วิธีแก้อาการเหมือนยาติดคอ หลอดลม ทำอย่างไร ?

อาการเหมือนมียาติดคอหรือหลอดลมสร้างความไม่สบายใจและอาจทำให้หลายคนกังวล แม้ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือกลืนลำบากได้ การรู้วิธีแก้อาการอย่างถูกต้องจะช่วยบรรเทาอาการได้รวดเร็วและปลอดภัย

ยาติดคอ แก้ปัญหาอย่างไร ?

  • ดื่มน้ำอุ่นตามทันที ช่วยให้ยาลื่นลงหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น อาจผสมน้ำผึ้งเพื่อลดอาการระคายเคือง
  • กลืนอาหารนุ่มๆ เช่น กล้วย ขนมปัง หรือข้าวสวยคำเล็กๆ เพื่อดันยาให้หลุด
  • ลุกขึ้นยืนหรือนั่งตัวตรง หลีกเลี่ยงการนอนราบขณะกลืนยา
  • ไอเบาๆ กระตุ้นให้ยาเคลื่อนลงไป
  • ยาอมแก้เจ็บคอ อาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในลำคอได้
  • สังเกตอาการ หากยังเจ็บ แน่นคอ หรือไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที

หากพบปัญหายาติดคอบ่อย ควรกลืนยาพร้อมน้ำปริมาณมาก นั่งตัวตรงขณะรับประทานยา

หากเป็นยาเม็ดหรือแคปซูลขนาดใหญ่ สามารถแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเปลี่ยนรูปแบบยาที่เหมาะสม เช่น ยาน้ำหรือยาชนิดเม็ดที่เคี้ยวได้ โดยเฉพาะผู้ทานยาที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ควรเลี่ยงการทานยาเม็ดใหญ่

วิธีแก้อาการเหมือนยาติดคอ ทำอย่างไร ?

ยาแคปซูลติดคอ ยาเม็ดติดคอ แบ่งเป็นหลายกรณี วิธีแก้จะแตกต่างกัน

  • กล้ามเนื้อหดเกร็ง: ความเครียดหรือวิตกกังวลอาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอหดเกร็ง ทำให้รู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ หากกังวลอาจดื่มน้ำตามเพื่อลดความระคาย
  • ระคายเคือง: ยาบางชนิดอาจระคายเคืองหลอดอาหาร ทำให้รู้สึกแสบร้อนหรือเหมือนมีอะไรติดอยู่ อาจลดอาการด้วยการใช้ยาอม
  • กรดไหลย้อน: กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อน แน่นหน้าอก และรู้สึกเหมือนมีอะไรติดคอ ต้องลดอาการกรดไหลย้อนด้วยการทานอาหารอ่อน หรือ เลี่ยงการทานของมัน ทอด รสจัด

ยาติดคอจะละลายไหม ?

ยาที่ติดคอ ส่วนใหญ่สามารถละลายได้เอง โดยเฉพาะยาชนิดเม็ดหรือแคปซูลที่ออกแบบมาให้ละลายในระบบทางเดินอาหาร แต่การละลายอาจทำให้เกิดความรู้สึกระคายเคืองที่ลำคอได้ชั่วคราว

ยาติดหลอดลมได้ไหม ?

โดยทั่วไป ยาติดหลอดลมได้ยากมาก เพราะร่างกายมีกลไกป้องกัน เช่น การทำงานของฝาปิดกล่องเสียง (Epiglottis) ที่จะปิดหลอดลมอัตโนมัติในขณะกลืนอาหารหรือยา เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในหลอดลม

บางกรณียาสามารถติดหลอดลมได้ เช่น กลืนยาเร็วเกินไป สำลักยา หรือ ผู้สูงอายุที่มีโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อส่วนการกลืน

อาการยาหลุดเข้าหลอดลม จะแสดงอาการค่อนข้างรุนแรงจนเห็นได้ชัด เช่น ไอต่อเนื่อง หายใจติดขัด มีเสียงจากลำคอ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก

หากสงสัยว่ายาหรือสิ่งแปลกปลอมติดในหลอดลม ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจและรักษา ซึ่งช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

คำถามจากผู้ใช้บริการ HDmall

มีอาการเหมือนยาติดคอค่ะ เมื่อคืนกินยาแคปซูลเข้าไป พอตื่นเช้ามาเจ็บหน้าอก เหมือนมีอะไรติดคอ กินข้าวแล้วรู้สึกเหมือนมีอะไรมาขัดๆ ที่คอ เป็นอะไรไหมคะ รุนแรงไหมคะ?

จริงๆ แล้วหลอดอาหารของเราจะมีการบีบตัวเพื่อไล่อาหารหรือยาที่กลืนลงไปอยู่แล้วค่ะ หมอคิดว่ายาไม่น่าจะติดอยู่ในลำคอนะคะ แต่อาจเป็นความรู้สึกของเราเองค่ะ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่วัตถุมีคม แบตเตอรี่ หรือถ่านนาฬิกา โดยมากจะไม่ติดและสามารถผ่านทางเดินอาหารไปได้ ไม่ต้องกังวลนะคะ ยาเกือบทุกชนิดมีขนาดที่สามารถผ่านหลอดอาหารได้สบายๆ หากไม่มั่นใจ อาจลองกลืนข้าวหรือน้ำตามลงไปก็ได้ค่ะ
ตอบโดย พญ. อนรรฆวี ฉง

สำหรับสิ่งแปลกปลอมที่รับประทานไป อาจมีโอกาสติดในทางเดินอาหารได้ เช่น บริเวณโคนลิ้น ต่อมทอนซิล ฝาปิดกล่องเสียง หรือหลอดอาหาร แต่โดยปกติร่างกายมีกลไกการบีบตัวของหลอดอาหาร (Peristalsis) ที่ช่วยไล่วัตถุลงไป จึงไม่น่าเป็นห่วง ยกเว้นวัตถุที่มีลักษณะแหลมคม หรือวัตถุอันตราย เช่น สารเคมี ซึ่งในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเอ็กซเรย์ดูตำแหน่งที่ติด

เบื้องต้น หากไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ แนะนำให้กลืนอาหารและดื่มน้ำตาม อาหารที่ช่วยบรรเทาอาการ เช่น อาหารที่มีลักษณะเหนียวหรือมีกากใย ได้แก่ กล้วย ข้าวเหนียว ขนมปัง เมล็ดถั่ว หรือมาร์ชเมลโล่ เป็นต้นค่ะ
ตอบโดย พญ. นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์

กินยาแล้วนอนเป็นกดไหลย้อนได้ไหม รู้สึกเหมือนมีอะไรติดคอตอนนอน หรือยาติดหลอดอาหาร ?

ยาติดหลอดอาหารเป็นไปได้ยาก น่าจะเป็นกรดไหลย้อน ลองแก้กรดไหลย้อนด้วยการปรับวิธีทานอาหาร เลี่ยงอาหารรสจัด การทานอาหารก่อนนอน ดูค่ะ

อาการกรดไหลย้อน

  • อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย
  • มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอร่วมกับน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมา จนทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหาร เช่น หลอดอาหารอักเสบ มีเลือดออก กลืนติด หรือกลืนลำบาก
  • ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ และอาเจียนหลังรับประทานอาหาร
  • เจ็บหน้าอก รู้สึกจุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมบ่อยๆ
  • หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ และเจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดไหลย้อนขึ้นมาถึงบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ

ตอบโดย พญ. อนรรฆวี ฉง


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top