ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ สามารถเกิดได้กับผู้ชายทุกวัย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุทางสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือผลข้างเคียงจากโรคประจำตัว ทำให้หลายคนรู้สึกสูญเสียความมั่นใจและกระทบต่อความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ การรักษาด้วยยาอาจไม่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว การผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียมจึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในระยะยาว
สารบัญ
การรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีอะไรบ้าง
- การใช้ยา: เช่น ไวอากร้า (Sildenafil) ซิอะลิส (Tadalafil) หรือเลวิตร้า (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังองคชาต ทำให้สามารถแข็งตัวได้เมื่อมีสิ่งเร้า อย่างไรก็ตาม การใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะอาจมีผลข้างเคียง
- การปรับฮอร์โมน: การใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบฉีด เจล หรือแผ่นแปะผิวหนัง การรักษานี้จะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศ แต่ก็ต้องติดตามระดับฮอร์โมนและผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดข้น ต่อมลูกหมากโต หรือโรคหัวใจ
- ใช้อุปกรณ์สุญญากาศ: เป็นเครื่องมือที่ช่วยดึงเลือดเข้าสู่องคชาต โดยการสร้างแรงดันลบ เมื่อเลือดไหลเข้าไปจนองคชาตแข็งตัวแล้ว จะใช้ห่วงรัดโคนองคชาตเพื่อคงการแข็งตัวไว้ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ วิธีนี้ไม่ใช้ยาและไม่ต้องผ่าตัด แต่บางคนอาจรู้สึกไม่สะดวกหรือไม่เป็นธรรมชาติขณะใช้งาน
- การฉีดยาเข้าที่องคชาต: สำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อยารับประทาน หรือไม่สะดวกใช้เครื่องสูญญากาศ อาจใช้การฉีดยาเข้าที่องคชาตโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวเฉพาะจุด ทำให้เกิดการแข็งตัวในเวลาไม่กี่นาที ยาที่ใช้มักเป็นกลุ่ม Alprostadil หรือ Papaverine วิธีนี้มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มีข้อควรระวังคืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การแข็งตัวค้าง (Priapism) หรือการระคายเคืองบริเวณที่ฉีด
- การผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม: ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั้งหมดข้างต้น แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม เป็นการฝังอุปกรณ์เข้าไปในองคชาต เพื่อให้สามารถควบคุมการแข็งตัวได้ตามต้องการ มีทั้งแบบชิ้นเดียวและแบบพองลม 3 ชิ้นให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละราย วิธีนี้ให้ผลลัพธ์ที่มั่นคงและถาวร แต่ก็เป็นการผ่าตัดที่ต้องอาศัยการพิจารณาอย่างรอบคอบ ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม คืออะไร
การผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม (Penile Prosthesis Implantation) มีทางเลือกหลักอยู่สองประเภท ได้แก่ แบบชิ้นเดียว (Non-inflatable) และแบบพองลม 3 ชิ้น (Inflatable) ซึ่งแต่ละแบบมีลักษณะและข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
- แบบชิ้นเดียว (Non-inflatable) เป็นแท่งซิลิโคนที่มีความแข็งกึ่งยืดหยุ่น โดยฝังไว้ภายในองคชาต ตัวแกนสามารถดัดงอได้ด้วยมือ ผู้ป่วยสามารถจัดองคชาตให้ชี้ขึ้นเมื่อต้องการใช้งาน และพับให้ชี้ลงเมื่อต้องการเก็บ ซึ่งสะดวกและไม่ต้องอาศัยกลไกหรือปั๊มใดๆ การผ่าตัดติดตั้งก็ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน และมีโอกาสเกิดปัญหาจากชิ้นส่วนน้อย เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาในการใช้มือหรือมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม จุดด้อยคือแท่งซิลิโคนนี้จะอยู่ในลักษณะเหมือนแข็งตัวตลอดเวลาแม้ไม่ได้ใช้งาน จึงอาจส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้แต่งกายลำบาก หรือรู้สึกไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน
- แบบ 3 ชิ้น (Inflatable) เป็นเทคโนโลยีที่ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับการแข็งตัวตามธรรมชาติมากที่สุด โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่ แกนซิลิโคนที่ฝังในองคชาต ถุงของเหลวที่ฝังในช่องท้อง และปั๊มควบคุมที่ฝังในถุงอัณฑะ เมื่อต้องการใช้งาน ผู้ป่วยจะบีบปั๊มเพื่อให้ของเหลวจากถุงไหลเข้าไปยังแกน ทำให้องคชาตแข็งตัว และเมื่อต้องการให้กลับสู่อาการอ่อนตัว ก็สามารถกดปุ่มปล่อยให้ของเหลวไหลกลับได้ ลักษณะองคชาตขณะไม่ใช้งานจึงดูเป็นธรรมชาติ ไม่แข็งตลอดเวลา ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลไกซับซ้อนกว่าจึงมีโอกาสที่อุปกรณ์จะเกิดการรั่วหรือเสียหาย และต้องใช้ความชำนาญในการใช้งานปั๊มด้วยมือ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรงพอสำหรับการผ่าตัดใหญ่ และไม่มีปัญหาเรื่องการใช้มือในการควบคุมระบบ
ขั้นตอนการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม
การผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม เป็นทางเลือกในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในกรณีที่การรักษาด้วยยา หรือวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล โดยแพทย์จะฝังอุปกรณ์ที่ช่วยให้สามารถควบคุมการแข็งตัวขององคชาตได้ตามต้องการ ซึ่งมีทั้งแบบแท่งแข็งกึ่งยืดหยุ่น และแบบพองลมที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงธรรมชาติ โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
- วางยาสลบหรือฉีดยาชาบริเวณไขสันหลัง ในขั้นตอนแรก แพทย์จะเลือกวิธีระงับความรู้สึกระหว่างการวางยาสลบ (ทำให้ผู้ป่วยหลับสนิทตลอดการผ่าตัด) หรือ การฉีดยาชาบริเวณไขสันหลัง (ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว แต่จะไม่รู้สึกเจ็บจากช่วงเอวลงไป) โดยวิธีที่ใช้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิสัญญีแพทย์ร่วมกับประวัติสุขภาพของผู้ป่วย จุดประสงค์ของขั้นตอนนี้คือให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บหรือไม่สบายขณะทำการผ่าตัด
- เปิดแผลเล็กบริเวณโคนองคชาต เมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ไม่รู้สึกเจ็บแล้ว แพทย์จะเปิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณฐานขององคชาต หรือบางกรณีอาจเปิดแผลผ่านทางถุงอัณฑะ ขึ้นอยู่กับชนิดของแกนเทียมที่ใช้ แผลนี้มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สามารถสอดอุปกรณ์เข้าไปภายในได้โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบมากเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้แผลหายเร็ว ลดโอกาสติดเชื้อ และไม่ส่งผลต่อรูปลักษณ์ขององคชาตภายนอก
- ฝังแกนเทียมพร้อมอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น หลังจากเปิดแผลเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะฝังแกนซิลิโคนเข้าไปในเนื้อเยื่อโพรงองคชาต (Corpora Cavernosa) ซึ่งปกติเป็นบริเวณที่เลือดไหลเข้าเพื่อให้เกิดการแข็งตัว สำหรับผู้ที่เลือกแบบพองลม 3 ชิ้น แพทย์จะฝังอุปกรณ์อื่นเพิ่มเติม ได้แก่
- ถุงเก็บของเหลว ฝังในช่องท้อง หรือบริเวณขาหนีบ
- ปั๊มควบคุม ฝังในถุงอัณฑะ
อุปกรณ์ทั้งสามชิ้นนี้จะเชื่อมต่อกันด้วยท่อเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกายทั้งหมด โดยไม่มีส่วนใดยื่นออกมาภายนอก การติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ต้องใช้ความละเอียดสูง เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและดูเป็นธรรมชาติ
- เย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย เมื่อฝังอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะเย็บปิดแผลผ่าตัดด้วยไหมละลาย ซึ่งไม่ต้องตัดออกในภายหลัง ไหมเหล่านี้จะสลายตัวเองได้ตามธรรมชาติภายในไม่กี่สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของไหมและอัตราการสมานตัวของแผลในแต่ละบุคคล ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1–2 ชั่วโมง โดยทั่วไปจะเป็นการผ่าตัดแบบไม่ต้องเปิดหน้าท้อง (Minimally Invasive) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วที่สุด
- พักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1–2 วัน หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ผู้ป่วยจะพักฟื้นในโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์และพยาบาลดูแลอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงแรก แพทย์จะคอยสังเกตอาการปวด บวม มีเลือดออก หรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การติดเชื้อหรือตอบสนองของร่างกายต่ออุปกรณ์ หลังจากนั้น หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยควรเตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- แจ้งแพทย์เกี่ยวกับประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ใช้อยู่
- ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดหรือคลื่นหัวใจ ตามคำแนะนำของแพทย์
- งดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 6–8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน หรือวิตามินบางชนิด
- โกนขนและทำความสะอาด บริเวณที่จะผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- แนะนำให้มีญาติหรือคนใกล้ชิดมาด้วย ในวันผ่าตัดเพื่อดูแลและช่วยเหลือระหว่างพักฟื้น
การดูแลหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัด แพทย์จะแนะนำวิธีดูแลตัวเองเพื่อให้แผลหายเร็วและป้องกันภาวะแทรกซ้อน
- หยุดงานประมาณ 1–2 สัปดาห์ และสามารถทำกิจกรรมเบาๆ ได้หลังจากนั้น
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระแทกอัณฑะ เช่น ขี่จักรยานหรือขี่มอเตอร์ไซค์
- งดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 4–6 สัปดาห์ เพื่อให้แผลภายในหายดี
- รับประทานยาและดูแลแผล ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หลังครบ 1 เดือน ควรเริ่มมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นระบบการทำงานของแกนเทียม
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
แม้การผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียมจะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงบางประการ
- แผลผ่าตัดอาจติดเชื้อ เกิดการปวด บวม หรือมีของเหลวออกจากแผล
- อาจมีไข้สูง หรือเลือดออกผิดปกติ หลังการผ่าตัด
- กลไกของแกนเทียมอาจชำรุด หรือเคลื่อนที่ผิดตำแหน่ง ทำให้ใช้งานได้ไม่สมบูรณ์
- การฝังอุปกรณ์อาจกระทบต่อการไหลเวียนเลือดบริเวณองคชาตหรือถุงอัณฑะ ในบางราย อย่างไรก็ตาม สถิติพบว่าอัตราเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ค่อนข้างต่ำ และผู้เข้ารับการผ่าตัดมากกว่า 90% มีความพึงพอใจกับผลลัพธ์
คำถามที่พบบ่อย
- ผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม เจ็บไหม?
ตอบ: ในระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บเพราะแพทย์จะให้ยาสลบหรือยาชาเฉพาะจุด ส่วนหลังผ่าตัดอาจมีอาการปวดตึงเล็กน้อยบริเวณแผล ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดที่แพทย์จ่ายให้
2. หลังผ่าตัด จะกลับมาเหมือนเดิมไหม?
ตอบ: องคชาตจะไม่สามารถแข็งตัวเองได้ตามธรรมชาติเหมือนก่อนมีปัญหา แต่ผู้ป่วยสามารถควบคุมการแข็งตัวได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ (ปั๊ม หรือ ดัด) ทำให้สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ความรู้สึกทางเพศและการถึงจุดสุดยอดยังคงเหมือนเดิม หากไม่มีปัญหาด้านประสาทหรือระบบอื่นร่วมด้วย
3. จะเห็นอุปกรณ์จากภายนอกหรือไม่?
ตอบ: อุปกรณ์ทั้งหมดจะถูกฝังไว้ภายในร่างกาย ไม่มีส่วนใดยื่นออกมา จึงดูเป็นธรรมชาติ และไม่มีใครสังเกตเห็นได้จากภายนอกขณะสวมเสื้อผ้าปกติ
การผ่าตัดใส่แกนองคชาติเทียมถือเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัย เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และช่วยให้คุณกลับมามั่นใจได้อีกครั้ง
กำลังกังวลกับปัญหาแข็งตัวไม่เต็มที่ แข็งไม่พอ หรือไม่มีความรู้สึกทางเพศเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า? ไม่แน่ใจว่าสาเหตุเกิดจากร่างกาย ฮอร์โมน หรือปัญหาเฉพาะจุด? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย