pancreas screening process scaled

ตรวจตับอ่อน มีอะไรบ้าง วิธีตรวจ

อาการปวดท้องเรื้อรัง ปวดร้าวถึงหลัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง อาจเป็นสัญญาณของโรคที่เกี่ยวข้องกับตับอ่อน…การตรวจสุขภาพตับอ่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

ตรวจตับอ่อน มีอะไรบ้าง วิธีตรวจ

ตับอ่อนเป็นอวัยวะสำคัญในการผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารและฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากเกิดความผิดปกติ อาจส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารและการทำงานของร่างกายโดยรวม

การตรวจสุขภาพตับอ่อนช่วยประเมินทั้งโครงสร้างและการทำงานของตับอ่อน เพื่อวินิจฉัยโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ตับอ่อนอักเสบ ซีสต์ นิ่วในท่อน้ำดี หรือมะเร็งตับอ่อน โดยวิธีการตรวจหลักๆ มีดังนี้

1. การตรวจเลือด (Blood Tests)

การตรวจเลือดช่วยวินิจฉัยโรคตับอ่อนในระยะเริ่มต้น และช่วยในการติดตามการรักษา โดยรายการตรวจมีดังนี้

  • Amylase และ Lipase: เป็นเอนไซม์ที่ผลิตจากตับอ่อนเพื่อช่วยย่อยอาหาร โดย Amylase ช่วยย่อยแป้ง ส่วน Lipase ช่วยย่อยไขมัน หากมีค่าที่สูงผิดปกติ อาจบ่งบอกถึงภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง โดยค่าปกติของ Amylase จะอยู่ระหว่าง 40 – 140 U/L หรือ 0.38 – 1.42 microkat/L ขึ้นอยู่กับแต่ละห้องปฏิบัติการ
  • CA 19-9 (Tumor Marker): เป็นสารบ่งชี้มะเร็งที่ใช้ตรวจหามะเร็งตับอ่อนในระยะแรก หากมีค่าที่สูงผิดปกติ อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งตับอ่อน หรือเนื้องอกบริเวณท่อน้ำดี โดยค่า CA19-9 ในคนปกติ ควรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 37 U/mL.

2. การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen)

การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจดูโครงสร้างของตับอ่อนและอวัยวะข้างเคียง เช่น ตับและถุงน้ำดี เหมาะสำหรับตรวจหาภาวะตับอ่อนอักเสบ และยังสามารถตรวจพบซีสต์ หรือ นิ่วในถุงน้ำดี ที่อาจส่งผลกระทบต่อตับอ่อนได้

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน มีข้อดี คือ ไม่เจ็บตัว ไม่มีการใช้รังสี และใช้เวลาไม่นาน ตรวจเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล

3. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

CT Scan (Computerized Tomography Scan) คือการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่สามารถสร้างภาพของตับอ่อนออกมาเป็นภาพตัดขวาง หรือภาพที่มองเห็นเป็นชั้นๆ ของตับอ่อน เหมาะสำหรับตรวจหาก้อนเนื้อ หรือมะเร็งตับอ่อน รวมทั้งตรวจดูภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเลือดออก หรือ เนื้อเยื่อถูกทำลาย

การตรวจ CT Scan มีข้อดีคือ ให้ภาพที่ละเอียดและชัดเจนกว่าการตรวจอัลตราซาวด์ อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีนี้ต้องฉีดสารทึบรังสี ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อผู้ที่แพ้สารนี้

4. การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI)

MRI คือการใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุเพื่อสร้างภาพของตับอ่อนโดยละเอียด เหมาะสำหรับการตรวจหาความผิดปกติของท่อตับอ่อน และยังสามารถตรวจพบซีสต์ขนาดเล็ก หรือเนื้องอก ที่ไม่สามารถเห็นได้จาก CT Scan

การตรวจเอ็มอาร์ไอ มีข้อดี คือ ไม่ใช้รังสี และสามารถให้ภาพเนื้อเยื่อที่ชัดเจน

5. การตรวจ MRCP (Magnetic Resonance Cholangiopancreatography)

การตรวจ MRCP เป็นการตรวจ MRI แบบเฉพาะเจาะจง เพื่อดูโครงสร้างของระบบท่อน้ำดี และท่อตับอ่อน เหมาะสำหรับการตรวจหาภาวะท่ออุดตัน และยังสามารถตรวจพบนิ่วในท่อน้ำดี

การตรวจ MRCP มีข้อดี คือ ไม่ต้องใช้กล้องส่อง ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน

6. การส่องกล้อง ERCP (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography)

เป็นการส่องกล้องผ่านทางปากไปยังลำไส้เล็ก เพื่อตรวจสอบท่อตับอ่อนและท่อน้ำดีร่วม (Common Bile Duct: CBD) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยว่า มีท่ออุดตัน หรือนิ่วในท่อน้ำดี รวมทั้งผู้ที่ต้องการรักษาภาวะอุดตันด้วยการใส่ขดลวด (Stent)

การตรวจบบส่องกล้อง มีข้อดีคือ สามารถตรวจและรักษาในขั้นตอนเดียว แต่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดตับอ่อนอักเสบ หลังการส่องกล้อง

7. การเจาะชิ้นเนื้อ (Biopsy)

การเจาะชิ้นเนื้อจากตับอ่อน เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ เหมาะสำหรับผู้ที่สงสัยว่ามีมะเร็งตับอ่อน หรือ เนื้องอก

การเจาะชิ้นเนื้อ มีข้อดีคือ ช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ แต่อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเลือดออก

การตรวจตับอ่อนเป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับตับอ่อน หากคุณมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องรุนแรง น้ำหนักลด หรือ ตัวเหลือง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

อาการของเราเข้าข่ายต้องตรวจตับอ่อนหรือไม่? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจการทำงานของตับอ่อน จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top