โรคข้อสะโพกเสื่อม พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นสาเหตุให้เคลื่อนไหวลำบากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลุก-นั่ง เดิน ขึ้นบันได และยังสร้างความเจ็บปวดรำคาญแก่ผู้ป่วยด้วย
ปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งหากตรวจพบได้เร็ว ทางเลือกในการรักษาก็จะมีหลากหลายขึ้นตามไปด้วย บทความนี้จะมาเจาะลึกทุกรายละเอียด เกี่ยวกับโรคข้อสะโพกเสื่อม ทั้งสาเหตุ อาการ การตรวจ วิธีรักษา และการป้องกัน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจและลดโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ลงได้
สารบัญ
โรคข้อสะโพกเสื่อม คืออะไร?
โรคข้อเสื่อม เป็นรูปแบบของโรคข้ออักเสบที่พบมากที่สุด พบบ่อยในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในผู้ที่อายุน้อยกว่าได้ โดยอาจมาจากมีความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายแต่กำเนิด หรือเป็นผลมาจากโรคบางอย่าง โดยหนึ่งในบริเวณที่เกิดข้อเสื่อมได้ คือบริเวณข้อสะโพก
โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Osteophytes) คือโรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่หุ้มหัวข้อสะโพก สึกหรอลงเรื่อยๆ จนมีลักษณะขรุขระและหยาบ
กระดูกอ่อน (Cartilage) เป็นเนื้อเยื่อที่แข็งแรงและยืดหยุ่น ปกติจะหุ้มปลายกระดูกข้อ ทำหน้าที่ลดแรงเสียดทานในข้อต่อ และเป็นตัวดูดซับแรงกระแทก เมื่อกระดูกอ่อนสึกหรอจากโรคข้อสะโพกเสื่อม กระดูกข้อสะโพกกับเชิงกรานอาจเสียดสีกัน ทำให้เกิดการอักเสบและอาการบวม ถ้าเป็นมากแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวบางท่าได้ตามปกติ และยังก่อให้เกิดความเจ็บปวดด้วย
โรคข้อสะโพกเสื่อมมักจะพัฒนาอย่างช้าๆ จนเมื่อเป็นมาก กระดูกที่ได้รับความเสียหายอาจเริ่มเจริญเติบโตออกด้านนอกและเกิดกระดูกงอก (Osteophytes) เพื่อชดเชยกระดูกอ่อนที่หายไป ยิ่งอาการรุนแรงเท่าไหร่ ผู้ป่วยมักยิ่งรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นเท่านั้น รวมถึงยิ่งเคลื่อนไหวได้น้อยลงด้วย
สาเหตุของโรคข้อสะโพกเสื่อม คืออะไร?
ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดโรคข้อสะโพกเสื่อม แต่ปัจจัยที่มีผลต่อข้อสะโพกเสื่อม มีดังนี้
- ความเสื่อมตามอายุ
- ประวัติการบาดเจ็บที่ข้อสะโพก หรือบาดเจ็บบริเวณอื่นแต่ส่งผลกระทบถึงข้อสะโพก เช่น การหกล้ม ข้อสะโพกหัก
- โรคและภาวะบางอย่างที่ส่งผลต่อกระดูกและเนื้อเยื่อบริเวณข้อสะโพก เช่น โรคกระดูกพรุน โรคข้อสะโพกอักเสบขาดเลือด ภาวะข้ออักเสบรูมาตอยด์
- ลักษณะทางกายภาพของกระดูกสะโพก เชิงกราน และข้อต่อ ที่ผิดรูป โดยอาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด
- ผลจากพันธุกรรมซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติที่กระดูกอ่อน
- การเคลื่อนไหวซึ่งส่งผลเสียต่อข้อสะโพก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างซ้ำๆ
- น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลต่อแรงกดต่อข้อต่อสะโพก
อาการของโรคข้อสะโพกเสื่อม เป็นอย่างไร?
โรคข้อสะโพกเสื่อม มักทำให้เกิดความเจ็บปวด และส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ลุกนั่งไม่สะดวกอย่างที่เคย หรือนั่งบางท่าไม่ได้
สำหรับผู้เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมระยะแรก อาการปวดที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้อยู่ที่สะโพก แต่จะรู้สึกบริเวณขาหนีบ ต้นขา เข่า ก้น โดยอาจมีลักษณะเจ็บแปลบอย่างรุนแรงขึ้นมาอย่างฉับพลัน หรือเจ็บหน่วงๆ บางคนอาจสังเกตพบว่าข้อสะโพกเกิดอาการตึง หรือรู้สึกว่าสะโพกติดแข็งบ่อยๆ อย่างไรก็ตาม มักไม่มีอาการชาหรือร้าวลงไปยังปลายเท้าร่วมด้วย
อาการอื่นๆ ที่อาจสังเกตได้เวลาเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่าทาง ได้แก่
- เวลานั่งพับเพียบหรือนั่งขัดสมาธิแล้วรู้สึกติดขัด
- นั่งไขว่ห้างไม่ได้
- กางขาได้ไม่สุด
- ลุกหรือนั่งจากเก้าอี้หรือโซฟาเตี้ยๆ ได้ลำบาก
- หลังจากนั่งเป็นเวลานาน รู้สึกว่าข้อต่อสะโพกติดแข็ง
- เวลายืน เดิน มีอาการปวด
- เมื่อเดิน สังเกตพบว่าลำตัวโยกเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง (ด้านนั้นจะเป็นข้อสะโพกที่เสื่อม)
- สังเกตพบเสียงกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหวข้อต่อสะโพก เช่น เวลานั่ง ลุกยืน เดิน เป็นเสียงที่บ่งบอกว่าอาจมีกระดูกเสียดสีกัน
- ผู้ที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมระยะรุนแรง อาจพบว่าขาข้างหนึ่งสั้นกว่าอีกข้างหนึ่ง
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรค ข้อสะโพกเสื่อม รึเปล่า อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
ข้อสะโพกเสื่อม ตรวจอย่างไร?
โรคข้อสะโพกเสื่อม ส่วนใหญ่มักตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีเอกซเรย์เพื่อดูกระดูกและเนื้อเยื่อภายใน อาจทำร่วมกับการทดสอบการทำงานของร่างกาย เพื่อดูว่าบริเวณข้อต่อสะโพกยังสามารถเคลื่อนไหวได้มาก-น้อยเพียงใด ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมหรือไม่ และมีระดับความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับใด
บางกรณี แพทย์อาจสั่งตรวจภาพอวัยวะภายในด้วยเทคนิคอื่นเพิ่มเติม เช่น ทำ CT scan หรือ MRI เพื่อให้ได้ภาพที่ละเอียดชัดเจนขึ้น
วิธีรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม มีวิธีไหนบ้าง
การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม มีจุดมุ่งหมายคือทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทำให้สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ กรณีที่โรคยังไม่รุนแรง แพทย์อาจให้รักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด แต่ถ้าการรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล อาจแนะนำการรักษาข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การรักษาข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
แนวทางการรักษาข้อสะโพกเสื่อม ด้วยวิธีไม่ผ่าตัด มีดังนี้
- พักการใช้งานข้อสะโพก
- ลดน้ำหนัก
- ปรับท่าทางการนั่ง ลุกยืน การก้มเก็บของ
- กายภาพบำบัด เพื่อบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกให้แข็งแรงขึ้น
- ใช้เครื่องมือช่วยพยุงตัว เช่น ไม่เท้า เพื่อลดน้ำหนักที่จะกดลงยังข้อสะโพก
- ใช้ยา โดยอาจเป็นยารับประทานซึ่งออกฤทธิ์ลดความเจ็บปวด หรือยาต้านการอักเสบ หรือบางกรณีแพทย์อาจสั่งยาฉีดเพื่อลดปวดฉีดเข้าบริเวณข้อสะโพก
รักษาข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีผ่าตัด
ในกรณีที่การรักษาข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล เช่น ผู้ป่วยยังมีอาการปวดและไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือผลการเอกซเรย์ ทำ CT Scan หรือ ทำ MRI พบการเสื่อมของข้อสะโพกอย่างรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ซึ่งวัสดุข้อสะโพกเทียมมักทำจากโลหะ เซรามิก และพลาสติกแข็ง
ในการผ่าตัด แพทย์จะนำเอาส่วนของข้อสะโพกที่เสียหายออก แล้วแทนที่ด้วยข้อสะโพกเทียม อาจผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะหัวข้อสะโพก หรือเปลี่ยนทั้งหัวและเบ้าข้อสะโพก ขึ้นอยู่กับความเสียหายของข้อสะโพกในผู้ป่วยแต่ละคน
หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ออกแบบเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังอาจต้องทำกายภายบำบัด หรือใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อลดแรงกดที่ข้อสะโพก อย่างไม้เท้า วอล์กเกอร์ หรือไม่ค้ำ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
สิ่งสำคัญซึ่งผู้ป่วยควรทราบ คือ แม้ว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจะให้ผลดีสำหรับผู้ที่มีข้อสะโพกเสื่อมระดับรุนแรง หรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล
แต่ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ก่อนการผ่าตัดอย่างละเอียดถึงผลที่เป็นไปได้จากการผ่าตัด อาจแจ้งความคาดหวังแก่เแพทย์อย่างละเอียด เพื่อให้แพทย์อธิบายความเป็นไปได้ในกรณีต่างๆ เช่น ต้องการกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันเองได้ ต้องการทำกิจกรรมที่ชอบได้ รวมถึงอธิบายอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมเหล่านั้นคืออะไร
เพราะแม้การผ่าตัดจะเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีอาการปกติแทรกซ้อน ผู้ป่วยก็อาจไม่สามารถกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้เท่ากับก่อนจะมีปัญหาปวดข้อสะโพก
การป้องกันโรคข้อสะโพกเสื่อม คืออะไร?
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุโดยเฉพาะของการเกิดโรคข้อสะโพกเสื่อม ดังนั้นการป้องกันโรคนี้จึงทำได้เพียงลดปัจจัยที่เกี่ยวของกับตัวโรคเท่าที่จะทำได้ เช่น
- คงน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อไม่ให้มีแรงกดลงยังข้อต่อสะโพกมากเกินไป
- ออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงแก่ข้อต่อสะโพก ซึ่งจะช่วยปกป้องกระดูกอ่อนที่หุ้มข้อสะโพก ไม่ให้เสียหายหรือฉีกขาดได้ง่าย
มีหลายโรคที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น ตามความเสื่อมของร่างกาย โรคข้อสะโพกเสื่อมก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ไม่ใช่ว่าอายุมากแล้วต้องยอมรับและอดทนอาการเจ็บป่วยใดๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ ปัจจุบันมีหลากหลายแนวทางการรักษา หรืออย่างน้อยคือช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ทำให้ไม่ว่าจะอายุมากแล้ว แต่ถ้าหมั่นสังเกตและคอยใส่ใจร่างกายตนเอง ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดูแลตัวเองได้
ปวดขา ปวดเข่า ปวดบริเวณก้น แต่ไม่แน่ใจว่าแค่ปวดเมื่อยตามอายุ หรือเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคข้อสะโพกเสื่อม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย