โรคข้อสะโพกเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ส่วนมากมักเกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามวัย อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดขึ้นในคนอายุน้อยได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากมีการบาดเจ็บบริเวณข้อสะโพกหรือมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ส่งผลต่อข้อ
การตรวจพบความเสื่อมของข้อสะโพกตั้งแต่ระยะแรก เมื่อความเสียหายยังไม่รุนแรง จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างเหมาะสม ทั้งในด้านการบรรเทาอาการเจ็บปวด และการชะลอการดำเนินของโรค ซึ่งจะช่วยยืดระยะเวลา ก่อนจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมออกไปได้
มาดู 4 ข้อสังเกตหลัก ที่บอกให้รู้ว่าคุณอาจกำลังเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม ดังนี้
สารบัญ
1. อาการเจ็บปวดที่บ่งบอกว่าเป็นข้อสะโพกเสื่อม
อาการเจ็บปวดที่บ่งบอกถึงโรคข้อสะโพกเสื่อม มักเกิดขึ้นบริเวณขาหนีบ โดยช่วงแรกอาจปวดร้าวไปถึงข้อเข่า แบบเป็นๆ หายๆ แล้วค่อยๆ เป็นบ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้งานข้อสะโพกมากกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกายหนัก เดินเยอะ ลงน้ำหนักที่ข้อสะโพก
อาการปวดที่มาจากข้อสะโพกเสื่อมมักดีขึ้นเมื่อนั่งหรือนอนพัก แต่แล้วจะกลับปวดขึ้นได้อีกเมื่อมีกิจกรรมที่ใช้ข้อสะโพกอีก
โรคข้อสะโพกเสื่อม มักไม่ก่อให้เกิดอาการชาหรือปวดร้าวลงไปถึงเท้า แต่อาการที่อาจเกิดร่วมกัน คือ ข้อสะโพกติดขัด ฝืด ซึ่งทำให้เคลื่อนไหวได้น้อยกว่าเดิม
2. เจ็บมากแค่ไหน? นานเท่าไหร่? ถึงควรไปพบแพทย์
โรคข้อสะโพกเสื่อม ยิ่งสังเกตพบความผิดปกติ ยิ่งพบแพทย์เร็ว ยิ่งมีทางเลือกในการบรรเทาให้อาการเหล่านั้นดีขึ้นได้มาก โดยถ้าพบตั้งแต่ระยะโรคยังไม่รุนแรง อาจบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำกายภาพบำบัด ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง หรือใช้ยาบรรเทาอาการปวด ร่วมกับตรวจติดตามโรคอย่างสม่ำเสมอ
แต่ถ้ามีอาการเจ็บปวดบริเวณขาหนีบ ก้น เข่า ขา อย่างรุนแรงจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ปวดจนเดินไม่ไหว นอนไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน หรือถ้าปวดไม่รุนแรง แต่ปวดอย่างต่อเนื่องเกิน 1 สัปดาห์ หรือแม้ว่าพบแพทย์แล้ว ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว แต่อาการกลับแย่ลง เหล่านี้ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง ไม่ควรรอให้อาการดีขึ้นเอง
3. สังเกตท่าทางผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อม
โรคข้อสะโพกเสื่อม คือ โรคที่กระดูกอ่อนที่หัวข้อสะโพกหรือเบ้าสะโพกบริเวณอุ้งเชิงกรานสึกกร่อน โดยการสึกกร่อนนี้มักเกิดขึ้นไม่เท่ากันในข้อสะโพกสองข้าง ส่งผลให้ท่าทางการเดินของผู้ป่วยเปลี่ยนไป เพราะขาสองข้างรับน้ำหนักได้ไม่เท่ากัน หรือถ้าเป็นระยะรุนแรงมาก อาจสังเกตพบว่าขาข้างหนึ่งยาวกว่าขาอีกข้าง โดยข้างที่สั้นจะเป็นด้านที่มีข้อสะโพกเสื่อม
ข้อสะโพกเสื่อมยังทำให้เกิดข้อติด ฝืด แข็ง ทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนจากท่ายืนเป็นนั่งได้ลำบาก หรือจากนั่งอยู่ก็จะลุกขึ้นยืนยากขึ้น โดยเฉพาะถ้าลุกจากเก้าอี้เตี้ยๆ หรือเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ผู้ป่วยอาจไม่สามารถลุกนั่งได้ทันที เนื่องจากข้อสะโพกติดแข็ง (ถ้ามีอาการนี้นานกว่า 30 นาที ควรพบแพทย์โดยด่วน)
นอกจากนี้อาการข้อติดยังอาจส่งผลต่อความสามารถในการนั่งกับพื้น เช่น คนเป็นข้อสะโพกเสื่อมมักนั่งพับเพียบไม่ได้ นั่งไขว่ห้างไม่ได้ หรือถ้านั่งขัดสมาธิ อาจกางขาได้ไม่สุด
4. เสียง อีกอาการที่ไม่ควรมองข้าม
ถ้าเดิน ลุก นั่ง หรือประกอบกิจกรรมอะไรก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวข้อสะโพก แล้วพบเสียงกรอบแกรบขณะเปลี่ยนท่า นั่นเป็นอีกอาการหนึ่งที่บ่งบอกว่าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม
โดยต้นเหตุของเสียงดังกล่าวมาจากกระดูกเสียดสีกัน จากที่ปกติกระดูกในร่างกายจะมีข้อต่อ ซึ่งประกอบด้วยกระดูกอ่อนและของเหลวหล่อเลี้ยงข้อต่อห่อหุ้มอยู่ เมื่อกระดูกอ่อนสึกกร่อนไปมากๆ จะทำให้เหลือชั้นห่อหุ้มกระดูกบางลง ร่วมกับร่างกายอาจสร้างกระดูกขึ้นมาทดแทน ทำให้เกิดภาวะกระดูกงอก นอกจากจะเกิดเสียงเมื่อกระดูกเสียดสีกันแล้ว ยังอาจมีความเจ็บปวดร่วมด้วย
อาการปวด เจ็บ ข้อติด ที่ส่วนล่างของร่างกายยังอาจบ่งบอกถึงโรคอื่นได้เช่นกัน เช่นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท อาการอันตรายของโรคเกี่ยวกับระบบประสาท คือ อาการชาร้าวลงขา ถ้าพบอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพราะอาจก่ออันตรายถึงขั้นสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว
ถ้ารู้สึกถึงความผิดปกติ แม้ดูแล้วไม่น่าเป็นข้อสะโพกเสื่อม ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง จะได้รักษาหรืออย่างน้อยบรรเทาอาการของโรคได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ข้อสะโพกที่เสื่อมแล้วส่วนใหญ่จะไม่กลับคืนมาดีเหมือนเดิมได้ ดังนั้นแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยระยะแรกๆ จึงมักมุ่งเน้นด้านบรรเทาอาการปวด โดยอาจเริ่มจากรักษาโดยไม่ผ่าตัด ร่วมกับให้ผู้ป่วยได้ฝึกปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น จำกัดการเคลื่อนไหวบางท่า หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง
ผู้ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมควรรีบไปพบแพทย์ และหากเป็นมาก จนส่งผลกระทบต่อการเดินไม่ควรไปสถานพยาบาลด้วยตนเอง ควรเรียกรถพยาบาลหรือให้คนใกล้ชิด เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มระหว่างทาง
เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ ควรแจ้งอาการแก่แพทย์ให้ครบถ้วน ถ้าอยู่ระหว่างการบรรเทาอาการปวดสะโพกด้วยตนเอง เช่น ใช้ยาหรืออาหารเสริมใดๆ อยู่ ควรนำไปสถานพยาบาลให้แพทย์ดูด้วย
ข้อสะโพกเสื่อม เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร ตรวจข้อสะโพกเสื่อมเจ็บไหม? อ่านข้อมูลที่ครบที่สุด เกี่ยวกับโรคข้อสะโพกเสื่อมได้ที่นี่ คลิกเลย
ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคข้อสะโพกเสื่อมใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคข้อสะโพกเสื่อม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย