เฟื่องฟ้า Bougainvillea

เฟื่องฟ้า (Bougainvillea)

เฟื่องฟ้า หรือดอกกระดาษ เป็นต้นไม้ประดับมงคล ที่พบเห็นได้ทั่วไป ด้วยสีสันสะดุดตา ลักษณะดอกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และทนสภาพแห้งแล้งได้ดี ทำให้หลายคนนิยมนำมาปลูกไว้ในบ้าน ยิ่งไปกว่านั้นคนสมัยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกเฟื่องฟ้าไว้ ชีวิตก็จะรุ่งเรืองเฟื่องฟู คล้ายชื่อของต้นไม้

เฟื่องฟ้า ลักษณะเป็นอย่างไร?

เฟื่องฟ้า เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ชอบแดด ต้องการน้ำน้อย จัดเป็นไม้ยืนต้นกึ่งไม้เลื้อย มีขนาดตั้งแต่ต้นเล็กคล้ายบอนไซถึงต้นใหญ่

ลำต้นและกิ่งย่อยมีหนาม ลักษณะใบเดี่ยวรูปรีออกสลับกัน ดอกเป็นช่อ ใบประดับ 3 กลีบ มีหลายสี ตั้งแต่สีม่วง สีชมพู สีส้ม และสีขาว

ส่วนดอกมีสีขาวขนาดเล็ก อยู่กึ่งกลางใบประดับ

สารสำคัญในเฟื่องฟ้า

จากการศึกษาพบว่า พืชสกุล Bougainvillea หรือพืชวงศ์บานเย็นและเฟื่องฟ้านั้น มีสารพฤกษเคมีที่สำคัญหลายอย่าง (ไม่ระบุว่าพบสารสำคัญที่ส่วนใดของต้น) เช่น

  • สารประกอบฟีโนลิก (Phenolic compounds) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ
  • เทอร์พีน (Terpenes) สารสำคัญที่เป็นน้ำมันหอมระเหยจากพืช หรือเรียกอีกอย่างว่า น้ำมันโวลาไทล์ (Volatile Oil)
  • ไฟโตเทอรอล (Phytosterols) เป็นสารโครงสร้างคล้ายคอเลสเตอรอล มีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และลดการเกิดรคหัวใจและหลอดเลือดได้

นอกจากนี้ยังพบกรดไขมันและคาร์โบไฮเดรตในเฟื่องฟ้าอีกด้วย

เฟื่องฟ้าในตำรายาไทย

ตามตำรายาไทย ดอกเฟื่องฟ้ามีรสสุขุม มีสรรพคุณช่วยให้เลือดและลมไหลเวียนดีขึ้น บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ โดยนำดอกไปตาแห้งแล้วนำมาบดกิน ครั้งละประมาณ 10 กรัมผสมน้ำต้มสุก หรือรับประทานร่วมกับยาหอมตำรับอื่นก็ได้เช่นกัน

งานวิจัยเกี่ยวกับ เฟื่องฟ้า

จากงานวิจัยในประเทศแม็กซิโก มีการนำใบประดับของดอกเฟื่องฟ้ามาสกัดสารออกฤทธิ์โดยใช้เอทานอล (Ethanol) พบว่าสามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ใช้เป็นยาทั้งภายในและภายนอกได้

นอกจากนี้งานวิจัยอีกฉบับยังรายงานอีกว่า สารสกัดจากดอกและใบเฟื่องฟ้า เมื่อทดสอบการให้ยาโดยการรับประทานกับหนูทดลอง มีคุณสมบัติต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยลดการเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย และช่วยลดอาการบวม

คาดว่าในอนาคตน่าจะมีการพัฒนายาจากดอกเฟื่องฟ้า เพื่อใช้รักษาในคนต่อไป

สารสกัดในดอกเฟื่องฟ้า มีสารไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) กลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซาปินอยด์ (Saponins) และ ไตรเตอพีน (Triterpenes) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

งานวิจัยจากประเทศจีนพบว่า สารสกัดจากใบดอกเฟื่องฟ้ามีสารควิโนน (Quinones) ซาโปนิน (Saponins) ไกลโคไซด์ (Glycoside) แทนนิน (Tannins) ช่วยต้านเชื้อโรค มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งแกรมบวกและแกรมลบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร

ส่วนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า สารบางชนิดในใบเฟื่องฟ้า เช่น ซาโปนิน (Saponins) และอัลคาลอยด์ (Alkaloids) มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างตัวอสุจิ ทำให้อสุจิเคลื่อนไหวช้าลง นอกจากนี้ยังช่วยลดฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) และฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเทอโรน) จึงช่วยควบคุมภาวะการเจริญพันธุ์ หรือป้องกันการมีบุตรได้

ข้อควรระวังในการใช้เฟื่องฟ้า

แม้ว่าจะค้นพบสารที่เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆได้ แต่เป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น ยังไม่มีรายงานวิจัยรองรับเกี่ยวกับการใช้รักษาในคน เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย หากต้องการใช้ดอกเฟื่องฟ้าควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง


เขียนบทความโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD

Scroll to Top