ออทิสติก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางสมองตั้งแต่กำเนิด จากรายงานการศึกษาของหลายสถาบันมีความเห็นพ้องกันว่ากลไกของการเกิดโรคที่สำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่เพียงพอทำให้เซลล์สมองบางส่วนทำงานน้อยหรือไม่ทำงาน จนส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านการสื่อสาร ด้านการเข้าสังคม และด้านการเล่น / พฤติกรรมซ้ำๆ
สารบัญ
สาเหตุการเกิดโรคออทิสติก
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคออทิสติกที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมาจากภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอด เช่น มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดก่อนกำหนด รวมถึงปัจจัยทางพันธุกรรมด้วย
อาการของโรคออทิสติก
อาการของภาวะออทิสติกสามารถพบได้ในวัยเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปี และจะมีอาการชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุ 3 ปี อาการสำคัญสามารถจำแนกตามพัฒนาการแต่ละด้านได้ดังต่อไปนี้
- พัฒนาการด้านการสื่อสาร เช่น พูดช้า พูดภาษาแปลก ๆ ไม่ส่งเสียงเรียก มักบอกความต้องการโดยการชี้นิ้ว ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
- พัฒนาการด้านการเข้าสังคม เช่น ไม่สบตาเวลาพูด ดูเฉยเมยไร้อารมณ์ ปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ลำบาก ไม่แสดงอารมณ์ดีใจหรือเสียใจ
- พัฒนาการด้านการเล่น/พฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เล่นซ้ำ ๆ มองซ้ำ ๆ สนใจในรายละเอียดมากเกินไป ชอบเล่นตามลำพัง ไม่สนใจการเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถเล่นตามกฎเกณฑ์ได้
- อาการร่วมอื่นๆ เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ ทำร้ายตัวเอง
การประเมินอาการออทิสติกเบื้องต้น
ผู้ปกครองสามารถประเมินพฤติกรรมเสี่ยงภาวะออทิสติกได้ด้วยตนเอง โดยใช้แบบแบบประเมินจากกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้
คำแนะนำ ให้ผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเด็กเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ประเมินโดยการ สังเกตพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้
พฤติกรรมเสี่ยง | พบ(1คะแนน) | ไม่พบ (0คะแนน) |
ก.พฤติกรรมทางสังคม | ||
1.ไม่มอง ไม่สบตา | ||
2. มองผ่านมองคนอื่นเหมือนไม่มีชีวิต | ||
3. ไม่ชอบการโอบกอด | ||
4. ไม่สามารถเล่นเลียนแบบได้ หรือ เล่นของเล่นไม่เป็น | ||
5. ไม่สนใจบุคคลรอบข้าง | ||
6. ซนผิดปกติ หรือ นิ่งผิดปกติ | ||
7. กรีดร้อง เอาแต่ใจตนเอง | ||
8. หัวเราะ ร้องไห้ แสดงอารมณ์ไม่เหมาะสมกับเหตุผล | ||
9. ทำลายสิ่งของ ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น | ||
10. ยึดติดวัตถุหรือของแปลกๆ | ||
ข.พฤติกรรมสื่อความหมาย | ||
1. พูดช้า หรือไม่พูด | ||
2. พูดไม่เป็นคำที่มีความหมาย | ||
3. ทำเสียงแปลกๆ ซ้ำๆ ไม่เป็นคำพูด | ||
4. พูดเลียนแบบประโยคหรือคำ ตามละครหรือโฆษณา ซ้ำๆ | ||
5. ไม่เข้าใจคำสั่งหรือทำตามคำสั่งไม่ได้ เช่น บ๊ายบาย,สวัสดี,ตบมือแปะๆ | ||
6. เมื่อต้องการสิ่งใดมักจะสื่สารด้วยท่าทางแทนคำพูด | ||
7. จับมือผู้ใหญ่ให้ทำงานแทนในสิ่งที่ตนต้องการ | ||
ค.พฤติกรรมการเล่น/พฤติกรรมซ้ำๆ | ||
1. ชอบสะบัดมือ เล่นนิ้วมือเป็นประจำ | ||
2. จ้องมองวัตถุหรือสิ่งของรอบๆตัวนานครั้งละ 5 วินาทีหรือนานกว่านั้น | ||
3. ชอบเล่นหมุนๆ หรือปั่นวัตถุให้หมุน | ||
4. กระตุ้นตัวเองโดยการหมุนตัว โยกตัว | ||
5. เดินเขย่งปลายเท้า | ||
6. ชอบจัดเรียงลำดับวัตถุในแบบเดิมๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะไม่พอใจ | ||
7.วิตกกังวลเมื่อต้องเปลี่ยนกิจกรรมที่เคยทำเป็นประจำ | ||
รวมคะแนน
คะแนนรวมตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไปหมายความว่ามีภาวะเสี่ยงออทิสติก |
เมื่อผู้ปกครองทำการประเมินแล้วพบภาวะเสี่ยงออทิสติก ขอให้พาเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาต่อไป
การวินิจฉัยโรคออทิสติก
ทำโดยการประเมินอาการทางคลินิกซึ่งประกอบด้วยการซักประวัติจากพ่อแม่และการประเมินเด็กผ่านทางการเล่น แพทย์อาจขอข้อมูลพฤติกรรมที่โรงเรียนจากครูเพิ่มเติม และอาจต้องส่งประเมินระดับสติปัญญาโดยนักจิตวิทยาคลินิก เพื่อการวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนั้นในรายที่มีอาการชักร่วมด้วยอาจต้องส่งตรวจทางคลินิกอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นต้น
การรักษาโรคออทิสติก
จากหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน โรคออทิสติกไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถรักษาให้มีอาการดีขึ้นและปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างเหมาะสม การรักษาออทิสติกสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้
- การกระตุ้นพัฒนาการ เป็นการรักษาที่มีความสำคัญที่สุด การกระตุ้นพัฒนาการมีหลายวิธี ได้แก่ การกระตุ้นผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก กิจกรรมบำบัด และการฝึกพูด การรักษาทั้งหมดนี้ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอย่างต่อเนื่อง
- การปรับพฤติกรรม การปรับพฤติกรรมในเด็กออทิสติกมีวัตถุประสงค์เพื่อลดพฤติกรรมอันตราย เช่น โขกศีรษะหรือก้าวร้าว ซึ่งในเด็กออทิสติกจะมีข้อจำกัดในการสื่อสารทำให้ไม่สามารถใช้ภาษาพูดได้อย่างตรงไปตรงมา การสื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรมต้องกระชับเข้าใจง่ายและทำได้จริง ในการปรับพฤติกรรมแต่ละครั้งผู้ปกครองจะต้องมีส่วนร่วมและรับการฝึกทักษะจากผู้บำบัดเพื่อกลับไปทำต่อที่บ้าน
- การใช้ยา เนื่องจากโรคออทิสติกเป็นโรคของพัฒนาการทางสมอง ดังนั้นยาจึงจำเป็นที่จะช่วยในการควบคุมสารเคมีในสมองให้มีความสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน การใช้ยาจะพิจารณาตามอาการสำคัญในเด็กออทิสติก เช่น ยาควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าว ยาช่วยควบคุมอาการขาดสมาธิและอยู่ไม่นิ่ง เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วยยาจะต้องมีการดูแลและประเมินผลข้างเคียงโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ
ที่มาของข้อมูล
- Understanding the Self in Individuals with Autism Spectrum Disorders (ASD): A Review of Literature. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5572253/)
- Signs and Symptoms of Autism Spectrum Disorders. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/ncbddd/autism/signs.html)
- Signs and symptoms of autism in a 3-year-old. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/325736)