ลมพิษตอนกลางคืน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร ?

ลมพิษขึ้นเฉพาะตอนกลางคืน ทุกวัน หาสาเหตุไม่พบ กินยาก็ไม่ได้ผล ควรรับมือกับผื่นคันที่กวนใจนี้อย่างไรดี กรณีแบบไหนถึงควรรีบไปพบแพทย์ มาฟังคำตอบจากแพทย์กันค่ะ

ลืมพิษตอนกลางคืน เกิดจากอะไร

เป็นลมพิษมา 3 เดือนกว่าแล้วค่ะ เป็นวันเว้นวัน มักเป็นตอนกลางคืน สังเกตตัวเองอยู่นะคะ บางวันไม่ได้ทานอะไรลมพิษก็ขึ้น ทานแค่ข้าวเปล่าๆ อย่างเดียวลมพิษก็ยังขึ้น สรุป ไม่รู้ว่าทำไมลมพิษยังขึ้นอยู่ค่ะ เพราะอะไรมันถึงเป็นแบบนี้ และค่ารักษาประมาณเท่าไหร่คะ ?

โรคผื่นลมพิษ มี 2 ชนิดค่ะ คือ แบบที่เรื้อรัง (เป็นมานานกว่า 6 สัปดาห์) และแบบ เฉียบพลัน (น้อยกว่า 6 สัปดาห์)

สำหรับชนิดเรื้อรังที่คนไข้กำลังเป็นนะคะ มีสาเหตุ คือ

  1. การติดเชื้อเช่นกัน เช่น virus EBV
  2. autoimmune disease (ภูมิคุ้มกันตนเองมีมากเกินไป)
  3. ลมพิษที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เช่น ลมพิษจากความเย็น จะเกิดเมื่ออยู่ในที่เย็นหรือสัมผัสความเย็น, ลมพิษจากการขูดขีดผิวหนัง เป็นต้นค่ะ

โดยส่วนใหญ่ ลมพิษเรื่อรัง มักจะรักษาตามอาการค่ะ หลักๆคือการใหยากลุ่ม antihistamine ค่ะ (ซึ่งโดยทั่วไป จะเริ่มจากลองให้น้อยๆก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นก็จะปรับโดสขึ้นไป 2-4 เท่า ของโดสปกติและต้องกินยาสม่ำเสมอเพื่อควบคุมอาการค่ะ)

มียาอื่นๆ อีกหลายชนิด ที่จะใช้รักษาโรคลมพิษเรื้อรังค่ะ แต่ต้องให้ภายใต้ความดูแลของผุ้เชี่ยวชาญเท่านั้นค่ะ

ถ้าคนไข้ต้องการตรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุหรือสิ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ แนะนำพบอายุรแพทย์โรคภูมิแพ้หรือแพทย์ หูคอจมูก โรคภูมิแพ้ หรือคุณหมอด้านผิวหนังค่ะ

ถ้าเป็น รพ รัฐบาลรัษาตามสิทธิ มักไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นมีการเจาะเลือด หรือให้ยานอกบัญชียาหลักค่ะ ถ้าเอกชน ค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน ขึ้นกับการใช้ยา ซึ่งมีราคาหลากหลายตั้งแต่หลักสิบ ไปจนถึงเม็ดละหลักร้อยค่ะ และโรคนี้ต้องใช้การตรวจติดตามระยะยาวค่ะ อาจจะบอกค่าใช้จ่ายโดยรวมยากค่ะ

ตอบโดย พญ. พิศุทธิกาญจญ์ รังคกูลนุวัฒน์

ผื่นลมพิษขึ้นตอนกลางคืน คันทั่วตัว

มีผื่นขึ้นเหมือนลมพิษค่ะ จะเริ่มเป็นเฉพาะช่วงกลางคืนค่ะ กลางวันไม่เป็น ประมาณ 2 ทุ่ม ของทุกวันจะเริ่มขึ้นเม็ดแล้วคันค่ะ อีกสักพักก็จะเริ่มเยอะขึ้นค่ะ ปกติทำงานในห้องแอร์ตลอดค่ะ บางคนบอกเพราะอากาศร้อน ควรไปหาหมอไหมคะ คือ ช่วงที่มีอาการต้องเคอร์ฟิวอยู่ที่บ้านออกไม่ได้ค่ะ เป็นมาประมาณ 4 วันแล้วค่ะ วันแรกคันช่วงคอ วันที่ 2 ช่วงข้างลำตัว วันที่ 3 ขา วันที่ 4 แขน และวันนี้เริ่มคันหลายจุดค่ะ สงสัยว่าทำไมไล่ตามจุดไปเรื่อยๆด้วยค่ะ ไม่เคยเป็นแบบนี้เลย ?

จากรูปที่ส่งให้หมอเป็นผื่นลมพิษครับ ซึ่งในเบื้องต้นก็สามารถซื้อยาแก้แพ้ เช่น Cetirizine, Loratadine, Fexofenadine มารับประทานเพื่อบรรเทาอาการด้วยตนเองก่อนได้ครับ

ในข่วงนี้ก็ควรลองสำรวจดูว่าผื่นขึ้นมาโดยสัมพันธ์กับสิ่งใด เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นได้ถูกต้องครับ

ถ้าหากรับประทานยาแก้แพ้แล้วผื่นไม่ยุบ มีอาการเป็นซ้ำบ่อยๆ ก็ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมก่อนครับ

ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์

ลมพิษตอนกลางคืน นอนไม่หลับ กินยาไม่หาย

ขึ้นเป็นแดงๆ ปื้นๆ ไม่มีตุ่มแต่คันเป็นเหมือนลมพิษ เป็นมา 5 วันแล้วกินยาแก้แพ้เมื่อก่อนมันจะหายไป แต่ตอนนี้กินยาแก้แพ้ไม่หายก็ยังเป็นขึ้นอยู่เหมือนเดิมเป็นๆ หายๆ ขึ้นตรงมือสัก 1 ชั่วโมงก็หายไปขึ้นตรงอื่นต่อ ขึ้นที่หลังตามตัว เมื่อวานไปหาหมอแจะเลือดหมอก็บอกเป็นลมพิษ ให้ยามากินแล้วก็ยาทากินยาก็ยังไม่หาย ตอนกลางคืนขึ้นตามหลังคันนอนไม่ค่อยหลับเลยกินยาก็ไม่หายไปเหมือนเมื่อก่อน อย่างนี้ผมต้องไปหาหมอโรคผิวหนังโดยตรงเลยไหมครับ ?

ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังครับ จะมียาที่ต้องรับประทานต่อเนื่อง และยาทาเพื่อลดอาการคันครับ การดูแลตัวเองควร หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น ไม่ปรับอุณหภูมิให้ต่ำจนเกินไป เมื่อต้องอยู่ในห้องแอร์ ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิเย็น หรือร้อนจัด และควรหลีกเลี่ยงมลภาวะ หรือกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก อาบน้ำตามปกติ ให้ใช้สบู่อ่อน ๆ เน้นฟอกบริเวณ ข้อพับ ขาหนีบ ลำคอ และรักแร้ และเมื่ออาบเสร็จก็ให้ใช้ผ้าซับให้แห้งแทนการถู หรือเช็ดแรง ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น นมวัว กุ้ง หอย ปลาหมึก ไข่ ครับ

ตอบโดย นพ. สมทรง นิลประยูร

ลมพิษเป็นภาวะภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งมักจะไม่หายขาดแต่สามารถรักษาเพื่อควบคุมให้อาการสงบโดยการบรรเทาอาการคันด้วยยาทาหรือยาประเภทสารต้านฮีสตามีน นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตหาสาเหตุสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการและพยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งนั้น ตัวกระตุ้นโดยมากได้แก่ ยาบางชนิด อาหารบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสงแดด ความร้อนและความเครียด หากมีอาการลมพิษเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ นานกว่า 6 สัปดาห์ และรับการรักษาด้วยยาไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องไปรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังค่ะ

ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย นักจิตวิทยาคลินิก


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top