กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย (Female to Male หรือ FTM) ที่สำคัญและมีความซับซ้อนที่สุดก็คือ การผ่าสร้างน้องชาย หรืออวัยวะเพศชายขึ้นใหม่ เพื่อแสดงความเป็นผู้ชายข้ามเพศโดยสมบูรณ์
ด้วยความที่เป็นอวัยวะเพศดังกล่าวสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด หลายคนจึงมีคำถาม หรือข้อสงสัยมากมาย คำถามเด็ดๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ รูปลักษณ์จะเหมือนของจริงไหม? จะมีความรู้สึกทางเพศไหม? และแน่นอนคำถามไฮไลท์ของประเด็นนี้ อวัยวะเพศที่สร้างขึ้นใหม่นี้จะใช้ในการออกรบ หรือมีอะไรกันได้ไหม?
สารบัญ
แปลงเพศแล้ว อวัยวะเพศชายที่สร้างขึ้นใหม่เหมือนของจริงไหม?
กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชายในขั้นตอนการสร้างอวัยวะเพศชายนั้น มีหลายวิธี หลายเทคนิค
โดยวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ การใช้เนื้อเยื่อจากบริเวณต่างๆ ของร่างกายมาสร้างอวัยวะเพศชาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเยื่อจากท้องแขน เนื้อเยื่อบริเวณน่อง หรือเนื้อเยื่อบริเวณแผ่นหลัง
การใช้เนื้อเยื่อของร่างกาย มีข้อดีคือ ทำให้ศัลยแพทย์สามารถสร้างอวัยวะเพศใหม่ให้มีรูปทรงใกล้เคียงอวัยวะเพศชายตามธรรมชาติได้ง่าย
หากอธิบายให้เห็นภาพก็คือ การนำชิ้นเนื้อที่ตัดออกในลักษณะแผ่นสี่เหลี่ยมมาม้วนให้ได้รูปทรง ความใหญ่ และความยาวตามต้องการ แล้วจึงเย็บเข้าด้วยกันให้เรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม รูปทรงอวัยวะเพศจะได้รูปหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์เป็นสำคัญ
นอกจากนี้หลังจากแผลผ่าตัดหายดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ผู้เข้ารับบริการยังสามารถเข้ารับการผ่าตัดตกแต่งปลายอวัยวะเพศให้เป็นรูปเห็ด หรือผ่าตัดตกแต่งอื่นๆ ได้อีกด้วย
แปลงเพศแล้ว อวัยวะเพศชายที่สร้างขึ้นใหม่มีความรู้สึกไหม?
ปัจจุบันนอกจากศัลยแพทย์จะสามารถผ่าตัดยืดท่อปัสสาวะให้ยาวขึ้น และฝังท่อปัสสาวะในอวัยวะเพศชายที่สร้างขึ้นได้สำเร็จ ทำให้ผู้เข้ารับบริการสามารถยืนปัสสาวะได้ ไม่เลอะเทอะเช่นเดียวกับอวัยวะเพศชายตามธรรมชาติได้แล้ว
ศัลยแพทย์ยังสามารถทำให้อวัยวะเพศชายที่สร้างขึ้นใหม่ มีความรู้สึก หรือมีอารมณ์ทางเพศได้ด้วย โดยการใช้เทคนิคดึงปลายเส้นประสาทรับความรู้สึกจากคลิตอริสออกมา แล้วเชื่อมต่อกับอวัยวะเพศชายที่สร้างขึ้นใหม่
ในระยะแรกๆ หลังการผ่าตัด เส้นประสาทยังคงบอบช้ำจึงอาจยังไม่มีความรู้สึก จนเมื่อเวลาผ่านไปเส้นประสาทจะค่อยๆ ฟื้นตัวและงอกยาวยิ่งขึ้น อย่างน้อย 6 เดือน เส้นประสาทจะกลับมาแข็งแรง สามารถรับรู้ความรู้สึกที่อวัยวะเพศชายได้
อย่างไรก็ตาม การที่อวัยวะเพศจะมีความรู้สึกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเทคนิคการผ่าตัดของศัลยแพทย์เป็นสำคัญ
แปลงเพศแล้ว อวัยวะเพศชายที่สร้างขึ้นใหม่สามารถมีอะไรกันได้ไหม?
ความใฝ่ฝันของผู้เข้ารับบริการหลายคนที่ตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศ สร้างอวัยวะเพศชายด้วยเงินหลายแสนบาท นอกจากต้องการยืนปัสสาวะได้แบบผู้ชายจริงๆ อวัยวะเพศสามารถรับรู้ความรู้สึก หรือมีอารมณ์ทางเพศได้แล้ว
หลายคนยังต้องการให้อวัยวะเพศสามารถ “ใช้งานในกิจกรรมทางเพศ” หรือ “ออกรบ” ได้อีกด้วย จึงจะเรียกว่า “เป็นชายข้ามเพศแบบครบเครื่อง”
ปัจจุบันศัลยแพทย์มีเทคนิคเสริมความแข็งแรงให้อวัยวเพศ ที่ช่วยให้สามารถใช้อวัยวะเพศในกิจกรรมทางเพศได้ด้วย
รูปแบบสำคัญๆ ที่พบได้แก่
- รูปแบบที่ 1 การผ่าตัดใส่แกนซิลิโคนเทียมเข้าไปในอวัยวะเพศชาย พร้อมกับฝังถุงน้ำไว้บริเวณโคนขาเมื่อต้องการใช้งานก็กดปุ่มตรงถุงน้ำ น้ำจะไหลไปยังแกนซิลิโคนทำให้อวัยวะเพศดูแข็งตัว หลังใช้งานเสร็จกดปุ่มอีกครั้ง น้ำก็จะไหลกลับไปยังถุงน้ำดังเดิม เทคนิคนี้มีกลไกเช่นเดียวกับวิธีที่ใช้รักษาผู้ชายที่ประสบปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัวนั่นเอง
- รูปแบบที่ 2 การผ่าตัดใส่แกนซิลิโคนเทียมเข้าไปในอวัยวะเพศชาย ยึดแกนซิลิโคนกับกระดูกหัวหน่าว เมื่อต้องการใช้งาน ก็เพียงแค่ยกอวัยวะเพศตั้งขึ้นเท่านั้น หลังใช้งานเสร็จก็พับอวัยวะเพศกลับลงดังเดิม
อยางไรก็ตาม การจะใช้งานอวัยวะเพศชายที่สร้างขึ้นใหม่ได้เมื่อไหร่นั้น นอกจากต้องรอให้บาดแผลหายสนิท เส้นประสาทแข็งแรงแล้ว ยังต้องให้ศัลยแพทย์ตรวจเช็คความพร้อมอีกครั้ง
หากศัลยแพทย์ไฟเขียวให้สามารถใช้งานน้องชายได้ ในระยะแรกก็จำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการเสียดสี และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่อย่างรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้แกนซิลิโคนเทียมทะลุอวัยวะเพศออกมา ถนอมน้องชายให้อยู่ด้วยกันไปนานๆ
อย่างไรก็ตาม การที่อวัยวะเพศชายที่สร้างขึ้นใหม่จะสามารถใช้งานในกิจกรรมทางเพศได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเทคนิคการผ่าตัดของศัลยแพทย์เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับรูปลักษณ์ การรับรู้ความรู้สึกของอวัยวะเพศนั่นเอง
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศ สร้างน้องชายควรหาข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ และศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์อย่างแท้จริง เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีและเป็นที่พึงพอใจสูงสุด