เมล็ดฟักทอง (Pumpkin Seeds) เป็นอีกหนึ่งของขบเคี้ยวที่หลายคนชื่นชอบ นอกจากความเคี้ยวเพลินแล้ว เมล็ดฟักทองอบแห้ง เมล็ดเล็กๆ จากผลฟักทองยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่ก็มีข้อควรระวังในการทาน หากทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้เช่นกัน
สารบัญ
สารสำคัญในเมล็ดฟักทอง
ในเมล็ดฟักทอง 28 กรัมให้พลังงานประมาณ 151 แคลอรี โดยส่วนประกอบหลักมาจากโปรตีน และไขมัน นอกจากนี้ ในเมล็ดฟักทองยังให้สารอาหารที่มีประโยชน์อื่นๆ อีก เช่น ไฟเบอร์ คาร์โบไฮเดรต วิตามินบี 2 วิตามินเค แมงกานีส แมกนีเซียม สังกะสี และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ในเมล็ดฟักทองมีสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้
1. สารต้านอนุมูลอิสระ
ในเมล็ดฟักทองประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารแคโรทีนอยด์ และวิตามินอี จึงซึ่งมีส่วนช่วยลดอาการอักเสบ ลดการเกิดโรคมะเร็ง และช่วยปกป้องเซลล์ของร่างกายจากสารอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา
2. แมกนีเซียม
แมกนีเซียมในเมล็ดฟักทอง คือ แร่ธาตุชั้นดีในการเสริมความแข็งแรงของมวลกระดูกให้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว
นอกจากนี้ แร่ธาตุแมกนีเซียมยังมีส่วนช่วยปรับภาวะอารมณ์ของคุณให้คงที่ ทำให้ผู้ที่มีปัญหานอนหลับยากสามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น
3. กรดไขมันโอเมก้า 3
เมล็ดฟักทองอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3) ซึ่งช่วยลดโอกาสเกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจวาย (Heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหลอดเลือดแข็ง และภาวะอื่นๆ เกี่ยวกับหัวใจที่อันตรายถึงชีวิตได้
นอกจากนี้ กรดไขมันโอเมก้า 3 ยังช่วยบำรุงระบบไหลเวียนเลือด ผ่านการเสริมระบบการทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด (Endothelial function)
ประโยชน์ของเมล็ดฟักทอง
เมล็ดฟักทองทั้งแบบทั่วไปและเมล็ดฟักทองอบแห้ง มีสารอาหารหลากหลาย ดังนั้นจึงช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้หลายโรค ตัวอย่างประโยชน์ของเมล็ดฟักทองต่อสุขภาพ ได้แก่
1. ช่วยเพิ่มจำนวนตัวอสุจิ
สำหรับคุณผู้ชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ คุณควรลองหาเมล็ดฟักทองมารับประทาน เพราะมันอุดมไปด้วยแร่ธาตุสังกะสีที่ช่วยเพิ่มปริมาณตัวอสุจิที่แข็งแรงมากขึ้น และลดความเสี่ยงการเป็นหมันในเพศชายได้
อีกทั้งในเมล็ดฟักทองยังมีส่วนช่วยบำรุงระบบฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญของผู้ชาย และน้ำมันเมล็ดฟักทองยังช่วยบำรุงการทำงานของต่อมลูกหมากได้ดีอีกด้วย
2. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
เมล็ดฟักทองประกอบไปด้วยโปรตีน และคาร์โบไฮเดรตชั้นดีที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ อีกทั้งช่วยบำรุงระบบการผลิตสารอินซูลินของร่างกาย ให้สามารถเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสไปเป็นพลังงานในร่างกายได้อย่างเพียงพอ
3. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
แร่ธาตุสังกะสีในเมล็ดฟักทองมีประโยชน์ในการบำรุงผิวพรรณ ทั้งยังมีสารสควาเลน (Squalane) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดที่ช่วยปกป้องผิวคุณจากแสงยูวี รวมถึงรังสีจากดวงอาทิตย์
อีกทั้งสารสควาเลนยังมีถือเป็นตัวบำรุงสำคัญในการเพิ่มปริมาณสารเรตินอล (Retinol) ซึ่งเป็นสารช่วยยับยั้งไม่ให้ผิวเกิดริ้วร้อย จุดด่างดำจากการเผชิญแสงแดด
4. บำรุงระบบย่อยอาหาร
ไฟเบอร์ในเมล็ดฟักทองมีประโยชน์ต่อการบำรุงระบบย่อยอาหารของร่างกาย ทำให้คุณอิ่มท้องได้นาน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
และไฟเบอร์จากเมล็ดฟักทองยังช่วยควบคุมระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดได้ จึงช่วยลดโอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ด้วยเช่นกัน
อีกทั้งในเมล็ดฟักทองยังมีสารไฟโคสเตอรอล (Phytosterols) เป็นสารพฤษเคมีที่พบได้ในพืชซึ่งมีประโยชน์ในการลดระดับไขมันไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) ในร่างกายไม่ให้สะสมมากเกินไป
5. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
แร่ธาตุสังกะสีและธาตุเหล็กในเมล็ดฟักทองช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียต่างๆ
นอกจากในตัวเมล็ดแล้ว น้ำมันจากเมล็ดฟักทองยังมีวิตามินอีและสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ที่ช่วยบำรุงระบบภูมิคุ้มกันและระบบเม็ดเลือดแดงอีกด้วย
6. มีประโยชน์ต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง
แร่ธาตุสังกะสีในเมล็ดฟักทองถือเป็นแร่ธาตุสำคัญในการบำรุงสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ และช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคในมดลูก หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อีกทั้งช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้
ข้อควรระวังและโทษ จากเมล็ดฟักทอง
เมล็ดฟักทองอาจทำให้คุณเกิดผลข้างเคียงจากวิธีรับประทานที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น
- ทำให้ปวดท้อง เพราะในเมล็ดฟักทองมีน้ำมันที่มีไขมันสูง ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดเกร็งท้องได้ คุณจึงไม่ควรรับประทานเมล็ดฟักทองขณะท้องว่าง แต่ควรรับประทานร่วมกับอาการชนิดอื่นๆ
- ไม่ได้รับสารอาหารเท่าที่ควร หากคุณปรุงอาหารด้วยเมล็ดฟักทองอย่างผิดวิธี เช่น ใช้ความร้อนสูงเกินไป จะทำให้สารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น วิตามินบี วิตามินซี ถูกทำลายออกไป
- ส่งผลต่อระดับเกลือแร่ในร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretic Drugs) ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เมล็ดฟักทองอาจทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีพอจนคุณไม่สามารถปัสสาวะออกมาได้มากอย่างที่ควร
- ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก เด็กเล็กในช่วงวัยอนุบาลยังไม่ควรรับประทานเมล็ดฟักทอง เพราอาจทำให้เด็กปวดท้อง อาเจียน หรือท้องเสียได้
- เกิดอาการแพ้ เมล็ดฟักทองก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้อาหารได้เช่นกัน แต่มักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หากคุณรับประทานเมล็ดฟักทองแล้วมีอาการผื่นลมพิษ ปวดหัว ปากบวม คอบวม หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เมล็ดฟักทองอาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ แต่ในผู้ที่มีระดับน้ำตาลไม่เลือดคงไม่คงที่ เมล็ดฟักทองอาจเป็นปัจจัยทำให้น้ำตาลในเลือดของคุณต่ำลงไปอีก ทางที่ดี หากคุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่า สามารถรับประทานเมล็ดฟักทองได้หรือไม่
- ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ เมล็ดฟักทองมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์มากมายก็จริง แต่มันก็เป็นตัวการที่สามารถเข้าไปปรับระดับความดันโลหิตให้ต่ำจนเป็นอันตรายได้ หากคุณเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิต ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเมล็ดฟักทองเพื่อความปลอดภัย
- ไม่เหมาะกับผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก เมล็ดฟักทองเป็นอาหารว่างในบางครั้งบางคราวได้ แต่ในผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนักจริงจัง แม้มันจะขึ้นชื่อว่าเป็น ธัญพืชที่ดีชนิดหนึ่ง เมล็ดฟักทองก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักที่จะรับประทานได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะเมล็ดฟักทองมีไขมันสูงที่อาจเพิ่มน้ำหนักที่คุณไม่ต้องการเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นอาหารที่ต้องระวังในผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วย
เมนูสุขภาพจากเมล็ดฟักทอง
ผู้คนส่วนมากมักบริโภคเมล็ดฟักทองเป็นเมล็ดๆ แบบของกินเล่น แต่ความจริงแล้ว เมล็ดฟักทองยังสามารถนำมาดัดแปลงเป็นเมนูขนมอื่นๆ ได้อีก เช่น
- คุกกี้ธัญพืชผสมเมล็ดฟักทอง
- กราโนลาใส่เมล็ดฟักทอง
- เค้กฟักทอง
- แซนด์วิชสอดไส้แยมกับธัญพืชเมล็ดฟักทอง
- เค้กกล้วยหอมอบเมล็กฟักทอง
- นมเมล็ดฟักทอง
เมล็ดฟักทองมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน แต่ก็มีข้อควรระวังในหลายอย่างที่คุณต้องศึกษาให้ดีก่อนรับประทาน เพื่อที่คุณจะได้รับสารอาหารจากธัญพืชชนิดที่มีประโยชน์ชนิดนี้ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆ จนเป็นอันตราย