ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด ฯลฯ ถ้ามีอาการเหล่านี้อย่านิ่งนอนใจ คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ร้ายแรง เพราะอาจเป็นสัญญาณเสี่ยงของความผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ได้ โดยโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง สาเหตุ อาการ เป็นอย่างไร บทความนี้จะมาเล่าให้ฟัง
สารบัญ
1. โรคลำไส้อักเสบ
โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) คือ ภาวะอักเสบที่เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ มักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ การบาดเจ็บ หรือความผิดปกติของภูมิต้านทานร่างกาย จนทำให้มีการอักเสบภายใน และนำไปสู่การเกิดแผลหรือภาวะเลือดออกที่ผนังลำไส้ จนทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา
สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบ
ปัจจัยของการเกิดโรคลำไส้อักเสบซึ่งพบได้บ่อย ได้แก่
- การกินอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค หรือไม่ถูกสุขอนามัยจนทำให้ลำไส้ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิตซึ่งไปทำลายผนังลำไส้ใหญ่
- การกินยาปฏิชีวนะบางชนิด
- การทำงานที่ผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกายจนทำให้ร่างกายติดเชื้อและเกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น
อาการของโรคลำไส้อักเสบ
- คลื่นไส้อาเจียน
- อ่อนเพลีย
- มีไข้ต่ำ
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย หรือในรายที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นถ่ายอุจจาระมีเลือดปน
- เบื่ออาหาร
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- เกิดภาวะขาดน้ำ ในกรณีที่ท้องเสียอย่างรุนแรงและขับถ่ายติดต่อกันจนร่างกายขาดสารน้ำ
2. โรคลำไส้ใหญ่แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) คือ ภาวะที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและลำไส้เล็กเกิดการบิดตัวที่ผิดปกติมากเกินไป จนทำให้เกิดอาการผิดปกติซึ่งมักเกิดแบบเรื้อรัง และเป็นๆ หายๆ
สาเหตุของโรคลำไส้ใหญ่แปรปรวน
ปัจจุบันการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยร่วมหลายประการที่สามารถกระตุ้นทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเป็นโรคลำไส้แปรปรวน มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
- ภาวะความเครียด หรือภาวะวิตกกังวล
- ความรู้สึกที่ไวต่ออาหารบางชนิด เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ยาบางชนิด
- ความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้
อาการของโรคลำไส้แปรปรวน
อาการบ่งชี้ที่เด่นชัดของโรคลำไส้แปรปรวน ได้แก่
- เรอบ่อย
- ผายลมบ่อย
- ท้องอืด แน่นท้อง
- ปวดท้องบ่อย โดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนล่าง
- ท้องเสียสลับกับท้องผูก
- กิจวัตรการขับถ่ายเปลี่ยนไป อาจอุจจาระบ่อยขึ้น หรืออุจจาระน้อยลงจนคล้ายอาการท้องผูก
- ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไป ผู้ที่เคยถ่ายเป็นก้อนอาจมีอาการถ่ายเหลวอย่างผิดสังเกต หรือบางรายอาจถ่ายเป็นก้อนแข็งขึ้นจนเบ่งอุจจาระได้ยาก และคล้ายกับอาการท้องผูก
3. ภาวะลำไส้อุดตัน
ภาวะลำไส้อุดตัน (Gut Obstruction) คือ ภาวะที่ลำไส้เกิดการอุดตันหรือไม่สามารถบีบตัวให้อาหาร ของเหลว รวมถึงอุจจาระเคลื่อนผ่านไปได้อย่างปกติ และส่งผลทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมา เช่น ท้องผูก แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ไม่สบายตัว เป็นต้น
สาเหตุของภาวะลำไส้อุดตัน
ภาวะลำไส้อุดตันเกิดขึ้นได้ทั้งที่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ และมีสาเหตุที่ทำให้เกิดได้จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย เช่น
- การมีเนื้องอกหรือก้อนมะเร็งที่ลำไส้
- การมีอุจจาระตกค้าง
- ภาวะไส้เลื่อน
- การเกิดพังผืดในลำไส้ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากประวัติเคยผ่าตัดรักษาที่บริเวณช่องท้องหรือลำไส้มาก่อน
- โรคลำไส้อักเสบ
- ภาวะไส้ติ่งอักเสบ
- ความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
อาการของภาวะลำไส้ใหญ่อุดตัน
- ปวดท้องอย่างรุนแรงและมักเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะบริเวณซี่โครงหรือสะดือ
- ไม่ผายลม
- ไม่ถ่ายอุจจาระ มีอาการท้องผูก
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องอืด แน่นท้อง
- อุจจาระมีลักษณะลีบหรือเล็ก
- ในบางรายอาจมีเลือดออกทางทวารหนัก
ไม่ผายลม ไม่ถ่ายอุจจาระ มีอาการคล้ายท้องผูก หรือมีอาการท้องเสียบ่อยผิดปกติ ปวดท้อง รู้สึกอาหารไม่ย่อย อยากรู้ว่าเกิดจากอะไร ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดปรึกษาคุณหมอได้เลย
4. ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ (Colon Polyps) คือ ก้อนเนื้อที่ยื่นออกมาจากผนังลำไส้ใหญ่ อาจมีขนาดเล็กไม่ถึง 1 นิ้ว หรือมีขนาดใหญ่หลายนิ้วได้ จัดเป็นความผิดปกติที่ตรวจพบได้บ่อย และยังสามารถเกิดได้หลายตำแหน่งในอวัยวะของระบบทางเดินอาหาร แต่อวัยวะที่พบได้บ่อยที่สุดมักจะเป็นลำไส้ใหญ่
ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
- เนื้องอก Hyperplastic เป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่เสี่ยงลุกลามกลายเป็นก้อนมะเร็ง
- เนื้องอก Adenoma เป็นเนื้องอกชนิดที่มีความเสี่ยงจะเจริญไปเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ตรวจพบเนื้องอกชนิดนี้บางรายก็ไม่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เสมอไป
สาเหตุของติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ แต่เชื่อว่า ติ่งเนื้องอกมีโอกาสเกิดมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ได้
- พฤติกรรมกินอาหารที่มีไขมันสูง
- พฤติกรรมอาหารที่มีกากใยน้อย
- พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยตรวจพบติ่งเนื้อหรือเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีโอกาสจะตรวจพบติ่งเนื้อได้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป
อาการเมื่อมีติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
โดยส่วนมากผู้ที่มีติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่มักไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติ แต่ในบางรายที่ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่มาก ๆ ก็อาจมีอาการแสดงเป็นถ่ายอุจจาระปนเลือดได้
5. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ภายในลำไส้ใหญ่ที่เกิดการแบ่งตัวผิดปกติ และเจริญเติบโตแพร่กระจายกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ทำให้เกิดอาการผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายตามมา
สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันยังระบุไม่ได้แน่ชัดว่า ปัจจัยใดที่ทำให้เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ในลำไส้ใหญ่ แต่ก็มีความเชื่อว่า ปัจจัยร่วมดังต่อไปนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น กินอาหารที่มีกากใยน้อย กินอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไป กินอาหารแปรรูปบ่อย
- พฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย
- ภาวะอ้วน
- พฤติกรรมสูบบุหรี่
- ประวัติเคยตรวจพบติ่งเนื้อที่ลำไส้ใหญ่
- อายุที่มากขึ้น โดยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะพบได้บ่อยกว่าในผู้สูงอายุ
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่ผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน มีโอกาสที่จะพบโรคนี้ได้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ท้องเสีย
- ท้องผูก
- ปวดแสบร้อนที่ท้อง
- ปวดท้องนานอย่างผิดสังเกต
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- อ่อนเพลียง่ายขึ้น
- น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- ถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือมีสีคล้ำมากคล้ายกับมีเลือดปน
6. ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Bleeding) คือ ภาวะการเกิดเลือดออกในอวัยวะของระบบทางเดินอาหาร โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่บริเวณหลอดอาหารไปจนถึงลำไส้เล็ก สามารถแบ่งออกได้ 2 ตำแหน่งหลักๆ ได้แก่
- ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก
- ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง ได้แก่ ลำไส้เล็กส่วนล่าง ลำไส้ใหญ่ รวมถึงทวารหนัก
สาเหตุของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารมักจะมีสาเหตุแตกต่างไปตามตำแหน่งที่เกิดภาวะเลือดออก ดังนี้
- ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน มักเกิดได้จาก
- การมีแผลในกระเพาะอาหาร
- การมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป
- การติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหาร
- โรคกรดไหลย้อน
- พฤติกรรมบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จนเยื่อบุหลอดอาหารฉีกขาด
- เนื้องอกหรือก้อนมะเร็งในกระเพาะอาหาร
- ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง มักเกิดได้จาก
-
- โรคริดสีดวงทวาร
- โรคถุงหนังลำไส้อักเสบ
- โรคลำไส้อักเสบ
- โรคเส้นเลือดทวารหนักโป่งพอง
- การมีแผลในลำไส้
- เนื้องอกหรือก้อนมะเร็งในลำไส้
อาการของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
อาการที่พบได้จากภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารจะแตกต่างไปตามตำแหน่งที่เกิดภาวะเลือดออกด้วยเช่นกัน
- ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน มักทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- อ่อนเพลียง่าย
- เบื่ออาหาร
- อาเจียนเป็นเลือด หรือเป็นสีดำ
- ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่
- อุจจาระเป็นสีเข้มหรือสีดำ
- ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง มักทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้องบริเวณใต้สะดือ
- อุจจาระเหลว
- อุจจาระมีเลือดปน หรือเป็นสีดำปนแดง
ไม่ว่าจะเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใดก็ตาม หากไม่รีบรักษาผู้ป่วยอาจเกิดภาวะเสียเลือดมากเกินไป จนหมดสติหรือเกิดภาวะช็อก เป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้
จะเห็นได้ว่า โรคที่พบได้บ่อยในลำไส้ใหญ่เกือบทั้งหมด สาเหตุสำคัญมักมาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การปรับพฤติกรรม กินอาหารที่มีกากใย หมั่นกินผัก ผลไม้ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลงได้
นอกจากนี้สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป ก็คือหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติที่อาจเกิดที่ลำไส้ไปด้วย หากเมื่อใดที่พบอาการปวดท้อง ท้องผูกสลับท้องเสียอย่างผิดสังเกต อุจจาระมีสีเข้มคล้ายมีเลือดปน หรือพบเลือดปนมากับอุจจาระ ไม่ควรนิ่งนอนใจ แนะนำให้พบแพทย์โดยทันที
ทั้งนี้หากแพทย์ตรวจพบสัญญาณเสี่ยงของโรค อาจแนะนำให้ ส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยต่อไป
อุจจาระสีเข้ม อุจจาระมีเลือดปน หรือจู่ๆ ก็ท้องผูกกับท้องเสียสลับกัน รู้สึกไม่สบายใจ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองส่องกล้องทางเดินอาหาร จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย