ทำหมันแมวตัวเมีย ลดการเกิดเด็กๆ คอกใหม่ที่คุณอาจรับมือไม่ไหว

ไม่ใช่เจ้าของทุกคนที่จะแบกรับจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นได้เสมอไป โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ตั้งท้องและให้กำเนิดสมาชิกใหม่ที่อาจมากถึงสิบตัวขึ้นไป การทำหมันให้กับสัตว์เลี้ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันปัญหานี้ รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงประเภทเจ้าแมวเหมียวด้วย

ในบทความนี้ทาง HDmall.co.th จะมาเจาะลึกการทำหมันแมวตัวเมีย เพื่อให้เหล่าทาสแมวทุกท่านได้เข้าใจถึงความหมาย วิธีการ ความสำคัญ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำหมันแมว ซึ่งไม่ได้มีอยู่แค่เพียงการควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

ทำหมันแมวตัวเมีย คืออะไร?

การทำหมันแมวตัวเมีย (Spaying) คือ การคุมกำเนิดสัตว์เลี้ยงประเภทแมวเพศเมียเพื่อลดโอกาสการตั้งท้อง โดยสัตวแพทย์จะพิจารณาตัดรังไข่ของสัตว์เลี้ยงออกไป หรือที่เรียกว่า “Ovariectomy”

นอกจากวิธีทำหมันแมวตัวเมียแบบ Ovariectomy ในปัจจุบันยังมีเทคนิคการทำหมันแบบใหม่ซึ่งจะตัดทั้งรังไข่และมดลูกของแมวออกไปหรือที่เรียกว่า Ovariohysterectomy: OVH เพื่อลดอาการติดสัดที่ยังเกิดขึ้นได้ และลดโอกาสเกิดความผิดปกติที่มดลูกของแมวเพศเมีย

ผ่าตัดทำหมันแมวตัวเมีย ทำยังไง

ทำไมต้องทำหมันแมวตัวเมีย?

ประโยชน์อันดับแรกของการทำหมันแมวที่ต้องพูดถึง ก็คือ ช่วยควบคุมจำนวนประชากรแมวในบ้านของคุณ เนื่องจากการทำหมันแมวจะช่วยป้องกันการตั้งท้องในสัตว์เลี้ยงได้

ถึงแม้หลายๆ บ้านจะมีการเลี้ยงแมวในระบบปิด แต่ก็ยังมีโอกาสที่สัตว์เลี้ยงแสนซนของคุณจะหลุดออกไปนอกบ้าน และไปผสมพันธุ์กับแมวตัวผู้ในละแวกใกล้เคียงได้

นอกจากการลดจำนวนแมวในบ้าน การทำหมันแมวยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่เอื้อต่อทั้งตัวผู้เลี้ยงและตัวสัตว์เลี้ยงของคุณเองด้วย เช่น

  • ลดโอกาสเกิดโรคประจำตัวในแมวเพศเมีย เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมดลูกอักเสบ เนื้องอกที่มดลูก ภาวะคลอดยากเมื่อสัตว์เลี้ยงตั้งท้อง ทำให้สัตว์เลี้ยงอยู่กับคุณได้นานขึ้นอีกหลายปี
  • ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เนื่องจากในช่วงที่สัตว์เลี้ยงติดสัดมักจะเกิดพฤติกรรมร้องเสียงดัง อยู่ไม่สุข ก้าวร้าวขึ้น หรือทำลายข้าวของ
  • ลดพฤติกรรมการหนีเที่ยว ซึ่งอาจทำให้เกิดบาดแผลจากการต่อสู้กับแมวจรจัดหรือเชื้อโรคกลับมาบ้าน โดยแมวที่ทำหมันแล้วมีแนวโน้มที่จะอยู่ติดบ้านมากกว่า

ทำหมันแมวตัวเมียมีกี่วิธี?

แนวทางการทำหมันแมวตัวเมียสามารถจำแนกได้ 2 แบบ ได้แก่

  1. แบบผ่าตัดเปิดช่องท้อง เป็นวิธีทำหมันแบบดั้งเดิมและนิยมทำกันอย่างแพร่หลาย โดยสัตวแพทย์จะผ่าตัดแผลที่หน้าท้อง แล้วตัดมดลูกกับรังไข่ออกมา จากนั้นผูกปิดรังไข่ มดลูก และหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียง แล้วเย็บปิดแผล โดยข้อดีของการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง คือ เป็นที่นิยมในแทบทุกคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ มีค่าใช้จ่ายไม่แพงมากนัก แต่ก็แลกมาด้วยข้อเสียของแผลที่ช่องท้องซึ่งมีขนาดใหญ่ ต้องมีการดูแลอย่างระมัดระวัง มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้
  2. แบบผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นอีกเทคนิคการทำหมันเพื่อให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง โดยสัตว์แพทย์จะเจาะรูที่ช่องท้องประมาณ 2 รูเล็ก แล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปเพื่อให้ขยายช่องท้องให้กว้าง สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน แล้วใช้เครื่องมือสอดผ่านรูเข้าไปตัดรังไข่และมดลูก หลังจากนั้นดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออก แล้วเย็บปิดแผล ข้อดีของการผ่าตัดทำหมันแมวแบบส่องกล้อง คือ แผลค่อนข้างเล็ก ดูแลง่ายกว่า แต่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่นี้ จึงทำให้การทำหมันแมวแบบส่องกล้องยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และมักมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแบบเปิดช่องท้อง

ควรทำหมันแมวตัวเมียตอนอายุเท่าไร?

แมวทุกตัวไม่ว่าเพศผู้หรือเพศเมียสามารถทำหมันได้ตั้งแต่อายุได้ 3 เดือน แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทำหมันแมวจะอยู่ที่อายุ 6-8 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่แมวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และจะเริ่มมีอาการติดสัดเกิดขึ้น

เมื่อแมวของคุณอายุได้ประมาณ 3-4 เดือน คุณสามารถพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการเตรียมตัวทำหมันได้เลย

การเตรียมตัวก่อนทำหมันแมวตัวเมีย

ก่อนที่คุณจะพาสัตว์เลี้ยงไปส่งให้สัตวแพทย์ทำหมัน คุณจะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์และเตรียมสุขภาพของสัตว์เลี้ยงให้พร้อมต่อการทำหมันเสียก่อน โดยคำแนะนำที่ควรปฏิบัติตามมีดังต่อไปนี้

  • พาสัตว์เลี้ยงไปเจาะเลือดและตรวจสุขภาพก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีโรคประจำตัวและความสมบูรณ์ของเลือดปกติดี เพราะหากสัตว์เลี้ยงของคุณมีผลตรวจเลือดที่ผิดเพี้ยนหรือผิดปกติ ก็อาจไม่สามารถทำหมันได้ทันที มิฉะนั้นจะเกิดอาการข้างเคียงที่เป็นอันตรายขึ้น
  • ต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
  • เตรียมที่นอน กรง หรือพื้นที่สำหรับให้สัตว์เลี้ยงพักฟื้น รวมถึงเตรียมอุปกรณ์ช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเลียแผล เช่น ปลอกคอ เสื้อกันเลีย
  • เตรียมเวลาว่างสำหรับพาสัตว์เลี้ยงกลับมาตรวจแผลและตัดไหมกับสัตวแพทย์

นอกจากนี้หลังจากสัตว์เลี้ยงทำหมันแล้ว คุณอาจต้องตื่นมาในช่วงกลางคืนเพื่อตรวจดูอาการของสัตว์เลี้ยงเป็นระยะๆ ด้วย ช่วงเวลาทำหมันจึงอาจเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือช่วงที่คุณมีเวลามากพอในการดูแลสัตว์เลี้ยงในระหว่างที่เขาพักฟื้น

การดูแลหลังทำหมันแมวตัวเมีย

หลักการดูแลเจ้านายของคุณหลังจากที่เขาอยู่ในช่วงพักฟื้นหลังทำหมัน มีดังต่อไปนี้

  • กักบริเวณสัตว์เลี้ยง เพื่อลดโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายจนแผลกระทบกระเทือน และคุณต้องดทำทุกกิจกรรมที่อาจสร้างโอกาสให้สัตว์เลี้ยงวิ่งหรือกระโดด มิฉะนั้นแผลทำหมันอาจฉีกขาดได้
  • ให้สัตว์เลี้ยงพักฟื้นอยู่ภายในบ้าน เพื่อให้ห่างไกลจากเชื้อโรค แมลง รวมถึงสุนัขหรือแมวจรจัดที่อาจมารบกวนทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณตื่นตระหนกในระหว่างพักฟื้น นอกจากนี้บรรยากาศภายในบ้านที่มักสงบกว่าภายนอกยังเอื้อต่อสภาพจิตใจของสัตว์เลี้ยง ทำให้เขาไม่รู้สึกกลัวในระหว่างที่เผชิญกับความเจ็บจากแผลผ่าตัดเกินไปด้วย
  • แยกสัตว์เลี้ยงออกจากสัตว์เลี้ยงตัวอื่น เพราะอาจเสี่ยงที่พวกเขาจะเล่นหรือทะเลาะกันจนแผลผ่าตัดกระทบกระเทือนได้
  • ป้อนยาและทายาที่แพทย์สั่งจ่ายอย่างครบถ้วน โดยคุณอาจให้สัตวแพทย์สอนการป้อนยาให้สัตว์เลี้ยงก่อนพาเขากลับมาที่บ้าน
  • ใส่อุปกรณ์ป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเลียแผล จนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้ถอดได้
  • ระมัดระวังอย่าให้แผลโดนน้ำหรือเปียกชื้น
การดูแลแมวตัวเมียหลังทำหมัน

ผลข้างเคียงของการทำหมันแมวตัวเมีย

นอกจากการดูแลสัตว์เลี้ยงหลังทำหมัน คุณต้องสังเกตดูอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากผ่าตัดทำหมันด้วย โดยอาการข้างเคียงทั่วไปที่พบได้จากการทำหมันแมวตัวเมีย ได้แก่

  • นอนหลับมากกว่าปกติ
  • เคลื่อนไหวร่างกายเชื่องช้า ไม่ค่อยกระโดด
  • เบื่ออาหาร หรือกินอาหารน้อยลง
  • เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่เล่นกับผู้เลี้ยงเหมือนกับแต่ก่อน

ความเสี่ยงของการทำหมันแมวตัวเมีย

นอกจากผลข้างเคียงที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและถือเป็นสัญญาณอันตราย ที่ควรพาแมวของคุณไปพบสัตวแพทย์ทันที ดังนี้

  • เลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด
  • มีน้ำหนองไหลออกมาจากแผลผ่าตัด
  • รอยเย็บแผลผ่าตัดเป็นจ้ำแดงและบวมขึ้น
  • สัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมเดินหลังค่อมซึ่งสังเกตได้จากแผ่นหลังที่โก่งงอขึ้นผิดปกติ
  • ไม่ยอมกินอาหารและน้ำหลังจากผ่าตัด
  • มีภาวะซึมอย่างรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการดูแลหรือการฟื้นฟูจากเจ้าของ

ทำหมันแมวตัวเมียนิสัยเปลี่ยนไหม?

ลักษณะนิสัยของแมวตัวเมียที่คุณเลี้ยงอาจเปลี่ยนไปได้หลังจากทำหมัน ซึ่งจัดเป็นเรื่องปกติที่พบได้ เช่น

  • อยู่กับบ้านมากขึ้น ไม่ค่อยอยากเคลื่อนไหวร่างกาย หรือท่องเที่ยวไปที่ไกลๆ นัก
  • น้ำหนักขึ้น ซึ่งหากไม่ได้ขึ้นมากเกินเกณฑ์มาตรฐานแมวทั่วไปก็ถือว่าไม่เป็นไร แต่ก็ควรระมัดระวังโรคเบาหวานและโรคเกี่ยวกับไขข้อในอนาคต เนื่องจากแมวที่ทำหมันแล้วส่วนมากมักกินเยอะขึ้นจนอ้วนได้
  • นิสัยสงบขึ้น ไม่ร้องเสียงดังหรือทำลายข้าวของ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในแมวติดสัด

เพื่อให้คุณรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิดหลังจากทำหมันแมวตัวเมียได้อย่างเหมาะสม คุณควรสอบถามสัตวแพทย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงก่อนส่งเขาทำหมัน เพื่อจะได้รู้แนวทางในการเลี้ยงดูและได้อยู่เคียงข้างกันกับเจ้าเหมียวคู่หูของคุณได้อย่างมีความสุข

Scroll to Top