เสมหะเป็นอาการพบได้บ่อยในโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคคออักเสบ โรคกรดไหลย้อน โรคหอบหืด รวมถึงการสูบบุหรี่ ซึ่งเชื่อว่าหากมีอาการนี้จะส่งผลให้เกิดความรำคาญและอึดอัดบริเวณคอได้ ตัวช่วยหนึ่งในการบรรเทาอาการเสมหะนี้คือการใช้ยาละลายเสมหะ และ ยาขับเสมหะ
การดูแลตัวเองระยะแรกอาจใช้วิธีดื่มน้ำมากๆ หรืออาจใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะบรรเทาอาการ ซึ่งคุณจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับอาการไอแบบต่างๆ โดยเฉพาะการไอแบบมีเสมหะ
สารบัญ
ลักษณะอาการไอมีเสมหะ
อาการไอมีเสมหะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ไอมีเสมหะใส ไม่มีสี หรือมีสีขาวขุ่น สาเหตุอาจเกิดจากไวรัส หรือภูมิแพ้ กรณีนี้ควรให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ หรือยาขับเสมหะ โดยไม่มีความจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เพราะว่าไม่มีการติดเชื้อของแบคทีเรีย
- ไอมีเสมหะข้นสีเขียว หรือสีเหลือง แสดงว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจ แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาละลายหรือขับเสมหะ
ยาแก้ไอละลายเสมหะ
ยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอละลายเสมหะ นิยมนำมาใช้รักษาการมีเสมหะคั่งเนื่องจากโรคหวัด โรคภูมิแพ้ ภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจ หรืออาจนำมาใช้รักษาโรคอื่นๆ ในระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ยาทั้งสองกลุ่มนี้มีจำหน่ายในท้องตลาด ทั้งในรูปแบบยาน้ำและยาเม็ด มีทั้งสูตรยาเดี่ยวและยาผสม ยาในกลุ่มนี้จัดเป็นยาอันตราย สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยา แต่ต้องจ่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น ยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอมีเสมหะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ตามกลไกการออกฤทธิ์
1. ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
ยาละลายเสมหะ เป็นยาที่ออกฤทธิ์เข้าไปย่อยโปรตีนหรือเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งจะมีผลทำลายการรวมตัวกันของโปรตีนที่จับตัวเป็นก้อนเสมหะเหนียวข้น รวมถึงลดแรงตึงผิวของเสมหะ ทำให้เสมหะใสขึ้น เหนียวข้นน้อยลงจนกลไกของร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น
ตัวยาละลายเสมหะที่นิยมใช้
- อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) ออกฤทธิ์โดยในโครงสร้างของอะเซทิลซิสเทอีนมีหมู่ซัลไฮดริลอิสระที่สามารถสลายพันธะไดซัลไฟด์ของมิวโคโปรตีน (mucoprotein) ของเสมหะได้ ส่งให้ความข้นหนืดของเสมหะลดลง ส่วนใหญ่พบในรูปแบบแกรนูล หรือเม็ดฟู่ละลายน้ำ
- คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) ยาในกลุ่มนี้ได้รับความนิยมมากเนื่องจากมีประสิทธิภาพในการละลายเสมหะดี มีราคาไม่แพง และผลข้างเคียงน้อย มีความปลอดภัยสูงสามารถใช้ได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3 แต่ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 เนื่องจากยาจะมีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
- บรอมเฮกซีน (Bromhexine) บรอมเฮกซีนนิยมใช้เช่นกัน เนื่องจากมีความเป็นพิษต่ำ ยาตัวนี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์
- แอมบร็อกซอล (Ambroxol) มีคุณสมบัติช่วยให้เสมหะเหลวลง ทำให้เสมหะที่เหนียวข้นและคั่งค้างอยู่ในหลอดลมถูกขับออกได้ง่าย ทำให้การหายใจสะดวกขึ้น นิยมใช้ละลายเสมหะในโรคของระบบทางเดินหายใจทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังที่มีเสมหะเหนียวข้น สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยาแอมบรอกซอลจัดอยู่ในประเภท B แม้ว่าจะมีความปลอดภัยกับหญิงตังครรภ์ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
2. ยาขับเสมหะ (Expectorants)
ยาขับเสมหะ เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นให้เยื่อบุในระบบทางเดินหายใจกำจัดเสมหะออกจากร่างกาย และเพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจให้มากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายและหายใจสะดวกยิ่งขึ้น โดยแท้จริงแล้วการที่เรามักมีอาการไอร่วมด้วยขณะที่มีเสมหะ นั่นคือกลไกหนึ่งของร่างกายที่ต้องการขับเสมหะออกมา
ตัวยาขับเสมหะที่นิยมใช้
- ยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) เป็นยาขับเสมหะชนิดหลักที่มีใช้มานาน และได้รับความนิยมสูง มีทั้งตำรับยาเดี่ยวและชนิดยาผสม
- ยาเทอร์พินไฮเดรต (Terpin hydrate) มีประสิทธิภาพในการขับเสมหะดีใกล้เคียงกับชนิดอื่น ในประเทศไทยนิยมนำไปผสมกับยาแก้ไอหรือยาขับเสมหะชนิดอื่น เช่น กัวฟีนีซีน
- ยาแอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium chloride) มักนำไปใช้ผสมกับยาแก้ไอหรือยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก แต่ไม่นิยมนำมาใช้เป็นยาขับเสมหะเป็นหลัก
นอกจากยา ยังมีสมุนไพร เช่น ชะเอมเทศ, มะขามป้อม, มะแว้ง เป็นต้น
ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะ
- ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรถึงประวัติโรคที่เป็น และประวัติการแพ้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ยาและผลเสียต่างๆ ที่อาจเกิดจากการใช้ยา
- หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
- ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยาไกวเฟนิซิน หากมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบ โรคหืด ไอเป็นเลือด อาการไอจากการสูบบุหรี่ หรือมีเสมหะมาก
- ไม่ควรใช้ยาไกวเฟนิซินในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี
- ระหว่างรับประทายาขับเสมหะควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะ ทำให้เสมหะขับออกง่ายขึ้น
ยาละลายเสมหะ กับ ยาขับเสมหะ ไม่เหมือนกันอย่างไร ?
สังเกตได้ว่ายาละลายเสมหะเเละยาขับเสมหะมีการออกฤทธิ์ในการบรรเทาอาการเสมหะคนละแบบกัน
- ยาละลายเสมหะ จะเป็นการสลายเสมหะในลำคอ
- ยาขับเสมหะ จะช่วยให้คายเสมหะง่ายขึ้น
สามารถใช้แทนกันได้เนื่องจากสามารถทำให้เสมหะในลำคอลดปริมาณลงจากเดิม
สำหรับแบบไหนเหมาะกับผู้ป่วยมากกว่า ควรสอบถามเภสัชกรที่ร้านขายยา จะช่วยแนะนำยาที่เหมาะสมกับ อาการ อายุ เพศ โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา ได้ดีกว่า
การลดเสมหะอย่างมีประสิทธิภาพ แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วยกับการใช้ยาต่าง ๆ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารมันอาหารทอดที่สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณคอ การดื่มน้ำอุ่มสามารถช่วยละลายเสมหะและบรรเทาอาการไอได้ นอกจากนี้ หากเรามีอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ เภสัชแนะนำให้พบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
คำถามสุขภาพที่พบบ่อย