ในบางครั้ง เมื่อต้องนั่งหรือขับรถขึ้นไปบนที่สูงๆ หรือเวลานั่งเครื่องบิน อาจเกิดอาการที่เรียกว่า หูอื้อ (Tinnitus) ได้ โดยจะมีลักษณะอาการคือ การได้ยินเสียงลดลง รู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ภายในหูจนทำให้เกิดความรำคาญ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้าหากหูอื้อบ่อยๆ หรือหูอื้อเป็นระยะเวลานาน 1-2 เดือนขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหูได้
หูอื้อ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีขี้หูอุดตัน มีน้ำคั่งค้างในหู การถูกสแกนสมองด้วยเครื่องสร้างภาพสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) หรือติดเชื้อที่หูชั้นกลางจากการเป็นหวัด เป็นต้น แต่หากหูอื้อบ่อย หรือหูอื้อเป็นระยะเวลานานอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
5 สาเหตุที่ทำให้หูอื้อบ่อยๆ
1. ภาวะขี้หูอุดตันสนิท
อาการขี้หูอุดตันเกิดจากการแคะขี้หูเป็นประจำจนทำให้ขี้หูดันเข้าไปข้างในหูชั้นกลาง และหูชั้นใน เมื่อเกิดการสะสมจำนวนมากเข้าก็ทำให้เกิดการอุดตันตามมา ในระยะแรกจะทำให้เกิดอาการหูอื้อเป็นครั้งคราว บางรายอาจมีอาการปวดหู เวียนศีรษะ หรือไอร่วมด้วย
หากขี้หูอุดตันจนปิดรูหูสนิทก็จะทำให้เกิดอาการหูดับ หรือทำให้เกิดแรงดันภายในหูจนเยื่อแก้วหูทะลุได้
ภาวะขี้หูอุดตันนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการให้แพทย์ดูดขี้หูออก แต่ไม่แนะนำให้ดูดขี้หูด้วยตัวเอง เพราะอาจเกิดอันตรายต่อหูชั้นกลางได้
2. โรคหูน้ำหนวกชนิดเรื้อรัง (Chronic otitis media)
หูน้ำหนวกชนิดเรื้อรัง คืออาการอักเสบจากการติดเชื้อในหูชั้นกลาง รวมถึงการอักเสบของเยื่อบุช่องหูชั้นกลาง และโพรงอากาศในกระดูกมาสตอยด์นานติดต่อกันเกินกว่า 3 เดือน และมีแก้วหูทะลุ ส่งผลให้มีน้ำเมือก หรือหนองไหลออกจากหูแบบเป็นๆ หายๆ แต่ เมื่อเป็นหวัด เจ็บคอ น้ำเข้าหู หรือมีสิ่งสกปรกเข้าหูก็จะอักเสบได้อีก รวมทั้งได้ยินเสียงดังในหูเป็นเสียงต่ำๆ อื้อๆ ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง มีความต้านทานโรคดี น้ำหนวกจะหยุดไหลไปเอง
3. ท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian tube) ทำงานผิดปกติ
ท่อยูสเตเชี่ยนเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลาง และโพรงหลังจมูก ทำหน้าที่ช่วยปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก หากท่อนี้ทำงานผิดปกติก็จะทำให้เกิดอาการหูอื้อได้ บางรายอาจมีอาการปวดหู มีเสียงรบกวนในหู เวียนศีรษะ หรือมีอาการบ้านหมุนได้
ปกติแล้วความผิดปกติของท่อยูสเตเชี่ยน มักเกิดจากการอักเสบของจมูก จากการเป็นหวัดหรือภูมิแพ้ หรือการเปลี่ยนแปลงของความดันในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักมีอาการหูอื้อแค่ชั่วคราวเท่านั้น
แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากการที่มีก้อนไปอุดรูเปิดของท่อยูสเตเชี่ยน ก็จะทำให้อาการหูอื้อไม่หายไปจนกว่าจะเอาก้อนนั้นออก ซึ่งเป็นอาการที่อันตรายได้ โดยก้อนดังกล่าวอาจเป็นต่อมอดีนอยด์ที่มีขนาดโตจนไปอุดรูเปิดของท่อยูสเตเชี่ยน หรือมะเร็งในโพรงหลังจมูกที่ลามไปที่ท่อยูสเตเชี่ยนก็ได้
4. หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis)
เป็นอาการที่มักพบในเด็ก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ จนทำให้หูชั้นในและเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างหูชั้นในกับสมองอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หูอื้อตลอดเวลา หรือสูญเสียการได้ยินในหูส่วนที่เสียหาย บางรายอาจมีปัญหาทางด้านสายตาด้วย
อาการหูชั้นในอักเสบมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และจะค่อยๆ ทรุดลงเมื่อผ่านไปหลายสัปดาห์ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรได้
5. โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV)
เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น เกิดจากตะกอนหินปูน (Otoconia) ที่เกาะอยู่กับเส้นประสาทบริเวณยูตริเคิล (Utricle) ที่ทำหน้าที่รับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะหลุดออกเข้าไปอยู่ในห่วงด้านหลังของของหูชั้นใน (Semicircular canal) ส่งผลให้การรับรู้ด้านการทรงตัวผิดปกติ
ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน และมีหูอื้อร่วมด้วย
โรคดังกล่าวสามารถหายได้เองโดยการนอนพักอยู่กับที่เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านคอ หู จมูก เพื่อทำกายภาพบำบัดต่อไป
วิธีรักษาอาการหูอื้อ
วิธีรักษาอาการหูอื้อจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น หากผู้ป่วยมีน้ำคั่งค้างในหู แพทย์จะทำการเจาะเยื่อบุแก้วหูเพื่อดูดน้ำออก หรือผู้ป่วยเป็นภาวะขี้หูอุดตัน แพทย์ก็จะดูดขี้หูออก เป็นต้น
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันหูอื้อ
อาการหูอื้อสามารถป้องกันได้โดยปฏิบัติตัวดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีเสียงดังเกินปกติ หรือหากจำเป็นต้องเข้าไปก็ควรสวมที่ครอบหูเอาไว้เพื่อป้องกันเสียงดัง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการหูอื้อมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดในหูเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้อาการหูอื้อหนักขึ้น
- หากเกิดอาการหูอื้อในระหว่างขึ้นบนที่สูงๆ เช่น ภูเขา หรือเครื่องบิน แก้ไขได้ด้วยการกลืนน้ำลายบ่อยๆ หรือการเคี้ยวหมากฝรั่งช่วย
- หลีกเลี่ยงการใช้สำลีปั่นหู หรือใช้ไม้แคะหูด้วยความรุนแรงอย่างเด็ดขาด
- หลีกเลี่ยงการใส่หูฟังอยู่ตลอดเวลา และอย่าเปิดเพลงเสียงดังเกินไป
- หากเกิดอาการหูอื้อหลังจากการไปว่ายน้ำ หรือตัวเปียกน้ำจนน้ำเล็ดลอดเข้าไปในรูหู ต้องนำน้ำที่เข้าไปออกมาให้ได้ โดยการกรอกน้ำเข้าไปที่หูที่กำลังอื้ออยู่ จากนั้นค่อยๆ ตะแคงตัวเทน้ำที่หูออกไป อาการหูอื้อเนื่องจากการมีน้ำในหูก็จะหายไปได้เอง
- พยายามออกกำลังกายอยู่เสมอ ไม่เครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไป และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อาการหูอื้อถือเป็นอาการที่ไม่มีความรุนแรง เพียงแต่อาจสร้างความรำคาญให้กับคนที่กำลังเป็นได้ แต่ในบางครั้งอาการหูอื้ออาจจะส่งผลกระทบตามมา เช่น รู้สึกหงุดหงิดจนทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งการนอนหลับพักผ่อนน้อยจะนำไปสู่การเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้