เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า อาหารและยาที่บริโภคเข้าไปส่วนใหญ่จะถูกเผาผลาญและขับออกทางไตในรูปแบบของปัสสาวะ ดังนั้น ปัสสาวะที่ออกมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปัสสาวะครั้งแรกหลังตื่นนอน จึงมักมีกลิ่นอาหารหรือสิ่งที่บริโภคเข้าไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นมาก กลิ่นที่พบจากปัสสาวะ อาจบ่งบอกถึงสุขภาพของคุณได้
สารบัญ
ปัสสาวะกลิ่นกาแฟ
การปัสสาวะเป็นกลิ่นกาแฟ เกิดจากเนื่องจากหลังการดื่มกาแฟ ร่างกายได้ดูดซึมเอากาแฟเข้าสู่กระแสเลือด และเกิดกระบวนการเผาผลาญ (Metabolism) สารประกอบหลายชนิดที่พบในกาแฟ ส่งผลให้เกิดของเสียจากการเผาผลาญขึ้นในร่างกาย จากนั้นของเสียดังกล่าวรวมถึงของเสียที่มีกลิ่นเฉพาะของกาแฟจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ
ในขณะที่ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ (Dehydration) จะส่งผลให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นมาก เช่น หลังตื่นนอนทันที เนื่องจากในช่วงระหว่างการนอนพักผ่อนในกลางคืนเป็นเวลาหลายชั่วโมง มักไม่มีการดื่มน้ำหรือการดื่มกาแฟเป็นปริมาณมาก หรือดื่มกาแฟที่มีความเข้มข้นมาก
นอกจากนี้กาแฟยังมีฤทธิ์อ่อนๆ ในการขับปัสสาวะ ส่งผลให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมากขึ้น ปัสสาวะจึงมีความเข้มข้นมากกว่าปกติ
ในภาวะที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นมากกว่าปกติ หากมีการขับของเสียจากการเผาผลาญสารบางอย่างในกาแฟ อาจส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นกาแฟได้
อย่างไรก็ตาม ไม่อาจสรุปได้ว่ากลิ่นกาแฟในปัสสาวะบ่งชี้ถึงการดื่มกาแฟในปริมาณที่มากเกิน การกาแฟในปริมาณที่มากเกินไปมักทำให้เกิดอาการอื่นๆ มากกว่า เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น
หากพบว่าปัสสาวะมีกลิ่นกาแฟ สิ่งแรกที่ควรทำคือดื่มน้ำเพื่อลดความเข้มข้นของปัสสาวะ ซึ่งจะพบว่า ปัสสาวะหลังจากนั้นมีกลิ่นกาแฟจางลง หรืออาจไม่มีกลิ่นกาแฟเลย
ปัสสาวะกลิ่นยา
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ยาหลายชนิดมักถูกขับออกมากับปัสสาวะ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจมากนักหากพบว่าหลังรับประทานยาบางชนิด แล้วปัสสาวะออกมามีกลิ่นยาด้วย
ยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ยาฆ่าเชื้อ หลายชนิดมักมีกลิ่นเฉพาะ โดยเฉพาะในยากลุ่มซัลฟา (Sulfonamide) และยาบำรุงหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวิตามินบี (Vitamin B supplements) เป็นส่วนประกอบ
การมีกลิ่นยาออกมากับปัสสาวะเป็นภาวะปกติที่พบได้ และสามารถลดระดับความรุนแรงของกลิ่นยาได้ด้วยการดื่มน้ำในปริมาณมาก แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ขัดกับข้อห้ามทางการแพทย์
หากคุณรู้สึกว่ากลิ่นยาที่ออกมากับปัสสาวะรบกวนการดำเนินชีวิตมาก อาจพิจารณาปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ให้เปลี่ยนการรักษาด้วยวิธีใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ปัสสาวะกลิ่นฉุน
“กลิ่นฉุน” เป็นการให้นิยามกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ การสังเกตพบว่าปัสสาวะมีกลิ่นฉุน จึงอาจเป็นได้ทั้งภาวะปกติและผิดปกติ
เมื่อสังเกตพบว่า ปัสสาวะมีกลิ่นฉุน คุณควรนึกทบทวนรายการอาหารที่รับประทานก่อนหน้านี้ ว่ามีอาหารหรือวัตถุดิบกลิ่นแรงเป็นส่วนประกอบหรือไม่ เช่น กระถิน ชะอม ผักกระเฉด หากมี ก็เป็นได้ว่าสารบางอย่างที่มีกลิ่นในผักเหล่านี้ถูกเผาผลาญ และของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญถูกขับออกมากับปัสสาวะ
หากเป็นเช่นนี้ การดื่มน้ำในปริมาณมากจะช่วยลดระดับความฉุนของปัสสาวะได้ แต่หากทบทวนแล้วไม่พบว่ามีการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของอาหารที่มีกลิ่นฉุนดังกล่าว คุณอาจต้องสังเกตลักษณะปัสสาวะ กลิ่น ช่วงเวลาที่พบว่าปัสสาวะมีกลิ่นฉุน เนื่องจากอาจเป็นภาวะไม่ปกติที่ต้องเฝ้าระวัง และควรปรึกษาแพทย์
ความผิดปกติของระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกัน หลายครั้งมักมีอาการเตือนเริ่มแรกด้วยลักษณะปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งที่มีกลิ่นฉุน
ปัสสาวะกลิ่นคาว
หากปัสสาวะมีกลิ่นคาว ควรคำนึงถึงเรื่องการติดเชื้อทั้งในระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเฉพาะสตรี เนื่องจากอวัยวะทั้งสองนี้มีตำแหน่งใกล้กันมาก
ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ปัสสาวะกลิ่นอาหาร
ปัสสาวะกลิ่นแรง แปลก กลิ่นเหมือนไข่เน่า ไข่ขาว ผลไม้ เกิดจากอะไร?
ปัสสาวะมีกลิ่นเหมือนไข่เน่า หรือมีกลิ่นเหมือนผลไม้ที่ผ่านการหมัก หรือมีกลิ่นคาวคล้ายไข่ขาว เป็นลักษณะปัสสาวะที่อาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ควรไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ปัสสาวะมีกลิ่น เกี่ยวข้องกับอาหารที่เราบริโภคหรือไม่?
อาหารที่เราบริโภคมักประกอบด้วยอนุพันธ์ของสารบางประการที่มีกลิ่นเฉพาะตัว เช่น กระถิน ชะอม กาแฟ
เมื่ออนุพันธ์เหล่านี้ผ่านการเผาผลาญและถูกขับออกมากับปัสสาวะ ก็จะส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นที่สัมพันธ์กับอาหารที่เราบริโภค
อย่างไรก็ตาม กลิ่นของปัสสาวะไม่ควรมีกลิ่นลักษณะคล้ายกลิ่นเน่าหรือกลิ่นคาว ลักษณะดังกล่าว อาจเป็นอาการแสดงแรกเริ่มของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
ดังนั้น หากพบว่าปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติและมีอาการผิดปกติร่วมด้วย ควรพบแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อวินิจฉัยตรวจหาสาเหตุโดยละเอียด ไม่ควรหายามาทานเองเพราะไม่มีผลในการรักษาโดยตรง
บทความเขียนโดย: ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต HD