สำหรับผู้ที่สูญเสียฟันตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไป คงได้ยินวิธีการรักษาด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลายกันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นครอบฟัน สะพานฟัน และรากฟันเทียม
ทันตแพทย์บางคนถึงกับเสนอให้ผู้เข้ารับบริการเลือกได้ด้วยตัวเองว่าต้องการรับการรักษาประเภทไหน แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบดีว่าทั้ง 3 อย่างนั้นมีรายละเอียดต่างกันอย่างไร
ในบทความนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำสะพานฟันมาฝากกัน ทั้งลักษณะ ข้อดี ข้อเสีย และข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่อาจช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และพูดคุยกับทันตแพทย์ได้อย่างเข้าใจขึ้นด้วย
สารบัญ
สะพานฟันคืออะไร?
สะพานฟัน (Dental Bridge) คือฟันปลอมชนิดติดแน่นที่ประกอบด้วยครอบฟันมากกกว่า 1 ซี่เชื่อมติดกัน โดยซี่ที่อยู่ริมสุดทั้ง 2 ฝั่งจะใช้สำหรับสวมเข้าไปบนฟันแท้ที่เหลืออยู่ในช่องปากเพื่อเป็นหลักยึด ตรงกลางของสะพานฟันจึงลอยอยู่เหนือเหงือกคล้ายกับสะพาน ฟันซี่ตรงกลางของสะพานฟันนี้เรียกว่าฟันลอย (Pontics) เป็นฟันซี่ที่ทดแทนฟันที่เสียไป
ด้วยเหตุนี้ข้อสำคัญคือ ฟันซี่ข้างเคียงที่ใช้เป็นหลักยึดของสะพานฟันจะต้องสมบูรณ์ แข็งแรง หรือฟันข้างเคียงอาจเป็นฟันที่ทำรากฟันเทียมก็ได้เช่นกัน
วัสดุที่ใช้ทำสะพานฟันนั้นคล้ายคลึงกับการทำครอบฟัน นั่นคือมีทั้งแบบทำจากโลหะล้วน เซรามิกล้วน หรือโลหะเคลือบเซรามิก
ทำไมต้องใส่สะพานฟัน?
โดยปกติแล้วฟันทุกซี่นั้นทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเคี้ยวอาหาร หรือแม้แต่ส่งเสริมภาพลักษณ์ขณะยิ้ม หากสูญเสียฟันซี่หนึ่งซี่ใดไปจากอุบัติเหตุ หรือฟันผุจนเกิดเป็นช่องว่าง หากปล่อยให้ฟันมีช่องว่างอยู่แบบนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาการใช้งานต่างๆ ได้ เช่น
- ปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร
- ปัญหาการกัด
- อาจเกิดความไม่มั่นใจในภาพลักษณ์ของตนเองขณะยิ้มและพูดคุย
- อาจทำให้เกิดปัญหาฟันล้ม หรือฟันเคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิมได้
ด้วยเหตุนี้ การใส่สะพานฟันจึงสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้โดยทดแทนช่องว่างฟันที่สูญเสียไป ช่วยให้ใช้งานได้ตามปกตินั่นเอง
สะพานฟันเหมาะกับใคร?
สะพานฟันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการทำฟันปลอมแบบติดแน่น สามารถทดแทนฟันได้ตั้งแต่ 1 ซี่ไปจนถึงทดแทนฟันทั้งปาก โดยอาจเหมาะกับผู้ที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ผู้ที่ฟันแท้หลุด แต่ไม่ต้องการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้
- ผู้ที่ฟันแท้หลุดมากกว่า 1 ซี่ ซึ่งเป็นซี่ที่อยู่ติดกัน
- ผู้ที่ฟันแท้หลุดมากกว่า 1 ซี่ และจำเป็นต้องทำรากฟันเทียม แต่ไม่ต้องการทำรากฟันเทียมทุกซี่ อาจใช้ซี่ที่ทำรากฟันเทียมเป็นหลักยึดสำหรับใส่สะพานฟัน
ทั้งนี้ แม้จะมีเงื่อนไขดังที่กล่าวมาก็ควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงความเหมาะสมเฉพาะในแต่ละบุคคลก่อน เพราะอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ควรระวัง เช่น สุขภาพฟันซี่อื่นๆ และโรคเหงือก เป็นต้น
สะพานฟันมีกี่ประเภท
แม้สิ่งที่หลายคนนึกถึงสะพานฟันจะเป็นฟันหลายๆ ซี่เรียงติดกัน แต่ความจริงแล้วสะพานฟันมีด้วยกันหลักๆ ถึง 3 ประเภท ดังนี้
1. สะพานฟันแบบทั่วไป หรือสะพานฟันแบบดั้งเดิม
สะพานฟันแบบทั่วไป (Traditional bridge) หรือสะพานฟันแบบดั้งเดิม ถือเป็นรูปแบบที่นิยมทำมากที่สุด โดยจะใช้ฟันทั้งข้างซ้ายและข้างขวาของสะพานฟันเป็นหลักยึดกับฟันธรรมชาติของผู้รับบริการ และมีฟันลอย 1 หรือ 2 ซี่ เชื่อมอยู่ตรงกลางในตำแหน่งที่ฟันแท้หลุดออกไป
การใส่สะพานฟันแบบทั่วไปนี้ ทันตแพทย์จำเป็นต้องกรอฟันที่เป็นหลักยึดทั้ง 2 ข้างให้มีลักษณะเหมาะสมก่อนจะครอบสะพานฟันลงไป ข้อดีของสะพานฟันประเภทนี้คือใช้ในการบดเคี้ยวอาหารได้ดีกว่าสะพานฟันชนิดอื่นๆ แต่ข้อจำกัดสำคัญคือ จำเป็นต้องกรอฟันที่แข็งแรงเพื่อเป็นหลักยึดถึง 2 ซี่
2. สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว
สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว (Cantilever bridges) เป็นรูปแบบที่พัฒนาจากสะพานฟันแบบทั่วไป โดยมีลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่ใช้ฟันเป็นหลักยึดเพียงซี่เดียวเท่านั้น ผู้รับบริการจึงต้องถูกกรอฟันที่แข็งแรงเพียง 1 ซี่ แต่ความคงทนแข็งแรงจะไม่สูงนัก หากเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวจนเกินไปมีโอกาสแตกหักได้
3. สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์
สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ (Maryland bridges) หรือสะพานฟันที่ยึดด้วยเรซิน บางคนอาจเรียกว่าสะพานฟันแบบปีกผีเสื้อ เป็นสะพานฟันที่มีฟันปลอมเพียงซี่เดียวโดดๆ แต่มีแกนโลหะลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อติดอยู่ด้านหลัง
ปีกโลหะนี้จะทำหน้าที่ยึดเกาะกับฟันข้างเคียงทั้งซ้ายและขวาโดยใช้เรซินเป็นตัวเชื่อม ข้อดีคือไม่จำเป็นต้องกรอฟันข้างเคียงที่เป็นหลักยึดเลยแม้แต่ซี่เดียว แต่ข้อจำกัดคือความแข็งแรงจะไม่เท่ากับการทำสะพานฟันแบบทั่วไป
ขั้นตอนการทำสะพานฟัน
แม้การทำสะพานฟันจะไม่ใช่กระบวนการที่ซับซ้อนมากนักหากเทียบกับการทำรากฟันเทียม แต่การทำสะพานฟันส่วนมากมักต้องไปพบทันตแพทย์ 2 ครั้ง โดยมีขั้นตอนหลักๆ มีดังนี้
- เตรียมฟันสำหรับเป็นหลักยึด หากทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าควรทำสะพานฟัน นั่นหมายความว่าจะต้องมีฟันหลักยึดที่แข็งแรงดีอยู่ใกล้กับฟันซี่ที่สูญเสียไป ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันที่แข็งแรงดังกล่าวให้เหมาะสำหรับสวมสะพานฟัน
- พิมพ์ฟันเพื่อออกแบบสะพานฟัน หลังจากกรอฟันจนได้ขนาดที่เหมาะสมแล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ฟัน หรือใช้ดิจิตอลสแกน (Digital Scan) ช่องปาก เพื่อไปผลิตสะพานฟันในห้องปฏิบัติการซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ทันตแพทย์จะให้สะพานฟันแบบชั่วคราวมาใส่แทนก่อน
- ใส่สะพานฟันตามกำหนด เมื่อสะพานฟันของจริงเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะถอดเอาสะพานฟันชั่วคราวออก และใส่สะพานฟันของจริงที่สร้างจากการพิมพ์ฟันของคุณโดยเฉพาะเข้ามาแทน
- ปรับแก้ไขสะพานฟันของจริง โดยปกติทันตแพทย์์จะทำการตรวจสอบหลังจากใส่สะพานฟันของจริงว่าใส่ได้พอดีไหม ในช่วงนี้หากรู้สึกว่าตรงไหนไม่พอดีหรือเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ควรแจ้งกับทันตแพทย์เพื่อทำการปรับแก้ไขทันที
ในการพบทันตแพทย์ครั้งสุดท้ายนี้ ควรสอบถามถึงวิธีการดูแลรักษาความสะอาด รวมถึงวิธีใช้งานสะพานฟันอย่างถูกต้องด้วย เพื่อให้สามารถใช้งานได้นานที่สุด และลดโอกาสที่สะพานฟันจะเสียหาย
อาการหลังใส่สะพานฟัน
หลังจากใส่สะพานฟันแล้วอาจรู้สึกเจ็บบ้างเล็กน้อยเนื่องจากทันตแพทย์ได้ทำการกรอฟันออกไป บางรายอาจมีเลือดออกบริเวณเหงือกบ้างเล็กน้อย
โดยส่วนมากอาการเจ็บนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปในไม่กี่วัน แต่หากมีอาการเจ็บบริเวณเหงือกอาจต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์จึงจะหายสนิท
ผู้ที่ใส่สะพานฟันสามารถกลับไปทำงาน หรือไปโรงเรียนได้ทันที เว้นแต่กรณีที่ได้รับยาระงับความรู้สึก เช่น ผู้ที่ใช้สะพานฟันร่วมกับทำรากฟันเทียม ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การเดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ จนกว่าฤทธิ์ยาจะหมดไป
อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังทำสะพานฟัน
ในบางกรณีอาจเกิดอาการผิดปกติขึ้นกับฟัน เหงือก หรือสะพานฟันได้ ดังนี้
- สะพานฟันแตก หรือหลุดจากตำแหน่งเดิม กรณีนี้ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็กสภาพฟันที่เป็นหลักยึด หรือใส่สะพานฟันอันใหม่ทันที
- อาจเกิดอาการเจ็บจนมีปัญหาการบดเคี้ยว เป็นธรรมดาที่ช่วงแรกหลังจากใส่สะพานฟันแล้วอาจยังไม่ชินและต้องการการปรับตัว แต่หากผ่านไปสักระยะแล้วยังคงมีอาการเจ็บ เคี้ยวอาหารไม่ถนัด ควรปรึกษาทันตแพทย์ทันที
- อาจเกิดการติดเชื้อ บางคนอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นหลังจากใส่สะพานฟัน โดยเฉพาะผู้ที่ฟันผุกระจายหลายซี่ หรือเป็นโรคเหงือก
- อาจเกิดฟันผุ โดยเฉพาะฟันซี่ที่ใช้เป็นหลักยึดของสะพานฟัน ผู้ที่เป็นโรคเหงือกมีแนวโน้มจะเกิดกรณีนี้สูงกว่าคนทั่วไป
ความสำเร็จในการรักษาด้วยสะพานฟันส่วนใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพช่องปากและฟัน โดยเฉพาะฟันซี่ที่เป็นหลักยึด หากดูแลรักษาความสะอาดดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ลงได้มาก
ข้อดีของสะพานฟัน
สะพานฟันมีข้อดีหลายข้อ ดังนี้
- ช่วยให้สามารถกัด เคี้ยว และพูดได้ปกติยิ่งขึ้น
- สะพานฟันใช้งานสะดวก ติดแน่นกับฟันได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องกังวลว่าจะหลุดระหว่างการพูดคุยหรือรับประทานอาหาร
- ไม่ต้องคอยถอดออก หรือสวมใส่เป็นประจำเหมือนฟันปลอมแบบถอดได้
- สะพานฟันมีการกระจายน้ำหนักเพื่อรองรับการบดเคี้ยว คงทนแข็งแรง ใช้ทดแทนฟันธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
- สะพานฟันช่วยป้องกันการล้มของฟันซี่ข้างเคียงได้
- ช่วยให้สภาพฟันทุกซี่เรียงตัวกันเหมือนปกติ มีสีใกล้เคียงกับฟันซี่อื่นๆ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้รับบริการ
ด้วยข้อดีและประโยชน์ดังกล่าว สะพานฟันจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีในการปกป้องฟัน และกลับมาใช้งานได้ปกติยิ่งขึ้น
ข้อเสียทำสะพานฟัน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการทำสะพานฟันเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาสูญเสียซี่ฟัน ยังมีทางเลือกอื่นอีกหลายทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาตัวเลือกก็คือ ข้อเสียของแต่ละตัวเลือกนั่นเอง
ข้อเสียของการทำสะพานฟัน อาจมีดังนี้
- จำเป็นต้องกรอฟันข้างเคียง ทำให้สูญเสียฟันธรรมชาติที่แข็งแรงไป
- เนื่องจากฟันที่เป็นหลักยึดยังเป็นฟันตามธรรมชาติ จึงมีโอกาสผุกร่อนใต้สะพานฟันได้
- สะพานฟันจะมีส่วนที่ลอยตัวอยู่เหนือเหงือก ซึ่งอาจทำความสะอาดยากกว่าฟันธรรมชาติ จึงต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษ
นอกจากนี้หากตัวยึดของสะพานฟันเกิดหลวม หรือฟันซี่ที่เป็นหลักยึดเกิดผุกร่อน ทันตแพทย์อาจต้องรื้อสะพานฟันออกและทำการติดตั้งใหม่ หรือรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากดูแลรักษาสะพานฟันอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ ได้มาก
การดูแลรักษาสะพานฟัน
สะพานฟันมีความแข็งแรง และยึดติดแน่นไปกับฟันธรรมชาติ โดยการดูแลรักษาสะพานฟันไม่ได้มีวิธีที่พิเศษกว่าการดูแลฟันปกติมากนัก ดังนี้
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันระหว่างเหงือกกับตัวสะพานฟัน
- ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ทันตแพทย์ตรวจดูความเรียบร้อยของสะพานฟันและสุขภาพฟันโดยรอบ หากพบปัญหาจะได้แก้ไขได้ตั้งแต่ยังไม่ร้ายแรง
- ควรกินอาหารให้หลากหลาย เน้นอาหารจำพวกผักผลไม้และไฟเบอร์ (Fiber)
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งเกินไป เช่น น้ำแข็ง ลูกอม
อย่างไรก็ตาม หากคุณเริ่มรู้สึกว่าการเคี้ยวอาหารยากลำบากขึ้น มีอาการเจ็บ รอยแดง บวม หรือเลือดออกบริเวณสะพานฟัน ควรติดต่อทันตแพทย์ผู้ให้บริการทันที
สามารถทำสะพานฟันบนรากเทียมได้หรือไม่?
ทำได้ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันหลายๆ ซี่ที่อยู่ติดกันแต่ไม่อยากฝังรากเทียมทุกซี่ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาฝังรากเทียมในตำแหน่งที่เหมาะสม และใช้สะพานฟันครอบลงไป
ตัวอย่างเช่น หากสูญเสียฟันแท้ 4 ซี่ติดกัน อาจจะฝังรากเทียมด้านซ้ายและด้านขวา 2 ซี่ และตรงกลางเป็นฟันลอย 2 ซี่ เป็นต้น
ในรายที่สูญเสียฟันทั้งปากทันตแพทย์ก็สามารถวางแผนฝังรากฟันในตำแหน่งที่เหมาะสม พร้อมทำสะพานฟันทั้งปากได้เช่นกัน
หากใส่สะพานฟันจะจัดฟันได้ไหม?
ทำได้ แต่ในระหว่างการจัดฟันจะต้องนำสะพานฟันออกแล้วใส่ครอบฟันชั่วคราวให้ฟันที่ทำหน้าที่เป็นหลักยึด ส่วนช่องว่างที่เหลือจะใส่ฟันปลอมแบบถอดได้จนกว่าจะจัดฟันเสร็จ แล้วจึงทำสะพานฟันใหม่ให้เหมาะสมกับรูปฟันหลังจากการจัดฟันเสร็จสิ้น
นวัตกรรมการทำรากฟันเทียม ครอบฟัน สะพานฟัน ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและฟันได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนจะตัดสินใจทำ จำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูลและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
สะพานฟันอยู่ได้นานไหม?
สะพานฟันมีอายุการใช้งานประมาณ 10-15 ปี ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับวัสดุ วิธีการใช้งาน การดูแลรักษา รวมถึงสุขภาพช่องปากของแต่ละคนด้วย
โดยสรุปแล้ว เมื่อเกิดการสูญเสียฟันจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การพูด และการกินอาหาร สะพานฟันเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
แต่เช่นเดียวกับทางเลือกอื่นๆ ในการรักษา สะพานฟันเองก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ที่อาจเหมาะกับแต่ละคนต่างกันออกไป ข้อมูลดังกล่าวที่สรุปมาในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถนำไปประกอบปรึกษากับทันตแพทย์ได้อย่างดียิ่งขึ้น
ความสำเร็จในการทำสะพานฟันนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพฟันและช่องปากที่แข็งแรง โดยเฉพาะซี่ที่ใช้เป็นหลักยึดสะพานฟัน หากผู้รับบริการดูแลสุขภาพช่องปากได้ดี ไม่มีฟันผุหรือโรคเหงือกใดๆ แทรกซ้อน สะพานฟันก็ถือเป็นหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว แถมมีราคาประหยัดกว่าการทำรากฟันเทียมหลายซี่ติดต่อกัน โดยคุณสามารถเช็กราคาสะพานฟันได้ที่นี่