มวลกล้ามเนื้อคืออะไร มีค่ามาตรฐานเท่าไหร่ และวิธีคำนวณอย่างไร?

ร่างกายมีกล้ามเนื้อเป็นส่วนประกอบใหญ่ๆ มีทั้งกล้ามเนื้อที่มองเห็นได้จากภายนอก และกล้ามเนื้อภายใน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้

ปริมาณของกล้ามเนื้อจะไม่หยุดนิ่งคงที่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงอายุ โดยเฉพาะในวัยช่วงหนุ่มสาวจะสัมผัสได้ถึงพลังงานอันเต็มเปี่ยม กระฉับกระเฉง แตกต่างจากวัยชราที่แขนขาดูอ่อนแรงลง

เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณมวลกล้ามเนื้อจะลดลง มีการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะใครหรือเพศไหนก็หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ ทำได้เพียงพยายามดูแลคงสภาพกล้ามเนื้อให้อยู่ได้นานขึ้นเท่านั้น

มวลกล้ามเนื้อคืออะไร?

มวลกล้ามเนื้อ หากจะเรียกให้เข้าใจกันอย่างง่ายที่สุดก็คือ “น้ำหนัก” รวมของกล้ามเนื้อในร่างกาย โดยไม่ได้นับรวมไขมัน เส้นเอ็น และกระดูก

ดังนั้นการชั่งน้ำหนักจึงจึงไม่ใช่ค่ามวลกล้ามเนื้อของเรา และไม่สามารถสรุปได้ว่า คนที่มีน้ำหนักมากจะต้องมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่า เพราะบางกรณีคนที่มีน้ำหนักน้อยกว่าอาจจะมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าก็ได้

โดยยิ่งสัดส่วนของมวลกล้ามเนื้อมีมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะพบได้ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายเป็นส่วนใหญ่

มวลกล้ามเนื้อสำคัญอย่างไร?

ราว 80% ของการเผาผลาญจะเกิดขึ้นที่เซลล์เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ และในส่วน 20% จะเกิดการเผาผลาญในเซลล์อื่นๆ ยิ่งอายุมากขึ้น มวลกล้ามเนื้อก็ยิ่งจะมีน้ำหนักลดลง ยิ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การลดลงของมวลกล้ามเนื้อก็มีอัตราเร็วมากกว่าด้วย

การตรวจวัดมวลกล้ามเนื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ทราบว่า ตอนนี้ร่างกายกำลังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ เพราะการลดลงของกล้ามเนื้อจะส่งผลกระทบไปยังข้อ และกระดูกตามมา กระดูก

การสลายตัวอย่างต่อเนื่องของกล้ามเนื้อ ไม่เพียงจะทำให้การเคลื่อนไหวช้าลงเท่านั้น ยังทำให้การซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลงตามไปด้วย

ค่ามวลกล้ามเนื้อตามปกติอยู่ที่เท่าไหร่?

ปกติมวลกล้ามเนื้อที่จัดว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ และเพศ น้ำหนักของกล้ามเนื้อจะต้องแยกออกมาจากค่าน้ำและไขมันในร่างกาย

หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ควรอยู่ที่ 30-40% ของมวลกาย ผู้หญิงอาจจะน้อยกว่าผู้ชายราว 10% และหากแบ่งย่อยออกตามช่วงวัยและเพศ จะแบ่งได้ดังนี้

1.ค่ามวลกล้ามเนื้อในเพศหญิงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมวลกาย

  • อายุ 18-40 ปี ค่าปกติอยู่ที่ 24.4-30.2%
  • อายุ 41-60 ปี ค่าปกติอยู่ที่ 24.2-30.3%
  • อายุ 61-80 ปี ค่าปกติอยู่ที่ 24.0-29.8%

2.ค่ามวลกล้ามเนื้อในเพศชายคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมวลกาย

  • อายุ 18-40 ปี ค่าปกติอยู่ที่ 33.4-39.4%
  • อายุ 41-60 ปี ค่าปกติอยู่ที่ 33.2-39.2%
  • อายุ 61-80 ปี ค่าปกติอยู่ที่ 33.0-38.7%

จะเห็นได้ว่า ผู้ชายควรมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง จึงจะถือว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี ในขณะที่เปอร์เซ็นต์ดังกล่าว หากยิ่งเพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งเป็นผลดีกับช่วงลดการเสื่อมสภาพของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น

วิธีคำนวณมวลกล้ามเนื้อ

มวลกล้ามเนื้อ (Muscle Mass) มีหน่วยเป็นกิโลกรัม โดยวัดจากน้ำหนักตัวทั้งหมด แต่นับเฉพาะน้ำหนักกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่รวมไขมัน โดยจะประกอบด้วย กล้ามเนื้อ น้ำ กระดูก และอื่นๆ เรียกค่านี้ว่า “Lean body weight”

โดยปกติจะผ่านการวัดด้วยเครื่องมือพิเศษที่นอกจากจะแจ้งค่ามวลกล้ามเนื้อแล้ว จะแจ้งค่าน้ำในร่างกาย ค่าไขมัน  รวมถึงค่าดัชนีร่างกายด้วย มีขั้นตอนดังนี้

  • ชั่งน้ำหนักตัวเองด้วยเครื่องที่สามารถวัดไขมันในร่างกายได้  เครื่องชั่งจะคำนวณเปอร์เซ็นต์ของไขมันในร่างกายโดยอัตโนมัติ
  • ลบร้อยละไขมันในร่างกายจาก 100 เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักมวลกาย ยกตัวอย่างเช่น มีค่าเปอร์เซ็นต์ไขมันอยู่ที่ 25 ดังนั้น จะได้เป็น 100-25 = 75% มวลร่างกาย (คือค่า lean body weight มวลดังกล่าวจะรวมกล้ามเนื้อ และน้ำ แต่ไม่รวมไขมัน)
  • ทำการวัดค่ามวลน้ำในร่างกายออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำไปลบออกกับ 75% ก็จะได้ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักกล้ามเนื้ออย่างเดียว

ทางที่ดีในขั้นตอนการวัด ควรใช้เครื่องมือวัดที่มีความแม่นยำ เพราะในร่างกายไม่ได้มีแค่กล้ามเนื้อ กระดูก ไขมัน หรือน้ำ แต่ยังมีเนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นเอ็น และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับค่าน้ำหนักกล้ามเนื้อได้ทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงมวลกล้ามเนื้อ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใส่ใจดูแล ทำความเข้าใจ และหมั่นตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ช่วยรักษาร่างกายให้แข็งแรงต่อไปได้ยาวนานยิ่งขึ้น


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top