varicose veins other parts disease definition

เส้นเลือดขอด ไม่ได้มีแค่ที่ขา เป็นที่ไหนได้บ้าง อันตรายไหม?

เมื่อพูดถึงเส้นเลือดขอด คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเส้นเลือดที่ปูด บวม บิดเบี้ยว บริเวณขา แต่ความจริงแล้วเส้นเลือดขอดสามารถเกิดได้ในบริเวณอื่นๆ ของร่างกายด้วย ทั้งอวัยวะภายนอกและภายใน 

บทความนี้จะพาไปรู้จักเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่น ได้แก่ เส้นเลือดขอดบริเวณอัณฑะ เส้นเลือดขอดบริเวณข้อเท้า เส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร และ เส้นเลือดขอดในกระเพาะ ความอันตรายของเส้นเลือดขอดที่บริเวณเหล่านี้ อาการ รวมถึงแนวทางการรักษา

เส้นเลือดขอด คืออะไร?

เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) คือ ภาวะที่เส้นเลือดดำโป่ง บวม คด มีสาเหตุมาจากลิ้นเปิดปิดภายในเส้นเลือดเสื่อม ทำให้การไหลเวียนของเลือดเปลี่ยนไป แทนที่จะไหลกลับเข้าสู่หัวใจทิศทางเดียว 

ความเสื่อมของลิ้นเปิดปิดดังกล่าวนี้อาจมาจากอายุที่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย หรือพฤติกรรมที่ส่งผลต่อแรงดันภายในเส้นเลือด

บริเวณที่พบเส้นเลือดขอดบ่อยที่สุดคือ ขา แต่ก็สามารถพบบริเวณอื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อัณฑะ ข้อเท้า แม้กระทั่งอวัยวะภายใน เช่น หลอดอาหาร กระเพาะ

หลอดเลือดอัณฑะขอด

หลอดเลือดอัณฑะขอด (Varicocele) เกิดที่หลอดเลือดดำซึ่งอยู่ในถุงอัณฑะ ภาวะนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต สามารถพบได้ใน 15% ของผู้ชายทั่วโลก

หลอดเลือดอัณฑะขอดโดยมากจะไม่แสดงอาการใดๆ จนกระทั่งเริ่มเป็นมากแล้ว จึงเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น ขนาดและรูปร่างของอัณฑะจะเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงผิดปกติ ขนาดอัณฑะ 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือคลำพบสิ่งผิดปกติลักษณะคล้ายๆ ตัวหนอนบริเวณถุงอันฑะ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตุบๆ ไม่รุนแรง แต่เป็นอยู่ตลอดทั้งวัน ที่อัณฑะข้างที่มีเส้นเลือดขอด

ภาวะเส้นเลือดอัณฑะขอด มีผลให้การสร้างสเปิร์มหรือฮอร์โมนผิดปกติ จึงทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมาได้

ถ้าสงสัยว่าอาจเป็นเส้นเลือดอัณฑะขอด สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ในสถานพยาบาลได้ วิธีตรวจเส้นเลือดอัณฑะขอด โดยทั่วไปไม่ซับซ้อน แพทย์สามารถตรวจพบได้จากการสังเกตภายนอก หรืออาจขอให้ผู้ป่วยเบ่งให้เกิดความดันในช่องท้อง แล้วทำการคลำตรวจ

การรักษาเส้นเลือดอัณฑะขอด มักรักษาตามอาการ เช่น ถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการปวด แพทย์อาจให้ยาระงับอาการปวดไปรับประทานร่วมกับติดตามผลการรักษา เมื่ออาการดีขึ้นแล้วอาจให้หยุดยาได้ หรืออาจรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคที่ได้ผลดีและไม่บอบช้ำมาก คือ ผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อนำเส้นเลือดขอดออกไป 

วิธีนี้ลดอาการเจ็บปวดลงได้ 50-80% หรือถ้าผู้ป่วยมาด้วยภาวะมีบุตรยาก แพทย์อาจให้ผ่าตัดนำเส้นเลือดขอดออกเพื่อให้การสร้างสเปิร์มกลับมาเป็นปกติ แต่จะต้องรอหลังผ่าตัดประมาณ 6 เดือนจึงจะรู้ว่าการผ่าตัดได้ผลหรือไม่

เส้นเลือดขอดบริเวณข้อเท้า

ข้อเท้า เป็นอีกบริเวณที่พบเส้นเลือดขอดได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้เป็นโรคอ้วน เส้นเลือดขอดที่ข้อเท้าสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นเส้นเลือดหลายๆ เส้นลักษณะคล้ายใยแมงมุมหรือพัด ที่ผิวหนังส่วนตื้น โดยทั่วไปมักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือก่ออันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ 

อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตเห็นว่าเส้นเลือดขอดที่ข้อเท้าโป่งพองมากกว่าปกติ มีลักษณะนิ่มลง อุ่น หรือมีสีแดงสดกว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งค่อนข้างอันตราย ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด

เส้นเลือดขอดบริเวณข้อเท้า รักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์หรือคลื่นความถี่วิทยุเข้าไปยังตำแหน่งเส้นเลือดขอด หรือฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด (นำฉีดยาอย่างแม่นยำด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์) หรือถ้าเป็นไม่มาก แพทย์อาจให้สวมถุงน่องรัดเส้นเลือดขอด เพื่อให้เลือดบริเวณนั้นไหลเวียนได้ดีขึ้น

เส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร

เส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร (Gastric Varices) เกิดได้ที่บริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร พบได้ใน 50% ของผู้ป่วยโรคตับแข็ง

เส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร มักเกิดจากทางเดินเลือดในตับถูกอุดกั้น ซึ่งอาจมาจากเนื้อเยื่อแผลเป็น หรือลิ่มเลือดอุดตัน 

เมื่อเลือดไม่สามารถไหลผ่านเส้นเลือดหลักได้ตามปกติ ก็จะพยายามไปใช้เส้นเลือดเล็กๆ ข้างเคียง แต่เนื่องจากเส้นเลือดที่ไม่ใช้เส้นหลักมีขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับแรงดันเลือดที่มีมากได้ ทำให้เกิดอาการบวมหรือเส้นเลือดขอดขึ้น

ถ้าภาวะเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหารถูกพบก่อนเส้นเลือดจะแตก ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดขอดบริเวณหลอดอาหาร หรือเส้นเลือดขอดที่กระเพาะอาหาร แพทย์สามารถทำการรักษาได้โดยอาจให้ยาลดความดันเลือดแก่ผู้ป่วย หรือฉีดกาวทางการแพทย์เข้าไปในเส้นเลือดที่ขอด

จากสถิติข้างต้น จะเห็นว่าโรคตับแข็งเป็นสาเหตุหลักของภาวะเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร ฉะนั้นผู้ป่วยโรคตับแข็งควรเข้ารับการตรวจเส้นเลือดอย่างสม่ำเสมอ

กรณีที่มีเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหารและไม่ได้รับการตรวจรักษา เมื่อแรงดันเพิ่มขึ้นเกินกว่าเส้นเลือดเล็กๆ จะรับไหว เส้นเลือดดังกล่าวอาจแตกออกในที่สุด

โดยทั่วไป เส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร มักไม่แสดงอาการ จะพบความผิดปกติก็ต่อเมื่อเส้นเลือดนั้นแตกแล้ว อาการได้แก่

  • หัวใจเต้นเร็วในขณะที่ความดันต่ำ
  • รู้สึกลอยๆ อ่อนแรง
  • อุจจาระมีเลือดสีดำออกมาปริมาณมาก หรืออุจจาระมีลักษณะเหนียว มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • อาเจียนเป็นเลือด

อาการเหล่านี้เป็นภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องนำส่งแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว วิธีรักษาได้แก่ ฉีดกาวทางการแพทย์เข้าไปอุดจุดที่เลือดออก หรือผ่าตัดปรับแต่งทางไหลเวียนเลือด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะเส้นเลือดแตก รวมถึงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน

เส้นเลือดขอดไม่ได้มีแค่ที่ขา ยังพบที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย ซึ่งตำแหน่งที่เกิดเส้นเลือดขอดแต่ละตำแหน่งก็มีอันตรายต่างกัน เช่น เส้นเลือดขอดที่อัณฑะ อาจส่งผลให้มีบุตรยาก หรือ เส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร อาจเกิดเลือดออกในอวัยวะภายใน เป็นอันตรายถึงชีวิต

ถ้าคิดว่าตัวเองอาจมีภาวะเส้นเลือดขอดในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดออกที่เห็นได้ง่ายๆ ที่ขา แล้วอยากรักษาให้เส้นเลือดขอดหายไป หรือมีอาการแปลกๆ น่าสงสัยว่าอาจมีเส้นเลือดขอดในอวัยวะภายใน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นคุยกับหมอหรือเข้าไปรักษาอย่างไรดี

ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top