วิธีรักษาโรคต้อกระจกที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันมีเพียงวิธีผ่าตัดวิธีเดียวเท่านั้น เพื่อคืนความคมชัดให้กับกระจกตา และทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยกลับมาคมชัดอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 เทคนิคการผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่ และการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
การผ่าตัดทั้ง 2 เทคนิคมีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งข้อดี ข้อจำกัด ผู้ที่เหมาะกับการผ่าตัดแต่ละเทคนิค รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น มาอ่านคำตอบกันในบทความนี้
1. ผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่
การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่ (Extracapsular cataract extraction: ECCE) เป็นการผ่าตัดรักษาโรคต้อกระจกแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก
จากนั้นผ่าเปิดแผลขนาดประมาณ 10 มิลลิเมตรที่กระจกตาหรือเยื่อหุ้มตาขาว แล้วดันเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นมัวออกมาทั้งชิ้นจนเหลือเพียงถุงหุ้มเลนส์ไว้ด้านหลัง ตามด้วยใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็งเข้าไปแทน แล้วเย็บปิดแผล
การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่จะใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็งได้เพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยมีคุณสมบัติช่วยปรับแก้การมองเห็นระยะไกลได้ ทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาสั้นมองเห็นภาพได้ชัดขึ้น แต่หากมีปัญหาสายตายาวและสายตาเอียงร่วมด้วย หลังผ่าตัดก็จำเป็นต้องพึ่งพาแว่นสายตาเพื่อช่วยในการมองเห็น
การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่เหมาะกับใคร
การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่จะนิยมใช้ในผู้ป่วยที่ต้อกระจกสุกและเนื้อแข็งมากแล้ว ทำให้ไม่สามารถใช้คลื่นเสียงความถี่สูงซึ่งเป็นเทคโนโลยีการรักษาสมัยใหม่ช่วยสลายและดูดเลนส์ตาธรรมชาติออกมาได้ นอกจากนี้ยังจะใช้ในกรณีที่สถานพยาบาลยังไม่มีเครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงด้วย
ข้อดีของการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่
- ช่วยให้ผู้ป่วยโรคต้อกระจกในระยะรุนแรงยังมีโอกาสหายจากโรคนี้ได้
- ใช้รักษาในกรณีสถานพยาบาลยังไม่มีเครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
- มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการผ่าตัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
ข้อจำกัดของการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่
เลนส์แก้วตาเทียมสำหรับผ่าตัดเปิดแผลใหญ่จะใช้ได้เพียงเลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็งเท่านั้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาสายตาได้เพียงระยะไกลเพียงระยะเดียว นอกจากนี้ยังเป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่า และมีโอกาสเจ็บแผลหรือความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มากกว่า
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่
- เนื่องจากขนาดแผลที่ค่อนข้างใหญ่จึงมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสายตาเอียงหลังผ่าตัดได้
- แผลผ่าตัดอักเสบ แต่มักเป็นเพียงชั่วคราวและรักษาได้ด้วยยาแก้อักเสบ
- ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น และอาจนำไปสู่การเกิดโรคต้อหินในภายหลัง
- ภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก เกิดจากเซลล์ในถุงหุ้มเลนส์เกิดการแบ่งตัวที่หนาขึ้นหลังผ่าตัด ทำให้เลนส์ตามีลักษณะขุ่นคล้ายกับกลับมาเป็นโรคต้อกระจกซ้ำอีก
- ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก ต้องผ่าตัดรักษาโดยทันที มิเช่นนั้นอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร แต่มีโอกาสพบได้น้อย
- ภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำ ทำให้การมองเห็นกลับมาพร่าเบลอ สามารถรักษาได้ด้วยยา แต่อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวจากภาวะนี้สักระยะ
- ภาวะฉีกขาดของถุงหุ้มเลนส์ด้านหลัง
- เลนส์แก้วตาเทียมเคลื่อนตัวไปจากตำแหน่งที่แพทย์ใส่ อาจต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อปรับตำแหน่งใหม่
ราคาของการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่
ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล
2. ผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือที่นิยมเรียกกันว่า “การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Phacoemulsification)” เป็นเทคนิคการผ่าตัดต้อกระจกสมัยใหม่ผ่านการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง หรือคลื่นอัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยในการนำเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นมัวออกมา ซึ่งถือเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะเริ่มจากการให้ยาชาเฉพาะที่ จากนั้นแพทย์จะเจาะเปิดแผลที่กระจกตาเป็นรูเล็กๆ ประมาณ 3 มิลลิเมตร แล้วสอดอุปกรณ์ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปสลายเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นมัวจนกลายเป็นชิ้นเล็กๆ
หลังจากนั้นแพทย์จะใช้อุปกรณ์ดูดชิ้นส่วนของเลนส์ตาธรรมชาติออกมา แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ในถุงหุ้มเลนส์ โดยชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้ผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่สูงจะเป็นเลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ซึ่งสามารถปรับแก้ค่าสายตาให้กับผู้ป่วยได้หลายระยะ รวมถึงปัญหาสายตาเอียง โดยจำแนกได้ดังนี้
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัสระยะเดียว (Monofocal IOLs) สามารถปรับแก้การมองเห็นระยะไกลให้คมชัด และมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับเลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ชนิดอื่นๆ
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบแก้ไขสายตาเอียง (Toric IOLs) ช่วยปรับแก้ปัญหาค่าสายตาเอียงโดยเฉพาะ แต่จะไม่ได้แก้ไขการมองเห็นระยะใกล้ กลาง หรือไกลไปด้วย
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัสระยะเดียว และแก้ไขสายตาเอียง (Monofocal Toric IOL) สามารถปรับแก้การมองเห็นระยะไกลให้คมชัด และช่วยแก้ปัญหาสายตาเอียง
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัสหลายระยะ (Multifocal IOL) สามารถปรับแก้การมองเห็นได้ 2-3 ระยะ ขึ้นอยู่กับการเลือกชนิดย่อยของเลนส์แก้วตาเทียมประเภทนี้ ซึ่งได้แก่
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 2 ระยะ ใกล้และไกล ส่วนระยะกลางจะยังมองเห็นไม่ชัด
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 2 ระยะ กลางและไกล ส่วนระยะใกล้จะยังมองเห็นไม่ชัด
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 3 ระยะ ใกล้ กลาง และไกล มองเห็นชัดทุกระยะ
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัสหลายระยะ และแก้ไขสายตาเอียง (Multifocal Toric IOL) สามารถแบ่งย่อยออกได้อีกคือ
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 2 ระยะ ใกล้และไกล พร้อมแก้ปัญหาสายตาเอียง
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 2 ระยะ กลางและไกล พร้อมแก้ปัญหาสายตาเอียง
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบโฟกัส 3 ระยะ ใกล้ กลาง และไกล พร้อมแก้ปัญหาสายตาเอียง จัดเป็นเลนส์แก้วตาเทียมที่แก้ไขปัญหาสายตาได้อย่างครอบคลุมที่สุด
ผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเหมาะกับใคร?
ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคต้อกระจก และอาการของโรคเริ่มส่งผลต่อคุณภาพการมองเห็น มักได้รับคำแนะนำให้ผ่าตัดด้วยคลื่นเสียงถี่สูง
เนื่องจากการผ่าตัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเป็นเทคนิคการผ่าตัดสมัยใหม่ที่ให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว นอกจากนี้ยังมีชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถเลือกให้ตอบโจทย์กับปัญหาค่าสายตาได้อย่างหลากหลาย
ยกเว้นแต่ผู้ป่วยโรคต้อกระจกในระยะที่ต้อสุกมากหรือเนื้อต้อแข็งมากแล้ว ในกรณีนี้แพทย์ก็อาจแนะนำให้ผ่าตัดด้วยเทคนิคเปิดแผลใหญ่แทน เนื่องจากเป็นระยะของโรคที่คลื่นอัลตราซาวด์ไม่สามารถสลายและดูดนำเลนส์ตาธรรมชาติออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อดีของการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
- แผลผ่าตัดเล็ก ทำให้ไม่จำเป็นต้องเย็บแผลหลังผ่าตัด และยังมีโอกาสเจ็บแผลน้อยกว่า และใช้เวลาฟื้นตัวของแผลเร็วกว่า
- ไม่จำเป็นต้องให้ยาชาแบบฉีด แต่สามารถใช้เพียงยาชาแบบหยอดก็เพียงพอ
- มีชนิดเลนส์แก้วตาเทียมให้เลือกได้หลากหลาย ช่วยแก้ปัญหาค่าสายตาได้อย่างครอบคลุมกว่า ช่วยลดโอกาสพึ่งพาการใส่แว่นสายตาได้มากขึ้น
- มีความปลอดภัยสูง โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
ข้อจำกัดของการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
- มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่
- ไม่สามารถรักษาในผู้ป่วยที่ต้อกระจกสุกมากหรือเนื้อต้อแข็งมากแล้วได้
ผลข้างเคียงของการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
- แผลผ่าตัดอักเสบ
- อาการคันตาหรือระคายเคืองแผล เป็นอาการที่พบได้เป็นปกติในช่วง 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด
- ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
- ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น
- เลนส์แก้วตาเทียมเคลื่อนตัวไปจากตำแหน่งที่แพทย์ใส่
ราคาของการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 35,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่แพทย์และผู้ป่วยเลือกใช้ซึ่งจะมีราคาแตกต่างกัน รวมถึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล
จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคต้อกระจกในปัจจุบันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด นอกจากนี้ยังช่วยแก้ไขปัญหาสายตาได้อย่างครอบคลุมขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจก ก็ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการผ่าตัดรักษาโดยทันที เพราะหากไม่รีบรักษาโรคสามารถพัฒนากลายเป็นโรคต้อหิน ซึ่งอาจทำให้คุณสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
เช็กการมองเห็นให้ชัว มองมัวๆ เบลอๆ แบบนี้เพราะเป็นต้อกระจกหรือไม่ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคต้อกระจก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย