โรคข้อสะโพกเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกๆ อาจบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรืออาจทำร่วมกับใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง
กรณีที่ปรับพฤติกรรม ใช้ยา หรือกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผล เช่น มีอาการเจ็บปวดมากจนไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติ เช่น รู้สึกติดขัด เจ็บเวลาขยับร่างกาย หรือความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง จนผู้ป่วยปฏิบัติกิจวัตรประจำวันไม่ได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอาจเป็นอีกทางเลือกที่ควรพิจารณา
บทความนี้จะมาเจาะลึกวิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมในทุกรูปแบบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด
สารบัญ
วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีไม่ผ่าตัดมีหลายวิธี ได้แก่
1. การใช้ยา
เป็นวิธีรักษาที่มักใช้ควบคู่กับการปรับพฤติกรรม โดยถ้าอยู่ในระยะเริ่มแรก ที่มีอาการไม่มาก แพทย์มักให้ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และยาแก้ปวด ชนิดรับประทาน ถ้าอาการุนแรงขึ้น แพทย์อาจปรับยาให้รับประทานชนิดที่ออกฤทธิ์แรงขึ้น หรืออาจใช้ยาฉีด
2. การควบคุมหรือลดน้ำหนัก
แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เนื่องจากน้ำหนักที่มากขึ้น จะส่งผลให้เกิดแรงกดบริเวณข้อสะโพกมากขึ้น และทำให้อาการโรคข้อสะโพกเสื่อมรุนแรงขึ้น จนอาจเกิดการอักเสบได้
การควบคุมนำ้หนักอาจประกอบด้วยการวางแผนปรับเปลี่ยนชนิดอาหารที่รับประทาน และรูปแบบการรับประทานอาหาร รวมถึงการออกกำลังกาย โดยต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากการเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วย
3. การออกกำลังกายเบาๆ ในท่าที่เหมาะสม
การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักแล้ว ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยชะลอให้ข้อสะโพกเสื่อมช้าลงได้
วิธีออกกำลังกายที่แพทย์มักแนะนำแก่ผู้เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการออกกำลังกายเบาๆ ที่ไม่เน้นแรงกระแทก หรือไม่มีการกระโดด เช่น ไทเก๊ก โยคะ ว่ายน้ำ เป็นต้น
4. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อช่วยผ่อนคลายการติดแข็งของข้อต่อ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด
สำหรับผู้ไม่เคยยืดเหยียดหรือไม่ค่อยออกกำลังกาย เมื่อเริ่มทำใหม่ๆ เป็นปกติที่จะยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้ไม่มาก แต่ทำไปเรื่อยๆ แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น และสังเกตเห็นความยืดหยุ่นขึ้นทีละน้อย
การยืดเหยียดควรคำนึงถึงหลักการต่อไปนี้
- ค่อยๆ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเบาๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อค่อยๆ ยืดหยุ่นขึ้นอย่างช้าๆ
- ถ้าเจ็บ ควรหยุดก่อน ไม่ควรฝืนทำต่อ
วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
ถ้าบรรเทาอาการโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล หรือเคยได้ผลอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ในที่สุดอาการแย่ลง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทดแทนข้อสะโพกเดิมที่เสียหาย จะช่วยให้เจ็บปวดน้อยลง เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรคข้อสะโพกเสื่อม เช่น สะโพกเคลื่อนผิดตำแหน่ง
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมคืออะไร
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม คือการผ่าตัดเพื่อนำข้อต่อและกระดูกส่วนสะโพกที่เสียหายออก แล้วแทนที่ด้วยข้อสะโพกเทียม ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากโลหะ เซรามิก หรือพลาสติกแข็ง
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเหมาะกับใคร
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เหมาะกับผู้มีปัญหาข้อสะโพกเสื่อมอย่างรุนแรง หรือมีภาวะกระดูกพรุน ข้อสะโพกหัก ซึ่งทำให้ข้อสะโพกเดิมไม่สามารถใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และลดความสามารถด้านการเคลื่อนไหวลง
ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ช่วยให้ผู้ป่วยมีกระดูกและข้อต่อสะโพกใหม่ ช่วยลดความเจ็บปวด และแก้ไขอาการข้อติดแข็ง ซึ่งทำให้เคลื่อนไหวได้ลดลง
ข้อจำกัดของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอาจทำไม่ได้ ในผู้ที่มีภาวะสุขภาพซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายระหว่างและหลังการผ่าตัด เช่น
- มีภาวะข้ออักเสบติดเชื้อ
- มีกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกอ่อนแรง จนอาจเป็นเหตุให้ข้อสะโพกเทียมเคลื่อนหลุดหลังผ่าตัด
- บริเวณข้อสะโพกมีภาวะกระดูกพรุนรุนแรงมาก
- ป่วยเป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักตัวมากเกินไป
ผลข้างเคียงของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียม ซึ่งเกิดได้ไม่ต่างจากการผ่าตัดอื่นๆ ได้แก่ เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม แพทย์มักเตรียมการสำหรับเหตุไม่คาดคิดไว้อย่างดีที่สุด เช่น คอยตรวจสอบสัญญาณชีพ รักษาความสะอาดของอุปกรณ์ผ่าตัด รวมถึงบริเวณที่ทำการผ่าตัด ตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดก่อนทำการผ่าตัด
ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดได้จากการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยเฉพาะ เช่น กระดูกแตก หัก หลังผ่าตัดแล้วความยาวขาสองข้างของผู้ป่วยกลับไม่เท่ากัน กรณีนี้ต้นเหตุอาจมาจากความตึง-หย่อนของกล้ามเนื้อขาสองข้างของผู้ป่วยไม่เท่ากัน แม้กระดูกเทียมข้างที่ใส่เข้าไปจะมีความยาวเท่ากับกระดูกจริงอีกข้าง จึงอาจดูเหมือนขาไม่เท่ากันได้ สามารถแก้ไขให้ค่อยๆ ดีขึ้นด้วยการทำกายภาพบำบัดหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
ผลข้างเคียงอีกข้อที่อาจเกิดได้ แต่มีโอกาสน้อย คือ เส้นประสาทเสียหายจากการผ่าตัด ถ้าเกิดแล้วผู้ป่วยอาจมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเกิดความเจ็บปวดขึ้น
ขั้นตอนการรักษาข้อสะโพกเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ โดยมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
เมื่อเริ่มการผ่าตัด แพทย์จะวางยาสลบ หรือฉีดยาชาเข้าสู่ไขสันหลังผู้ป่วย (บล็อกหลัง) เพื่อระงับความรู้สึกผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด
ขั้นตอนที่ 2
แพทย์ทำการผ่าตัดเอากระดูกและข้อต่อสะโพกที่เสียหายออกจากร่างกายผู้ป่วย พร้อมทั้งเตรียมโพรงกระดูกผู้ป่วยสำหรับใส่ข้อสะโพกเทียม ทดลองขนาดข้อสะโพกเทียมที่เหมาะสม รวมถึงทดสอบการใช้งานข้อเทียม
การผ่าตัดนี้อาจใช้เทคนิคผ่าเข้าทางด้านหลัง ด้านข้าง หรือด้านหน้าของผู้ป่วย แต่ละเทคนิคมีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน ดังนี้
- การผ่าตัดด้านหลัง เป็นวิธีที่นิยมของแพทย์มากที่สุด เนื่องจากผ่าตัดได้ง่าย ผ่าโดยใช้เทคนิคแผลเล็กได้ แต่มีข้อเสียคือ ต้องตัดกล้ามเนื้อบางส่วน และหลังข้อสะโพกยังมีเส้นเลือดและเส้นประสาทสำคัญ จำเป็นต้องระมัดระวังมาก
- การผ่าตัดด้านข้าง เป็นวิธีที่แพทย์นิยมรองจากผ่าตัดด้านหลัง ข้อดีคือจะช่วยให้แพทย์วางตำแหน่งเบ้าสะโพกได้ง่ายและแม่นยำกว่าวิธีอื่น ผ่าโดยใช้เทคนิคแผลเล็กได้ ในการผ่าตัด ไม่ต้องตัดทำลายกล้ามเนื้อเท่าการผ่าตัดด้านหลัง รวมถึงมีความเสียงที่จะเกิดอันตรายกับเส้นเลือดและเส้นประสาทน้อยกว่าวิธีผ่าตัดด้านหลัง
- การผ่าตัดด้านหน้า เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อ ทำให้บาดเจ็บน้อย เสียเลือดน้อย เจ็บน้อย กว่าวิธีอื่นๆ รวมถึงยังมีความเสี่ยงที่สะโพกเทียมจะเคลื่อนหลุดหลังผ่าตัดต่ำกว่าวิธีอื่นๆ ด้วย
ขั้นตอนที่ 3
แพทย์นำกระดูกสะโพกเทียมใส่เข้าไปแทนที่กระดูกข้อสะโพกอันเก่าของผู้ป่วย โดยยึดก้านสะโพกเทียมเข้ากับโพรงกระดูกต้นขาส่วนต้นที่ยังมีสุขภาพดี โดยอาจใช้ซีเมนต์เป็นตัวเชื่อม หรือใช้ข้อสะโพกเทียมที่ส่วนก้านสะโพกมีพื้นผิวขรุขระ เป็นที่ให้เนื้อกระดูกฝังตัวเข้าหลังจากผ่าตัด
ขั้นตอนที่ 4
แพทย์ตรวจดูความเรียบร้อย ก่อนเย็บปิดแผลที่ผิวหนังผู้ป่วย
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมใช้เวลาผ่าตัดทั้งสิ้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังผ่าตัดแพทย์อาจให้พักดูอาการที่สถานพยาบาลก่อน เมื่อแน่ใจว่าไม่มีอาการแทรกซ้อนแล้วจึงให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมอาจต้องใช้หลายวิธีควบคู่กัน เช่น ทั้งผ่าตัด ลดน้ำหนัก กายภาพบำบัด ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยแต่ละคนควรได้รับการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีใด ได้แก่ สุขภาพโดยทั่วไป ความรุนแรงของภาวะข้อเสื่อม ความรุนแรงของอาการที่เป็น ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อต่อ และน้ำหนักตัวของผู้ป่วย
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอาจฟังดูน่ากลัว แต่ถ้าทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ร่วมกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยอาจรวมถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตไปด้วย จะช่วยให้การผ่าตัดได้ผลดี แม้ผู้ป่วยอาจไม่ได้กลับมาใช้ข้อสะโพกได้เหมือนก่อนเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม 100% แต่มักช่วยให้อาการเจ็บปวดลดลง รวมถึงเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
หมอวินิจฉัยว่าต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก อยากรู้ว่าผ่าตัดแบบไหนจะเหมาะกับเรา ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคข้อสะโพกเสื่อม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย