pv woman screening process

ตรวจภายใน ตรวจโรคอะไรได้บ้าง เริ่มตรวจอายุเท่าไหร่ ราคา

ตรวจภายใน เป็นหนึ่งในการตรวจเฉพาะทางสำหรับผู้หญิง เพื่อตรวจสุขภาพระบบสืบพันธุ์และวินิจฉัยโรค เช่น โรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศหญิง โรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ ยิ่งตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษาทำได้อย่างรวดเร็ว และมีโอกาสหายขาดได้

ตรวจภายใน ตรวจโรคอะไรได้บ้าง?

การตรวจภายใน สามารถใช้ช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคได้หลากหลาย ต่อไปนี้

  • โรคมะเร็งปากมดลูก ตรวจพบด้วยการทำแปปสเมียร์ (Pap Smear) เพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก
  • โรคมะเร็งรังไข่ สัญญาณอย่างหนึ่งของโรคนี้ซึ่งพบได้จากการตรวจภายใน คือการคลำพบก้อน หรือรังไข่มีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยตรวจครั้งก่อน
  • หนองใน แพทย์จะตรวจดูความผิดปกติของสารน้ำจากช่องคลอด แล้วส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการ ผลตรวจจะทำให้ทราบตัวเชื้อที่แน่ชัด ทำให้วินิจฉัยได้ว่าเป็นหนองในแท้หรือหนองในเทียม
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์จากอาการตกขาวผิดปกติหรือเจ็บปวดบริเวณท้องน้อย การตรวจภายในร่วมกับเก็บตัวอย่างสารน้ำจากช่องคลอดไปตรวจในห้องปฏิบัติการจะช่วยวินิจฉัยโรคนี้อย่างแม่นยำขึ้น หรือแพทย์อาจให้ตรวจวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น ทำ MRI ทำ CT Scan

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยแยกโรคทางเหล่านี้อย่างแม่นยำอาจต้องใช้วิธีอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ใช่อาศัยเฉพาะตรวจภายในอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา

ควรเริ่มตรวจภายในเมื่ออายุเท่าไหร่?

โดยทั่วไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในเป็นประจำทุกปี อาจตรวจเนื่องจากสังเกตพบความผิดปกติ แล้วแพทย์แนะนำให้ตรวจ อย่างไรก็ตาม บางโรคอาจไม่แสดงอาการเด่นชัดนัก หรือบางคนอาจมีอาการผิดปกติแต่ไม่รู้ตัว ดังนั้นการรวมการตรวจภายในเข้ามาในการตรวจสุขภาพประจำปี จึงอาจมีประโยชน์

โดยสามารถเริ่มตรวจภายในตั้งแต่อายุ 25 ปี เป็นต้นไป หรือถ้ามีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 25 ปีอาจเริ่มตรวจภายในเร็วขึ้น ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์

ขั้นตอนการตรวจภายในเป็นอย่างไร

ก่อนตรวจภายใน พยาบาลมักให้ผู้รับการตรวจเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย โดยอาจให้เปลี่ยนเป็นผ้าถุงหรือกางเกงที่มีช่องเปิดบริเวณหว่างขา โดยไม่มีการโกนขน แล้วจึงให้มานอนบนเตียงที่มีขาหยั่ง

พยาบาลอาจช่วยจัดท่าให้เหมาะสำหรับการตรวจ เช่น ให้ขยับตัวลงมาให้ถึงขอบล่างของเตียง หรือให้วางแขนสบายๆ ข้างลำตัว 

จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจภายใน โดยอาจตรวจสอบลักษณะผิวหนัง หารอยโรคภายนอกช่องคลอดก่อน คลำตรวจภายในช่องคลอด หรือใช้เครื่องมือปากเป็ดสอดเข้าในช่องคลอดผู้รับการตรวจเพื่อถ่างขยายดูอวัยวะอื่นๆ ภายใน ร่วมกับมีการใช้อุปกรณ์เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งในช่องคลอดออกมาทดสอบต่อในห้องปฏิบัติการ

การตรวจภายในมักใช้เวลาไม่นาน ระยะเวลาที่ต้องอยู่บนขาหยั่งประมาณ 10-15 นาที

เตรียมตัวตรวจภายในอย่างไร?

การตรวจภายใน ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ถ้ามีความผิดปกติอย่างปวดท้องน้อย มีตกขาวผิดปกติ เลือดออกทางช่องคลอด หรืออาการอื่นใดที่แพทย์พิจารณาว่าควรตรวจภายใน ก็มักรับการตรวจได้เลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการตรวจภายในที่รวมอยู่ในการตรวจสุขภาพประจำปี ผู้รับการตรวจอาจเลือกวันที่อยู่ในช่วงไม่มีประจำเดือน หรืออาจปัสสาวะก่อนตรวจ เพื่อให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้นขณะตรวจภายใน

ถ้ามีข้อสงสัยต้องการปรึกษาแพทย์ อาจจดบันทึกรายการสิ่งที่ต้องการถามไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ถามแพทย์ได้อย่างครบถ้วนในวันรับการตรวจ

ตรวจภายใน เจ็บไหม

การตรวจภายในอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หรืออาจทำให้เจ็บเล็กน้อย ถ้าผู้รับการตรวจเกร็งตัวระหว่างถูกสอดเครื่องมือทางการแพทย์ใดๆ เข้าสู่ช่องคลอด แต่โดยทั่วไปการตรวจภายในมักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด

แพทย์จะเลือกใช้เครื่องมือที่มีขนาดขนาดเหมาะสมกับสรีระของผู้หญิงแต่ละคน รวมถึงอาจใช้เจลหล่อลื่นเพื่อช่วยให้สอดเครื่องมือตรวจต่างๆ เข้าสู่ช่องคลอดได้ง่าย

ตรวจภายใน ราคาเท่าไหร่?

การตรวจภายในทั่วไป ที่ไม่รวมกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก จะเริ่มต้นที่ประมาณ 900 บาทขึ้นไป แต่หากรวมกับการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย อาจเริ่มต้นที่ 2,300 บาทเป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาล

ตรวจภายใน ใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม?

กรณีที่มีความความผิดปกติทางนรีเวช เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด ตกขาวผิดปกติ ปวดท้องน้อย คันบริเวณอวัยวะเพศ ฯลฯ ต้องการปรึกษาแพทย์ แล้วแพทย์เห็นว่ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้ตรวจภายใน

ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อรับการตรวจได้ ณ สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษา หรือ ณ สถานพยาบาลเครือข่าย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ยังใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถเลือกได้ระหว่าง

  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก Pap Smear (ตรวจทุก 3 ปี) หรือ
  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก VIA (ตรวจทุก 5 ปี)

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการตรวจรักษาภาวะมีบุตรยาก จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้

ส่วนผู้ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมด้วยตนเอง การรักษาพยาบาลหรือตรวจสุขภาพจะไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่เรียกกันว่า บัตรทอง 30 บาท 

การใช้สิทธิประกันสังคมหรือ สปสช. ทำได้โดยเข้าไปยังสถานพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ์อยู่ แล้วเตรียมบัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่เพื่อแสดงสิทธิ์นั้นๆ

แม้ว่าการตรวจภายใน อาจดูเหมือนน่ากลัว เพราะมีการสอดเครื่องมือเข้าไปในร่างกาย แต่จริงๆ แล้วไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ฉะนั้นถ้าสังเกตพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ และแพทย์เห็นว่ามีข้อบ่งชี้ให้ตรวจภายใน ก็ควรตรวจตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อจะได้ทราบที่มาของความผิดปกตินั้น และจะได้ทำการรักษา

อยากเช็กให้ชัวร์ว่าวิธีตรวจทางนรีเวชนี้เหมาะกับอาการของเราใช่ไหม? จะมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top