อยู่ๆ ก็คลำเจอก้อนบริเวณข้อมือ เริ่มรู้สึกปวดตื้อๆ หรือชาขณะขยับข้อมือ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคถุงน้ำที่ข้อมือ” หรือ Ganglion Cyst ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยกว่าที่คิด และแม้จะไม่ใช่เนื้องอกมะเร็งที่อันตราย แต่ก็สร้างความรำคาญและบางครั้งก็รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก มาดูกันว่าถ้ามีอาการแบบนี้ จะมีวิธีตรวจอย่างไร และขั้นตอนการรักษามีอะไรบ้าง
สารบัญ
โรคถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst) คืออะไร?
ถุงน้ำที่ข้อมือ คือก้อนที่เกิดจากการสะสมของของเหลวลักษณะคล้ายวุ้นหรือเจลลี่ ภายในบริเวณข้อต่อหรือปลอกหุ้มเส้นเอ็น มักพบบ่อยที่สุดที่ข้อมือหรือมือ รองลงมาคือข้อเท้าและเท้า
ลักษณะทั่วไปของถุงน้ำที่ข้อมือ
- รูปร่าง: ก้อนกลมหรือรี มีขนาดตั้งแต่เล็กจนบางครั้งคลำไม่เจอ ไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าเหรียญบาทหรือมากกว่านั้น
- สัมผัส: ส่วนใหญ่นิ่มบ้าง แข็งบ้าง ขึ้นอยู่กับความตึงของของเหลวภายใน
- การเคลื่อนไหว: ก้อนสามารถขยับได้เล็กน้อยใต้ผิวหนัง
- ความรู้สึก: อาจไม่เจ็บ แต่บางครั้งกดหรือขยับข้อมือจะรู้สึกปวด ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
อาการหลักที่พบ ได้แก่
- มีก้อนขึ้นบริเวณข้อมือหรือมือที่สามารถคลำได้
- ก้อนมีขนาดเปลี่ยนแปลงได้ตามการใช้งานข้อมือ เช่น เมื่อใช้ข้อมือมาก ก้อนจะโตขึ้น เมื่อพักการใช้งาน ก้อนอาจเล็กลง
- เจ็บ ปวดตื้อๆ หรือรู้สึกชา หากก้อนกดทับเส้นประสาท
- ขยับข้อมือแล้วรู้สึกติดขัด ไม่คล่องตัว
ข้อควรรู้: ถุงน้ำที่ข้อมือไม่ใช่มะเร็ง และโดยทั่วไปไม่แพร่กระจายไปที่อื่น แต่หากก้อนมีลักษณะผิดปกติ เช่น โตเร็ว แข็งผิดปกติ หรือเจ็บมาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยถุงน้ำที่ข้อมือ
- การตรวจร่างกายเบื้องต้น แพทย์จะคลำก้อนเพื่อประเมินขนาด ลักษณะ และความเคลื่อนไหว อาจมีการฉายแสงไฟส่องก้อน (Transillumination) หากเป็นถุงน้ำ มักจะมองเห็นแสงผ่านได้บางส่วน
- การตรวจด้วยเครื่องมือ
- X-ray: ช่วยตรวจสอบว่ามีปัญหาข้อเสื่อม เนื้องอกกระดูก หรือความผิดปกติของกระดูกอื่นๆ หรือไม่ แต่ไม่สามารถมองเห็นถุงน้ำโดยตรงจากภาพเอกซเรย์ได้
- Ultrasound: ใช้ตรวจว่าก้อนที่พบเป็นของเหลว เช่น ถุงน้ำ หรือเป็นก้อนเนื้อแข็ง นอกจากนี้ยังช่วยยืนยันได้ว่าก้อนที่คลำเจอเป็นถุงน้ำจริงหรือไม่
- MRI: ใช้ในกรณีที่ต้องการดูรายละเอียดโครงสร้างภายในอย่างละเอียด เช่น หากสงสัยว่าก้อนที่พบอาจไม่ใช่ถุงน้ำธรรมดา แต่อาจเป็นก้อนเนื้อชนิดอื่น การทำ MRI จะช่วยแยกแยะได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- การเจาะดูดตัวอย่าง (Aspiration/Biopsy) ใช้เข็มเจาะเข้าไปในก้อนเพื่อดูดของเหลวออกมา จากนั้นนำของเหลวไปตรวจลักษณะเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันว่าก้อนนั้นเป็นถุงน้ำ ไม่ใช่ก้อนเนื้อชนิดอื่น
การรักษาถุงน้ำที่ข้อมือ
โรคถุงน้ำที่ข้อมือ ไม่จำเป็นต้องรักษาเสมอไป เพราะหากก้อนไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันแพทย์อาจแนะนำให้เฝ้าดูอาการ และบางครั้งก้อนก็สามารถยุบลงเองได้ แต่หากก้อนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จำเป็นต้องรักษา โดยแนวทางการรักษามีดังนี้
- การใช้ยาต้านการอักเสบ เพื่อลดอาการบวมและปวด
- การใส่เฝือกดามข้อมือ ลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ ทำให้ก้อนมีขนาดเล็กลง
- การเจาะดูดของเหลว (Aspiration) โดยใช้เข็มดูดน้ำออกจากก้อน บางรายแพทย์อาจฉีดยาสเตียรอยด์ร่วมด้วย แต่ก้อนมีโอกาสกลับมาได้อีก
- การผ่าตัด (Ganglionectomy) ใช้ในกรณีก้อนกลับมาเรื่อยๆ หรือกดเบียดเส้นประสาทจนปวดมาก ผ่าตัดเอาถุงน้ำและรากที่เชื่อมต่อกับข้อมือออกทั้งหมด ลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ
ถุงน้ำที่ข้อมือ ถ้าไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น?
หากก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น กดเบียดเส้นประสาท หรือทำให้ขยับมือยาก ควรเข้ารับการรักษา ไม่เช่นนั้นอาจส่งผล ดังต่อไปนี้
- ปวดเรื้อรัง
- ข้อมือเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่
- กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
-
- ก้อนโตเร็วผิดปกติ
- ปวดมากหรือชา
- ก้อนมีสีแดง อักเสบ หรือร้อน
- ขยับข้อมือไม่ได้เหมือนเดิม
แม้ว่าถุงน้ำที่ข้อมือจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่การได้รับการตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต และทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ต้องกังวล
สัญญาณมาครบ อยากตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคถุงน้ำที่ข้อมือ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย