่ตั้งแต่ 20 ซองต่อปีขึ้นไป
  • หยุดสูบหรี่ไปแล้วไม่เกิน 15 ปี
  • มีโรคปอดเรื้อรัง
  • ญาติสายตรงมีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด

วิธีตรวจคัดกรองปอดมีอยู่หลายวิธี โดยแพทย์อาจใช้การเอกซเรย์ทรวงอกแบบดั้งเดิม หรือใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ (Low dose CT scan) ที่ให้ภาพที่ชัดเจนกว่า

อย่าลืมนะ โรคมะเร็งปอดไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากมลพิษ สารเคมี และพันธุกรรมได้ด้วย ไม่ว่าใครก็อาจเสี่ยงโรคนี้กันได้ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และตรวจคัดกรองโรคปอดอย่างเหมาะสมเมื่อถึงเวลา

รู้จักกับสาเหตุของโรคมะเร็งปอดแล้ว ไม่ต้องรอช้า มาเช็ก แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด ในราคาเบา ๆ ที่ HDmall.co.th

Scroll to Top