Default fallback image

ตรวจข้อสะโพกเสื่อม ขั้นตอนการตรวจเป็นยังไง เจ็บไหม

ข้อสะโพกเสื่อม คือ โรคที่ส่วนหัวของข้อสะโพก กับเบ้าสะโพก เกิดการสึกกร่อนหรืออักเสบจนก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือปัญหาการเคลื่อนไหว พบได้บ่อยได้ผู้สูงอายุ หรืออายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากความเสื่อมตามอายุ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นข้อสะโพกเสื่อมจากโครงสร้างร่างกายผิดปกติแต่กำเนิด หรือเป็นผลมาจากโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้ออื่นๆ ก็ได้

อาการข้อสะโพกเสื่อมในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน บางคนอาจรู้สึกเจ็บแปลบขึ้นมาอย่างฉับพลันรุนแรง เมื่อเคลื่อนไหวผิดท่า หรือผู้ป่วยบางรายอาจค่อยๆ รู้สึกว่าสะโพกติดแข็ง โดยค่อยๆ เป็นมากขึ้น จนในที่สุดเคลื่อนไหวอย่างลำบาก หรือกลายเป็นเคลื่อนไหวบางท่าไม่ได้ บางคนอาจค่อยๆ สังเกตพบว่าขาสองข้างของตัวเองยาวไม่เท่ากัน ทำให้เดินกะเผลก

นอกจากนี้อาการที่กล่าวไปข้างต้นยังอาจบ่งบอกถึงโรคกระดูกและข้ออื่นๆ ได้เช่นกัน การจะทราบว่าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมหรือไม่ จำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ ซึ่งวิธีตรวจข้อสะโพกเสื่อม มีดังนี้

ตรวจข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีซักประวัติ

แพทย์จะสอบถามผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นข้อสะโพกเสื่อมหรือไม่ ถ้าเป็น เป็นระยะรุนแรงแค่ไหน และการซักประวัติยังใช้ประกอบการวางแผนการรักษาอีกด้วย

ตัวอย่างคำถามเพื่อวินิจฉัยโรคข้อสะโพกเสื่อม เช่น

  • อาการหรือความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้สงสัยว่าเป็นข้อสะโพกเสื่อม
  • ระยะเวลาที่มีอาการเหล่านั้น
  • ผลกระทบของอาการนั้นๆ ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ลักษณะการทำงาน การออกกำลังกาย กิจกรรมที่ทำ
  • ประวัติการบาดเจ็บที่กระดูกและข้อ
  • ประวัติการผ่าตัด
  • ยาที่ใช้เป็นประจำ

การบอกอาการให้ครบถ้วนจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ตรวจข้อสะโพกเสื่อมด้วยการตรวจร่างกาย

นอกจากซักประวัติแล้ว แพทย์ยังต้องตรวจร่างกายผู้ป่วยเพื่อดูระยะเคลื่อนไหวของข้อต่อสะโพก โดยอาจขอให้ผู้ป่วยขยับสะโพกในทิศทางต่างๆ หรือแพทย์อาจลองขยับขาผู้ป่วยไปในทิศทางต่างๆ หรืออาจให้ผู้ป่วยเดินไปมา เพื่อจะได้ดูว่าผู้ป่วยสามารถขยับได้มาก-น้อยเพียงใด

รวมถึงหาตำแหน่งกดเจ็บ บริเวณปวด อาการบวม และอาจตรวจดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ สะโพกร่วมด้วย เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ปกป้องข้อต่อสะโพก

ตรวจข้อสะโพกเสื่อมด้วยวิธีเอกซเรย์

การเอกซเรย์ เป็นเทคนิคการถ่ายภาพภายในร่างกายผู้ป่วยด้วยรังสีเอกซ์ มักใช้เพื่อช่วยยืนยันผลวินิจฉัยโรคข้อสะโพกเสื่อม 

การเอกซเรย์จะแสดงให้เห็นสิ่งต่อไปนี้

  • ช่องว่างระหว่างเบ้าสะโพกกับข้อต่อกระดูกต้นขา ถ้าไม่มีช่องว่าง หรือช่องว่างดูแคบผิดปกติ แสดงว่ากระดูกอ่อนสึกหรอไปมาก
  • กระดูกงอกเล็กๆ ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งความเสื่อมตามอายุ หรือเป็นกระดูกที่งอกขึ้นมาเพื่อพยายามชดเชยการสูญเสียของกระดูกอ่อนบริเวณข้อสะโพก กระดูกงอกเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด

ผลการเอกซเรย์ข้อสะโพกกับอาการผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป บางกรณีพบว่าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แต่ผลเอกซเรย์กลับออกมาว่าข้อสะโพกเสื่อมมาก หรือผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมาก แต่ผลเอกซเรย์กลับพบว่าข้อสะโพกเสื่อมน้อยก็ได้ ถือว่าการเอกซเรย์เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ร่วมกับการซักประวัติตรวจร่างกายผู้ป่วยเท่านั้น โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงระดับความรุนแรงของอาการต่อไป โดยอาจใช้ผลการตรวจในขั้นตอนอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ

ตรวจข้อสะโพกเสื่อมด้วยการทำ MRI

การทำ MRI คือการถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจนี้จะให้ภาพเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณข้อสะโพก เช่น จะเห็นขอบข้อต่อสะโพก กระดูกอ่อนผิวข้อ และเส้นเอ็น รวมถึงกระดูก

โดยทั่วไปแล้วการตรวจ MRI ให้ภาพชัดเจนกว่าภาพเอกซเรย์ สามารถดูแบบ 2 หรือ 3 มิติ หรือจะหมุนดูภาพหลายๆ มุมก็ได้ แพทย์จึงอาจสั่งตรวจ MRI ในกรณีที่ผลเอกซเรย์ไม่ชัดเจน เป็นข้อสะโพกเสื่อมระยะน้อยๆ หรือสงสัยว่ามีความผิดปกติอย่างอื่นที่ไม่ใช่โรคข้อเสื่อม

เมื่อเทียบกับตรวจเอกซเรย์ การทำ MRI ใช้เวลาตรวจนานกว่าและมักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า

ตรวจข้อต่อสะโพกเสื่อมด้วยการทำอัลตราซาวด์

การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นอีกเทคนิคเพื่อถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกาย โดยการตรวจนี้สร้างภาพขึ้นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

การตรวจอัลตราซาวด์สามารถช่วยประเมินเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆ ข้อสะโพกได้ ทำให้เห็นเส้นเอ็น ถุงน้ำรอบข้อ กล้ามเนื้อ และขอบของข้อต่อสะโพก

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุข้อต่อที่บอบบาง หรือดูปริมาณน้ำในข้อได้ด้วย ซึ่งไม่สามารถเห็นได้จากการเอกซเรย์

นอกจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์ ทำ MRI ตรวจอัลตราซาวด์ แพทย์อาจสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจเลือดหรือน้ำข้อสะโพกในห้องแล็บ) เพื่อวินิจฉัยหรือแยกแยะภาวะอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดสะโพก เช่น การติดเชื้อ หรือโรคข้ออักเสบแบบอักเสบ ซึ่งก่อให้เกิดอาการคล้ายกับโรคข้อสะโพกเสื่อมได้เช่นกัน

ไม่ใช่แต่โรคข้อสะโพกเสื่อมที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บ ปวด ข้อติดแข็ง เคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่างลำบาก ยังมีโรคอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ 

การปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยจะช่วยให้พบสาเหตุที่แท้จริง และเมื่อทราบสาเหตุ ก็จะได้แก้ไขอาการเหล่านั้นอย่างตรงจุด 

ถ้าพบว่าเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ แม้ความเสื่อมที่เกิดขึ้นแล้วอาจไม่สามารถรักษาให้ย้อนกลับมาดีดังเดิมได้ แต่อย่างน้อยก็จะได้รีบปรับพฤติกรรมเพื่อชะลอความเสื่อมนั้น ช่วยให้ยืดระยะเวลาที่จะยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้ยาวนานออกไป หรือจะได้มีเวลาวางแผนปรับพฤติกรรม รวมถึงปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ให้รองรับภาวะสุขภาพที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

เคลื่อนไหวได้น้อยลง ตื่นมาแล้วรู้สึกข้อสะโพกติดๆ นั่งนานแล้วลุกลำบาก ถ้ากำลังยืนอยู่แล้วลงนั่งเร็วๆ บางทีมีเสียงกรอบแกรบ อยากเช็กให้ชัวร์ว่าเป็นข้อสะโพกเสื่อมหรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคข้อสะโพกเสื่อม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top