ก้อนที่เต้านม Breast Lump scaled

ก้อนที่เต้านม (Breast Lump)

แม้การพบก้อนที่เต้านมมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ แต่ความจริงแล้วเนื้อเยื่อเต้านม (Breast Tissue) เป็นเนื้อเยื่อที่พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายจะส่งผลต่อเนื้อเยื่อเหล่านี้ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดก้อนที่เต้านมได้ที่พบได้ทุกเพศและทุกวัย

การพบก้อนที่เต้านมส่วนใหญ่ มักจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (Benign) ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว แต่ในบางกรณีก้อนที่เต้านมก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งได้ หากคลำพบก้อนที่เต้านมแล้วไม่แน่ใจว่า เป็นก้อนเนื้อประเภทใด ควรเข้ารับการตรวจประเมินโดยแพทย์และทำการรักษาอย่างเหมาะสม

สาเหตุของก้อนที่เต้านม

สาเหตุของการเกิดก้อนที่เต้านมมีหลายอย่าง ได้แก่

  • ซีสต์ที่เต้านม ก้อนที่เต้านมจะมีลักษณะเป็นถุงน้ำนิ่ม
  • ซีสต์ที่มีน้ำนมอยู่ภายใน (Milk Cysts) เป็นลักษณะถุงน้ำที่ภายในเป็นน้ำนม เกิดขึ้นระหว่างการให้นมบุตร
  • ไฟโบรซีสติก (Fibrocystic) สภาวะที่รู้สึกเหมือนมีก้อนภายในเนื้อเยื่อเต้านม และบางครั้งจะมีอาการปวดร่วมด้วย
  • เนื้องอกชนิดไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) เป็นก้อนเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง กลิ้งไปมาได้ และมีโอกาสน้อยที่จะพัฒนาเป็นมะเร็ง
  • เนื้องอกชนิดฮามาโตมา (Hamartoma) คือ ก้อนเนื้อชนิดที่ยังไม่ใช่มะเร็ง
  • เนื้องอกในท่อน้ำนม (Intraductal Papilloma) เนื้องอกขนาดเล็กที่ไม่ใช่มะเร็งซึ่งพบในท่อน้ำนม
  • เนื้องอกไขมัน (Lipoma) ลักษณะของเนื้องอกชนิดไม่ใช่เซลล์มะเร็ง เจริญเติบโตช้า เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อไขมันเจริญผิดปกติ
  • เต้านมอักเสบ (Mastitis) หรือมีการติดเชื้อที่เต้านม
  • การได้รับบาดเจ็บ
  • มะเร็งเต้านม (Breast Cancer)

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

แม้ว่าก้อนเนื้อที่เต้านมส่วนใหญ่มักไม่ใช่ก้อนมะเร็ง แต่ถ้าหากพบอาการเหล่านี้ร่วมอยู่ด้วย ก็ควรไปพบแพทย์ทันที

  • บริเวณเต้านมมีความแตกต่างจากบริเวณอื่นอย่างเห็นได้ชัด
  • ก้อนเนื้อที่เต้านมไม่ยุบตัวลง ภายหลังประจำเดือนหมด
  • ก้อนเนื้อมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • มีรอยช้ำที่เต้านมโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมเป็นสีแดง หรือเริ่มมีรอยย่นคล้ายผิวส้ม
  • มีอาการหัวนมบอด (ถ้าตามปกติแล้วหัวนมคุณไม่ได้บอด)
  • มีเลือดออกจากหัวนม

หากไม่แน่ใจว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองมีความร้ายแรงมากน้อยเพียงใด ควรไปพบแพทย์หรือไม่ ปัจจุบันมีบริการปรึกษาสูตินรีแพทย์ออนไลน์ ผ่านวิดีโอคอลแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล

คำแนะนำเบื้องต้นจากแพทย์จะช่วยให้คุณมีแนวทางต่อไปว่า ควรปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเหมาะสม

การตรวจวินิจฉัยเต้านมโดยแพทย์

เมื่อไปพบแพทย์เนื่องจากพบก้อนที่เต้านม แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น และจะทำการตรวจเต้านมให้กับคุณ หากแพทย์ไม่สามารถระบุสาเหตุของก้อนที่เต้านมได้ จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • การทำแมมโมแกรม (Mammogram) การเอกซเรย์เต้านม ซึ่งช่วยบ่งบอกความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่เต้านมได้ ในการวินิจฉัยจะทำการเปรียบเทียบผลการตรวจในครั้งนี้กับผลการตรวจแมมโมแกรมในครั้งก่อน (ถ้ามี) เพื่อดูว่า เนื้อเยื่อเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
  • การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นวิธีการตรวจที่ไม่รุกล้ำร่างกาย ไม่เจ็บ โดยจะใช้คลื่นเสียงเพื่อสร้างเป็นภาพเต้านม
  • การถ่ายภาพทางการแพทย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging (MRI)) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุเพื่อถ่ายภาพเต้านม
  • การเจาะดูดก้อนที่เต้านม (Fine-Needle Aspiration) ใช้เข็มขนาดเล็กเพื่อดูดเอาของเหลวออก ในบางกรณีอาจใช้คลื่นอัลตราซาวด์เพื่อช่วยบอกตำแหน่งของเข็มระหว่างการเจาะดูดด้วย ถ้าเป็นซีสต์ที่ไม่ใช่มะเร็งจะยุบตัวลงได้เมื่อดูดเอาของเหลวออกไป ถ้าของเหลวที่ดูดออกมาเป็นเลือดหรือมีลักษณะขุ่น ตัวอย่างที่ดูดออกมานั้นจะถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า “ใช่เซลล์มะเร็งหรือไม่”
  • การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) คือ กระบวนการนำเนื้อเยื่อของเต้านมไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การตรวจชิ้นเนื้อเยื่อเต้านม (Breast Biopsy) มีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่
    • การเจาะชิ้นเนื้อจากก้อนเต้านม (Core Needle Biopsy) การเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจโดยใช้เข็มที่มีขนาดใหญ่กว่าวิธีแรก และใช้คลื่นอัลตราซาวด์ช่วยบอกตำแหน่งของเข็ม
    • การตัดชิ้นเนื้อด้วยวิธีสูญญากาศ (Vacuum-Assisted Biopsy) การใช้เครื่องมือตัดชิ้นเนื้อที่มีเครื่องสูญญากาศเป็นตัวช่วย โดยเปิดแผลเล็กๆ และใส่เครื่องมือลงไปเก็บชิ้นเนื้อออกมา ซึ่งจะใช้คลื่นอัลตราซาวด์ช่วยบอกตำแหน่ง
    • การเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจด้วยวิธี Stereotactic Biopsy การทำแมมโมแกรมเพื่อถ่ายภาพเต้านมจากมุมต่างๆ กัน และใช้เข็มเจาะเก็บชิ้นเนื้อออกมา
    • การเก็บชิ้นเนื้อด้วยการผ่าตัด ที่เรียกว่า “Excisional Biopsy” การผ่าเอาก้อนในเต้านมร่วมกับเนื้อเยื่อข้างเคียงออกไปตรวจ
    • การเก็บชิ้นเนื้อด้วยการผ่าตัด ที่เรียกว่า Incisional Biopsy การผ่าเอาเฉพาะก้อนในเต้านมไปตรวจ

ระหว่างรอผลตรวจ หลายคนอาจมีอาการเครียดกับผลตรวจที่จะออกมา หากรู้สึกว่า มีความเครียดควรปรึกษาคนใกล้ชิดเพื่อขอคำแนะนำ หรือหากมีอาการเครียดมากอาจไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความเครียดได้

การรักษาก้อนที่เต้านม

แพทย์จะทำการประเมินหาสาเหตุของการเกิดก้อนที่เต้านมก่อน แล้วจึงวางแผนการรักษา เช่น ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อที่เต้านม แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เพื่อทำการรักษาให้กับคุณ

ในกรณีเป็นซีสต์ที่เต้านม แพทย์จะเจาะเพื่อดูดเอาของเหลวออก ซึ่งซีสต์มักยุบลงเมื่อระบายเอาของเหลวออกไปแล้ว แต่ถ้าก้อนเต้านมที่ตรวจพบเป็นมะเร็งเต้านม การรักษาจะแตกต่างออกไป ได้แก่

  • การผ่าตัดเอาเนื้องอกเต้านมออก (Lumpectomy)
  • การผ่าตัดเอาเต้านมออก (Mastectomy)
  • การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
  • การใช้รังสีรักษา (Radiation)

ในกรณีของการรักษาโรคมะเร็งเต้านม การรักษาแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ชนิดของมะเร็งเต้านม ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอกมะเร็ง และขึ้นกับว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปนอกเต้านมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรสรุปเองว่า ก้อนที่พบที่เต้านมนั้นเป็นอันตรายหรือไม่อันตราย ให้ไปพบแพทย์เมื่อคลำพบก้อนที่เต้านม เพื่อตรวจวินิจฉัยและพิจารณาให้การรักษาอย่างเหมาะสมจะดีที่สุด


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top