ออทิสติกและการประเมินภาวะเสี่ยงออทิสติก

ออทิสติก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางสมองตั้งแต่กำเนิด จากรายงานการศึกษาของหลายสถาบันมีความเห็นพ้องกันว่ากลไกของการเกิดโรคที่สำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่เพียงพอทำให้เซลล์สมองบางส่วนทำงานน้อยหรือไม่ทำงาน  จนส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านการสื่อสาร  ด้านการเข้าสังคม  และด้านการเล่น / พฤติกรรมซ้ำๆ

สาเหตุการเกิดโรคออทิสติก

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคออทิสติกที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมาจากภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอด เช่น มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดก่อนกำหนด รวมถึงปัจจัยทางพันธุกรรมด้วย

อาการของโรคออทิสติก

อาการของภาวะออทิสติกสามารถพบได้ในวัยเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปี และจะมีอาการชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุ 3 ปี   อาการสำคัญสามารถจำแนกตามพัฒนาการแต่ละด้านได้ดังต่อไปนี้

  • พัฒนาการด้านการสื่อสาร เช่น พูดช้า พูดภาษาแปลก ๆ  ไม่ส่งเสียงเรียก มักบอกความต้องการโดยการชี้นิ้ว  ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
  • พัฒนาการด้านการเข้าสังคม เช่น ไม่สบตาเวลาพูด ดูเฉยเมยไร้อารมณ์ ปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ลำบาก ไม่แสดงอารมณ์ดีใจหรือเสียใจ
  • พัฒนาการด้านการเล่น/พฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เล่นซ้ำ ๆ  มองซ้ำ ๆ  สนใจในรายละเอียดมากเกินไป  ชอบเล่นตามลำพัง  ไม่สนใจการเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถเล่นตามกฎเกณฑ์ได้
  • อาการร่วมอื่นๆ เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว  ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ ทำร้ายตัวเอง

การประเมินอาการออทิสติกเบื้องต้น 

ผู้ปกครองสามารถประเมินพฤติกรรมเสี่ยงภาวะออทิสติกได้ด้วยตนเอง  โดยใช้แบบแบบประเมินจากกระทรวงสาธารณสุข  ดังนี้

คำแนะนำ  ให้ผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเด็กเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ประเมินโดยการ สังเกตพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้

พฤติกรรมเสี่ยง พบ(1คะแนน) ไม่พบ (0คะแนน)
ก.พฤติกรรมทางสังคม
1.ไม่มอง ไม่สบตา
2. มองผ่านมองคนอื่นเหมือนไม่มีชีวิต
3. ไม่ชอบการโอบกอด
4. ไม่สามารถเล่นเลียนแบบได้ หรือ เล่นของเล่นไม่เป็น
5. ไม่สนใจบุคคลรอบข้าง
6. ซนผิดปกติ หรือ นิ่งผิดปกติ
7. กรีดร้อง เอาแต่ใจตนเอง
8. หัวเราะ ร้องไห้ แสดงอารมณ์ไม่เหมาะสมกับเหตุผล
9. ทำลายสิ่งของ ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น
10. ยึดติดวัตถุหรือของแปลกๆ
ข.พฤติกรรมสื่อความหมาย
1. พูดช้า หรือไม่พูด
2. พูดไม่เป็นคำที่มีความหมาย
3. ทำเสียงแปลกๆ ซ้ำๆ ไม่เป็นคำพูด
4. พูดเลียนแบบประโยคหรือคำ  ตามละครหรือโฆษณา ซ้ำๆ
5. ไม่เข้าใจคำสั่งหรือทำตามคำสั่งไม่ได้ เช่น บ๊ายบาย,สวัสดี,ตบมือแปะๆ
6. เมื่อต้องการสิ่งใดมักจะสื่สารด้วยท่าทางแทนคำพูด
7. จับมือผู้ใหญ่ให้ทำงานแทนในสิ่งที่ตนต้องการ
ค.พฤติกรรมการเล่น/พฤติกรรมซ้ำๆ
1. ชอบสะบัดมือ เล่นนิ้วมือเป็นประจำ
2. จ้องมองวัตถุหรือสิ่งของรอบๆตัวนานครั้งละ 5 วินาทีหรือนานกว่านั้น
3. ชอบเล่นหมุนๆ หรือปั่นวัตถุให้หมุน
4. กระตุ้นตัวเองโดยการหมุนตัว โยกตัว
5. เดินเขย่งปลายเท้า
6. ชอบจัดเรียงลำดับวัตถุในแบบเดิมๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะไม่พอใจ
7.วิตกกังวลเมื่อต้องเปลี่ยนกิจกรรมที่เคยทำเป็นประจำ
รวมคะแนน

คะแนนรวมตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไปหมายความว่ามีภาวะเสี่ยงออทิสติก

 

เมื่อผู้ปกครองทำการประเมินแล้วพบภาวะเสี่ยงออทิสติก  ขอให้พาเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาต่อไป

การวินิจฉัยโรคออทิสติก

ทำโดยการประเมินอาการทางคลินิกซึ่งประกอบด้วยการซักประวัติจากพ่อแม่และการประเมินเด็กผ่านทางการเล่น แพทย์อาจขอข้อมูลพฤติกรรมที่โรงเรียนจากครูเพิ่มเติม และอาจต้องส่งประเมินระดับสติปัญญาโดยนักจิตวิทยาคลินิก เพื่อการวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนั้นในรายที่มีอาการชักร่วมด้วยอาจต้องส่งตรวจทางคลินิกอย่างอื่นเพิ่มเติม  เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นต้น

การรักษาโรคออทิสติก

จากหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน โรคออทิสติกไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถรักษาให้มีอาการดีขึ้นและปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างเหมาะสม การรักษาออทิสติกสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้

  • การกระตุ้นพัฒนาการ เป็นการรักษาที่มีความสำคัญที่สุด  การกระตุ้นพัฒนาการมีหลายวิธี ได้แก่ การกระตุ้นผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก กิจกรรมบำบัด และการฝึกพูด การรักษาทั้งหมดนี้ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอย่างต่อเนื่อง
  • การปรับพฤติกรรม การปรับพฤติกรรมในเด็กออทิสติกมีวัตถุประสงค์เพื่อลดพฤติกรรมอันตราย เช่น โขกศีรษะหรือก้าวร้าว ซึ่งในเด็กออทิสติกจะมีข้อจำกัดในการสื่อสารทำให้ไม่สามารถใช้ภาษาพูดได้อย่างตรงไปตรงมา การสื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรมต้องกระชับเข้าใจง่ายและทำได้จริง ในการปรับพฤติกรรมแต่ละครั้งผู้ปกครองจะต้องมีส่วนร่วมและรับการฝึกทักษะจากผู้บำบัดเพื่อกลับไปทำต่อที่บ้าน
  • การใช้ยา เนื่องจากโรคออทิสติกเป็นโรคของพัฒนาการทางสมอง ดังนั้นยาจึงจำเป็นที่จะช่วยในการควบคุมสารเคมีในสมองให้มีความสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน การใช้ยาจะพิจารณาตามอาการสำคัญในเด็กออทิสติก เช่น ยาควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าว  ยาช่วยควบคุมอาการขาดสมาธิและอยู่ไม่นิ่ง เป็นต้น  ซึ่งการรักษาด้วยยาจะต้องมีการดูแลและประเมินผลข้างเคียงโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top