atrophic scars treatments options disease definition scaled

หน้าเป็นหลุมสิว ผิวหน้าพระจันทร์ อยากรักษาให้หายขาด ต้องรู้วิธี

หลุมสิวเป็นอีกปัญหาผิวกวนใจที่มักเกิดตามมาหลังจากการเป็นสิว โดยเฉพาะคนที่สิวขึ้นเห่อ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หากรักษาไม่ถูกวิธี อาจทำให้ผิวเสียหาย เป็นหลุม ไม่เรียบเนียน จนแก้ได้ยาก ไปดูกันหลุมสิวเกิดได้ยังไง วิธีรักษาหลุมสิวแบบไหนเหมาะกับใคร ให้ผลลัพธ์อย่างไร

หลุมสิว (Atrophic scars) คืออะไร 

หลุมสิวเป็นรอยแผลเป็นจากสิวที่เกิดจากกระบวนการสมานแผลหรือฟื้นฟูผิวหนังของร่างกายไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ผิวหนังยุบตัวลงต่ำกว่าผิวรอบข้าง ทำให้ผิวไม่เรียบเนียน เกิดเป็นร่องหรือหลุมได้อย่างชัดเจน

ทำไมเป็นสิวแล้วถึงเกิดหลุมสิวได้

ปกติหลังจากหายเป็นสิว ร่างกายจะมีกระบวนการซ่อมแซมผิวตามธรรมชาติจากรอยแผลหรือการอักเสบของผิว ชั้นผิวจะสร้างคอลลาเจนขึ้นเติมเต็มในส่วนที่ถูกทำลายไป หากกระบวนการสมานแผลชั้นนอกเป็นไปอย่างสมบูรณ์ จะไม่เกิดรอยแผลเป็นจากสิวขึ้น 

ในทางกลับกัน หากกระบวนการสมานแผลชั้นนอกไม่สมบูรณ์ ทำให้สร้างคอลลาเจนในชั้นผิวได้ไม่เพียงพอ หรือมีการอักเสบของสิวอย่างรุนแรงจนเกิดพังผืดระหว่างชั้นผิว ทำให้ผิวหนังยุบลงจนไป เห็นเป็นหลุมลึกขนาดใหญ่ หรือหลุมสิวขึ้นนั่นเอง 

ประเภทของหลุมสิว 

หลุมสิวแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ตามลักษณะการยุบตัวของผิวหนัง ได้แก่

  • หลุมสิวแบบ Rolling scar เป็นหลุมสิวแบบตื้น ปากหลุมสิวกว้างเหมือนแอ่งกระทะ มองแล้วผิวจะดูขรุขระเหมือนคลื่น มักเกิดจากพฤติกรรมการแกะหรือเกาผิวหน้า เป็นหลุมสิวที่รักษาได้ง่ายที่สุดในบรรดาหลุมสิวทั้งหมด
  • หลุมสิวแบบ Boxcar scar เป็นหลุมสิวที่มีฐานกว้าง ขอบค่อนข้างตรงและลึกคล้ายรูปกล่อง แต่ยังไม่ลึกถึงชั้นผิวหนังแท้ (ชั้นรูขุมขน) ปากหลุมและก้นหลุมมักเท่ากัน มักเกิดจากสิวอักเสบ หรือแผลจากโรคบางโรค อย่างโรคอีสุกอีใส 
  • หลุมสิวแบบ Ice pick scar เป็นหลุมสิวขนาดเล็ก ปากแคบและก้นหลุมลึกถึงชั้นหนังแท้คล้ายรูปกรวย ขอบหลุมสิวไม่เรียบ มักเกิดจากการบีบหรือกดสิวอุดตัน ถือเป็นหลุมสิวที่รักษายากและใช้เวลานานที่สุด

รักษาหลุมสิว เลือกรักษาวิธีไหนดี 

ใครกำลังมองหาวิธีการรักษาหลุมสิวที่ให้ผลดีมากที่สุดนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า การรักษาหลุมสิวมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับประเภทของหลุมสิว ความลึกของหลุมสิว รวมถึงการเลือกวิธีรักษาให้เหมาะกับหลุมสิวนั้นด้วย 

การรักษาหลุมสิวด้วยตัวเอง

การรักษาหลุมสิวด้วยตัวเองจะเป็นการใช้ยาทาหรือครีมรักษาหลุมสิว เช่น ยากลุ่มเรตินอล (Retinoids) กรดวิตามินเอหรืออนุพันธ์อื่นของวิตามินเอ ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนอ่อน ๆ ก็อาจพอช่วยให้หลุมสิวชนิดตื้นดีขึ้น แต่มักใช้เวลานาน และหากใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้ผิวระคายเคือง

การรักษาหลุมสิวโดยแพทย์

หากหลุมสิวมีความรุนแรงมาก หรือต้องการหายไวขึ้น การรักษากับแพทย์ผิวหนังจะช่วยแก้ไขปัญหาหลุมสิวได้ตรงจุด เนื่องจากหลุมสิวรักษาได้ยากกว่าการเป็นสิว ส่วนมากต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน และรักษาต่อเนื่องหลายครั้ง

วิธีรักษาหลุมสิวที่นิยมทำ เช่น 

การรักษาหลุมสิวด้วยการลอกผิวด้วยสารเคมี (Chemical peels) 

การลอกผิวหรือผลัดเซลล์ผิวเป็นการใช้สารเคมีทาบนผิวทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อเร่งการผลัดเซลล์ผิวส่วนบนออกไป เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) และกรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic acid: TCA) 

โดยชนิดและความเข้มข้นของสารเคมีที่ใช้ผลัดเซลล์ผิวมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับตื้นไปจนถึงระดับลึก (CROSS technique) ซึ่งช่วยรักษาหลุมสิวแบบ Ice pick ได้ จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

การเลเซอร์หลุมสิว (Laser) 

เป็นการใช้เลเซอร์กระตุ้นให้เซลล์ผิวชั้นหนังแท้ซ่อมแซมตัวเอง และสร้างคอลลาเจนใหม่ขึ้น โดยไม่ทำลายผิวบริเวณอื่น แต่ต้องทำโดยแพทย์เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผิวเกิดรอยดำ และต้องทำต่อเนื่องหลายครั้ง 

เลเซอร์หลุมสิวสามารถใช้รักษาหลุมสิวได้ทุกแบบ เพราะมีอยู่หลายชนิด ทั้งชนิดทำให้เกิดแผล และไม่เกิดแผล เช่น Fractional Laser, Fractional Co2 Laser, Pico Laser และ E-matrix 

การรักษาหลุมสิวด้วยคลื่นวิทยุ (Fractional radio-frequency)

หลักการคล้ายกับรักษาหลุมสิวด้วยเลเซอร์ แต่คลื่นวิทยุความถี่สูงจะลงได้ลึกกว่าเลเซอร์ สามารถรักษาหลุมสิวได้ทุกแบบ และอาจช่วยลดขนาดรูขุมขน แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของหลุมสิว 

การเย็บหลุมสิว (Punch excision) 

เป็นการผ่าตัดหลุมสิวออกแล้วเย็บปิดหลุมสิวด้วยไหมขนาดเล็ก แผลหายไวภายใน 1 สัปดาห์หลังตัดไหม เหมาะกับหลุมสิวขนาดเล็กและลึกแบบ Boxcar และ Ice pick

การตัดพังผืดหลุมสิว (Subcision) 

เป็นการใช้เข็มตัดเลาะพังผืดที่ดึงรั้งหลุมสิว มักจะใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การฉีดฟีลเลอร์หรือการเลเซอร์ใต้ผิวบริเวณที่ตัดพังผืดไปแล้ว เหมาะกับหลุมสิวแบบ Rolling และ Boxcar รวมถึงแผลเป็นที่ลึกและมีขอบชัด

การฉีดสารเติมเต็มหลุมสิว (Fillers injection) 

เป็นการฉีดฟีลเลอร์เข้าไปบริเวณหลุมสิว เพื่อเติมเต็มหลุมสิวให้ดูตื้นขึ้น ส่วนมากจะเป็นสารกลุ่มไฮยาลูรอนิก แอซิด (Hyaluronic acid) เหมาะกับการรักษาหลุมสิวชนิดตื้นถึงลึกปานกลาง และสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทันทีหลังฉีด

หลุมสิวเป็นปัญหาผิวที่รักษาได้ยาก ใช้เวลารักษานาน การรักษาสิวตั้งแต่เริ่มต้นเป็นวิธีป้องกันและลดการเกิดหลุมสิวได้ดีที่สุด เพราะการอักเสบจากสิวที่เป็นนานเป็นตัวการที่นำไปสู่การเกิดหลุมสิวท้ายที่สุด 

รักษาเองไม่เห็นผล หลุมสิวไม่หายสักที ปรึกษาแพทย์สิ ลองดู แพ็กเกจรักษาหลุมสิว ลดรอยสิว จาก HDmall.co.th จองรับราคาพิเศษก่อนใช้ สะดวกคลินิกหรือโรงพยาบาลไหน เลือกได้เลย

Scroll to Top