cervical cancer screening process scaled

รวม 6 วิธีตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจเพื่ออะไร ขั้นตอนเป็นยังไง

รู้ไหม? ทุกๆ 2 นาที จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูก 1 คน! 

โรคมะเร็งปากมดลูกคือ โรคที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย และเป็นอันดับที่ 4 ของผู้หญิงทั่วโลก โดยแต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึง 600,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละ 340,000 ราย เท่ากับว่าทุกๆ 2 นาทีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเสียชีวิต 1 คน

ดังนั้นมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นโรคที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้าม และควรหมั่นตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการป่วย และเพิ่มอัตราการรอดชีวิต โดยวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกมีหลากหลายวิธีที ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมทุกวิธีเอาไว้ให้แล้ว

1. การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจภายใน

การตรวจภายใน เป็นวิธีตรวจมาตรฐานที่ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำ โดยแพทย์มักแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 30 ขึ้นไป หรือผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว เข้ารับการตรวจปีละ 1 ครั้ง

การตรวจภายในจะนี้ เป็นการตรวจทางนรีเวชที่ช่วยให้แพทย์มองเห็นโครงสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงได้ด้วยตาเปล่า พร้อมเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อที่ปากมดลูกเพื่อส่งตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกได้ด้วย

การตรวจภายในโดยส่วนมากใช้เวลาไม่เกิน 15-30 นาที มีขั้นตอนการตรวจดังต่อไปนี้

  • ผู้รับบริการเปลี่ยนเป็นชุดสำหรับตรวจภายในของสถานพยาบาล
  • ผู้รับบริการขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง แยกขาออก 2 ข้าง พยายามไม่เกร็งและให้ปล่อยตัวตามสบาย 
  • แพทย์ใช้อุปกรณ์ Speculum ซึ่งมีลักษณะคล้ายปากเป็ด สอดขยายปากช่องคลอด เพื่อให้เห็นปากมดลูก
  • แพทย์ตรวจภายในด้วยเปล่า จากนั้นจะสอดนิ้ว 2 นิ้ว เข้าไปคลำตรวจภายในช่องคลอด และกดท้องน้อยเบาๆ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับมดลูก ปีกมดลูก และรังไข่
  • โดยมากแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเซลล์ที่ปากมดลูกและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย กระบวนการตรวจนี้เรียกว่า การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ การตรวจตินแพร็พ (Thin Prep) เป็นการเก็บตัวอย่างเซลล์เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก
  • ผู้รับบริการเปลี่ยนเสื้อผ้าและเดินทางกลับบ้านได้เลย หรือในบางสถานพยาบาลก็อาจแจ้งให้อยู่รอฟังผลตรวจแปปสเมียร์ได้เลยในวันเดียวกัน

2. การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยตรวจแปปสเมียร์

การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) คือการป้ายเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกและนำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกได้ มักตรวจควบคู่ไปกับการตรวจภายใน โดยส่วนมากใช้เวลาไม่เกิน 2-3 นาที มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

  • ผู้เข้ารับบริการเปลี่ยนเป็นชุดสำหรับตรวจภายในของสถานพยาบาล
  • ผู้เข้ารับบริการขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง และแพทย์สอดอุปกรณ์ Speculum สำหรับขยายปากช่องคลอด
  • แพทย์ตรวจภายในด้วยตาเปล่าและคลำตรวจความผิดปกติภายในช่องคลอด
  • แพทย์ใช้อุปกรณ์คล้ายกับไม้พายเล็ก สอดเข้าไปยังปากมดลูก และป้ายผิวบริเวณดังกล่าวเบาๆ เพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อที่ปากมดลูก โดยส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ
  • แพทย์นำไม้พายป้ายลงกับแผ่นสไลด์
  • นำแผ่นสไลด์ไปย้อมสีและตรวจภายในห้องปฏิบัติการ

cervical cancer screening process 02 scaled

3. การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจตินแพร็พ

การตรวจตินแพร็พ (ThinPrep) เป็นการตรวจโรคมะเร็งปากมดลูกที่นิยมทำควบคู่กับการตรวจภายในเช่นกัน และมักถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกับการตรวจแปปสเมียร์ เนื่องจากมีขั้นตอนการตรวจที่คล้ายกัน แต่การตรวจตินแพร็พจะให้ผลตรวจที่รวดเร็ว แม่นยำ และละเอียดกว่าการตรวจแปปสเมียร์ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ผู้เข้ารับบริการเปลี่ยนเป็นชุดสำหรับตรวจภายในของสถานพยาบาล
  • ผู้เข้ารับบริการขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง และแพทย์สอดอุปกรณ์ Speculum สำหรับขยายปากช่องคลอด
  • แพทย์ตรวจภายในด้วยตาเปล่าและคลำตรวจความผิดปกติภายในช่องคลอด และอาจตรวจแปปสเมียร์ก่อน
  • แพทย์ใช้อุปกรณ์คล้ายกับแปรงขนาดเล็ก สอดเข้าป้ายเก็บเซลล์เนื้อเยื่อที่ปากมดลูก
  • แพทย์นำแปรงที่เก็บเซลล์ แช่ไว้ในกระบอกน้ำยารักษาเซลล์ เพื่อคัดแยกเซลล์ออกจากสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ 
  • แพทย์นำกระบอกใส่น้ำยารักษาเซลล์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

4. การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจ HPV DNA

การตรวจ HPV DNA คือ การตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูก และมักพัฒนากลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก

ปัจจุบันนิยมแนะนำให้ตรวจควบคู่ไปกับการตรวจแปปสเมียร์หรือการตรวจตินแพร็พ เพื่อให้ผลตรวจมีความแม่นยำมากขึ้น

กระบวนการตรวจ HPV DNA จะคล้ายกับการตรวจตินแพร็พแทบทุกประการ โดยรวมใช้เวลาไม่เกิน 2-3 นาที มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ผู้เข้ารับบริการเปลี่ยนเป็นชุดสำหรับตรวจภายในของสถานพยาบาล
  • ผู้เข้ารับบริการขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง และแพทย์สอดอุปกรณ์ Speculum สำหรับขยายปากช่องคลอด
  • แพทย์ตรวจภายในด้วยตาเปล่าและคลำตรวจความผิดปกติภายในช่องคลอด และอาจตรวจแปปสเมียร์กับตรวจตินแพร็พให้เรียบร้อยก่อน 
  • แพทย์ใช้แปรงขนาดเล็กสอดเข้าเก็บตัวอย่างเซลล์ที่ปากมดลูกและช่องคลอดด้านใน 
  • แพทย์นำแปรงออกมาหมุนแกว่งเพื่อปล่อยเซลล์ลงในกระบอกน้ำยารักษาเซลล์
  • ส่งกระบอกใส่น้ำยาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

5. การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการส่องกล้องปากมดลูก

การส่องกล้องปากมดลูก (Colposcopy) เป็นการใช้กล้องส่องตรวจบริเวณปากมดลูก เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เยื่อบุผิวที่ปากมดลูก นิยมตรวจในกรณีที่แพทย์ตรวจพบการติดเชื้อไวรัส HPV แล้ว หรือผลตรวจภายใน ผลตรวจแปปสเมียร์ หรือตินแพร็พพบความผิดปกติเกิดขึ้น มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ผู้เข้ารับบริการเปลี่ยนเป็นชุดสำหรับตรวจภายในของสถานพยาบาล
  • ผู้เข้ารับบริการขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง และแพทย์สอดอุปกรณ์ Speculum สำหรับขยายปากช่องคลอด
  • แพทย์ป้ายน้ำยาพิเศษบริเวณปากมดลูกและช่องคลอด และรอประมาณ 1 นาที
  • แพทย์ใช้กล้องขนาดเล็ก ส่องตรวจผิวบริเวณปากกมดลูกที่ทำปฏิกิริยากับน้ำยา ซึ่งจะทำให้เห็นเซลล์ที่ผิดปกติชัดเจนขึ้น
  • ในบางรายอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย
  • หลังตรวจเสร็จ จะให้ผู้รับบริการนอนพักประมาณ 10 นาที และกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน

6. การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก

การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก เป็นการตรวจสำหรับผู้ที่พบความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว หรือผลตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ผลตรวจแปปสเมียร์ หรือตินแพร็พ ยังไม่แน่ชัดพอ

นอกจากนี้การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก ยังเป็นการทำหัตถการเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะก่อนเป็นโรคมะเร็งได้ โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ตัดนำชิ้นเนื้อส่วนที่พบรอยโรคทั้งหมด รวมไปถึงขอบชิ้นเนื้อส่วนที่ไม่พบความผิดปกติออก

การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกเป็นการทำหัตถการที่ไม่ต้องค้างคืนที่โรงพยาบาล ใช้ระยะเวลาประมาณ 30-40 นาที มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • แพทย์ระงับความรู้สึกผู้รับบริการ โดยสามารถเลือกได้ระหว่างการฉีดยาชากับการให้ยาสลบ
  • แพทย์ทำความสะอาดช่องคลอดและปากมดลูก
  • แพทย์ใช้อุปกรณ์ เช่น  เช่น ใบมีด ห่วงไฟฟ้า เลเซอร์กำลังสูง ตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • นอนพักดูอาการประมาณ 2 ชั่วโมง และสามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย

จะเห็นได้ว่า การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูกนั้นทำได้หลายวิธี ใช้เวลาตรวจไม่นาน ไม่ซับซ้อน และวิธีการตรวจคัดกรองเบื้องต้นส่วนใหญ่มักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บอย่างที่หลายคนอาจกังวล 

ดังนั้นหากคุณอยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสม ก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ หรือมีอีกวิธีที่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายๆ คือการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันได้สูงถึง 90% ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้มาก

อยากเช็กให้ชัวร์ ว่าอาการแบบนี้เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ตรวจภายใน หรือฉีดวัคซีน HPV ราคาดี จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top