Default fallback image

5 วิธีตรวจตาคัดกรองโรคต้อกระจก

โรคต้อกระจก เป็นโรคที่ทำให้การมองเห็นบกพร่องไปจากเดิม โดยผู้ป่วยจะมองเห็นพร่าเบลอ เกิดภาพซ้อน และหากไม่รีบรักษา โรคก็สามารถลุกลามจนกลายเป็นโรคต้อหิน จนผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้

แล้วถ้าอยากตรวจตัดกรองโรคต้อกระจก การตรวจที่จำเป็นมีอะไรบ้าง ติดตามอ่านได้ในบทความนี้

1. ตรวจวัดสายตา

การตรวจวัดสายตาเป็นการตรวจพื้นฐานของการตรวจสุขภาพตา เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาในแต่ละบุคคล แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยในการวินิจฉัยโรคต้อกระจกได้ด้วย เพราะหนึ่งในสัญญาณสำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีปัญหาสายตาสั้นอย่างรวดเร็ว โดยการตรวจวัดสายตาจะประกอบไปด้วยการตรวจหลักๆ 3 อย่าง ได้แก่

  • การตรวจระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test) โดยผู้ป่วยจะต้องปิดตาทีละข้าง และอ่านแผนภูมิตัวอักษรหรือตัวเลขที่เรียงจากขนาดใหญ่ไปเล็กทั้งหมด 8 บรรทัด
  • การวัดลานสายตา (Visual Field) เป็นการตรวจเพื่อดูความกว้างของพื้นที่ที่ดวงตาของผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้ ปัจจุบันสามารถตรวจได้หลายวิธี เช่น ตรวจผ่านการสังเกตดูวัตถุด้านข้างสายตา หรือตรวจผ่านการกดปุ่มเมื่อเห็นแสงไฟที่เครื่องตรวจ จากนั้นเครื่องวัดลานสายตาจะแปรผลออกมาให้เจ้าหน้าที่หรือแพทย์อ่านอีกครั้ง
  • การวัดค่าสายตา (Refraction) เพื่อประเมินความผิดปกติของค่าสายตาซึ่งส่งผลต่อความคมชัดในการมองเห็น ผ่านการนั่งอ่านภาพ ตัวอักษร หรือตัวเลขด้วยแผ่นเลนส์จากเครื่อง Phoropter ซึ่งจะมีช่องวงกลมที่สามารถเปลี่ยนแผ่นเลนส์สายตาให้ใกล้เคียงกับปัญหาความคมชัดในการมองเห็นของผู้ป่วยแต่ละราย คล้ายกับการใส่แว่นจำลองและนั่งอ่านข้อมูลสิ่งที่เห็นในเจ้าหน้าที่ทราบ

2. การตรวจความดันลูกตา

การตรวจความดันลูกตาอาจไม่เกี่ยวข้องกับโรคต้อกระจกโดยตรง แต่ก็จัดเป็นอีกรายการตรวจตาที่สำคัญ และแพทย์อาจแนะนำให้รับการตรวจไปด้วย เนื่องจากความดันลูกตาที่สูงผิดปกติอาจเป็นสัญญาณสำคัญของการเกิดโรคต้อหิน ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากโรคต้อกระจกในระยะรุนแรง

โดยวิธีตรวจความดันลูกตาในปัจจุบันจะนิยมใช้เป็นการตรวจกับเครื่อง Pneumotonometer เพียงผู้ป่วยวางใบหน้าลงกับที่วางคางของเครื่อง จากนั้นเครื่องจะเป่าลมใส่ลูกตาของผู้ป่วย และวัดค่าความดันลูกตาออกมาให้แพทย์อ่านผลต่อไป

3. ตรวจตาด้วยกล้องจักษุจุลทรรศน์

การตรวจตาด้วยกล้องจักษุจุลทรรศน์ (Slit Lamp Examination) เป็นการตรวจดูโครงสร้างทั้งภายในและภายนอกของดวงตาแบบ 3 มิติ ผ่านกล้องกำลังขยายสูงชนิดลำแสงแคบ มีขั้นตอนการตรวจที่ง่ายๆ เพียงผู้ป่วยวางใบหน้าลงกับที่วางคางของเครื่อง ให้หน้าผากแนบชิดกับแถบของเครื่องตามจุดที่กำหนด จากนั้นแพทย์จะใช้คันบังคับในการควบคุมลำกล้องของเครื่องเพื่อตรวจตำแหน่งต่างๆ ของดวงตา เช่น

  • ผิวหนังรอบดวงตา
  • เปลือกตาหรือขนตา
  • เนื้อเยื่อใต้เปลือกตา
  • เยื่อบุตาขาว
  • ความใสของกระจกตา 
  • ม่านตา 
  • รูม่านตา
  • เลนส์ตา
  • จอประสาทตา

4. ตรวจตาผ่านการขยายรูม่านตา

การขยายรูม่านตาและตรวจดูโครงสร้างภายในดวงตา เป็นอีกการตรวจที่จะช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติภายในดวงตาได้อย่างละเอียด โดยสามารถตรวจดูได้ทั้งสภาพจอประสาทตา ความใสของวุ้นลูกตา รวมถึงความใสของเลนส์ตาซึ่งบ่งชี้ถึงการเป็นโรคต้อกระจก

นอกจากนี้การตรวจตาหลังการขยายรูม่านตาแล้ว ยังช่วยให้แพทย์วางแผนการผ่าตัดเกี่ยวกับดวงตาได้อย่างแม่นยำขึ้น รวมถึงการผ่าตัดต้อกระจกด้วย

ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการขยายรูม่านตาก่อนการตรวจ เนื่องจากตรวจดูโครงสร้างภายในดวงตาจะต้องมีการใช้แสงไฟส่องที่ดวงตาผู้ป่วย ซึ่งโดยปกติเมื่อรูม่านตาสัมผัสแสงสว่างจะหดเล็กลงอัตโนมัติ ทำให้แพทย์ตรวจดูสภาพภายในดวงตาได้ยาก เลยจำเป็นต้องหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อเปิดรูม่านตาให้กว้างค้างไว้ก่อน

ขั้นตอนการตรวจตาผ่านการหยอดยาขยายรูม่านตานั้น แพทย์จะหยอดยาขยายรูม่านตาให้ผู้ป่วยเป็นระยะๆ ทุก 5-10 นาที ระหว่างนั้นให้ผู้ป่วยหลับตาไว้ จากนั้นผ่านไปประมาณ 30-45 นาที ยาจะออกฤทธิ์เต็มที่จนทำให้รูม่านตาขยาย และแพทย์จะใช้อุปกรณ์เลนส์ขยายพิเศษส่องผ่านรูม่านตาเข้าไปตรวจหาความผิดปกติของตาผู้ป่วย

ยาขยายรูม่านตามักจะออกฤทธิ์นานถึง 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นหลังตรวจตาเสร็จสิ้น ผู้ป่วยจะยังมองเห็นพร่าเบลออยู่ ดังนั้นในวันที่ตรวจตาจึงจำเป็นต้องพาญาติมาด้วยเพื่อพาเดินทางกลับบ้าน

5. การตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่อง OCT

เนื่องจากโรคต้อกระจกสามารถลุกลามจนกลายเป็นโรคต้อหิน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ดังนั้นแพทย์จึงอาจรวมรายการตรวจนี้ไว้อยู่ในกระบวนการตรวจโรคต้อกระจกด้วย เพื่อหาที่เป็นสัญญาณของโรคต้อหิน

เครื่อง OCT หรือเครื่อง Optical Coherence Tomography เป็นเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตาในลักษณะภาพตัดขวางด้วยพลังงานเลเซอร์ มีความละเอียดในการตรวจวินิจฉัยดวงตาถึง 10-15 ไมครอน (1 ไมครอน = 1/100 มิลลิเมตร)

นอกจากนี้กระบวนการตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่อง OCT ยังมีความเรียบง่าย ผู้ป่วยไม่ต้องหยอดยาขยายรูม่านตา หรือใช้อุปกรณ์ใดๆ สัมผัสดวงตาเลย เพียงวางใบหน้าลงกับที่วางคางของเครื่อง และแพทย์จะใช้เครื่องส่องตรวจดูดวงตาทีละข้าง ใช้เวลาตรวจประมาณ 5 นาทีก็เสร็จสิ้น

จริงๆ แล้วการตรวจสุขภาพตาควรทำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคต้อกระจก ควรเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพราะยิ่งตรวจพบเร็ว ขั้นตอนการรักษาก็ง่ายว่า

อยากหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคต้อกระจก ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคต้อกระจก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top