เตรียมตัวอย่างไร? ก่อนการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออก เพื่อแปลงเพศหญิงเป็นชาย?

การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกเพื่อแปลงเพศหญิงเป็นชาย เป็นการผ่าตัดครั้งสำคัญซึ่งจะยุติบทบาทการเป็นเพศหญิงตามธรรมชาติโดยสิ้นเชิง

ดังนั้นผู้เข้ารับบริการจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดทบทวนความต้องการที่แท้จริงของตนเอง และตัดสินใจให้ดี เพราะหากเปลี่ยนใจภายหลัง อยากกลับไปเป็นผู้หญิง อยากมีลูก จะไม่อาจเรียกคืนมดลูกและรังไข่กลับมาได้อีก

เมื่อตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกเพื่อแปลงเพศหญิงเป็นชายอย่างแน่นอนแล้ว ผู้เข้ารับบริการจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด และการดูแลหลังผ่าตัดอย่างถูกต้อง เพื่อให้การผ่าตัดผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และแผลสมานตัวไว

ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออก แปลงเพศหญิงเป็นชาย เตรียมตัวอย่างไร?

อย่างที่เกริ่นมาข้างต้นว่า การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกเป็นการผ่าตัดสำคัญที่ไม่อาจเปลี่ยนใจได้ในภายหลัง ดังนั้นผู้ที่สามารถเข้ารับบริการนี้ได้จึงต้องมีคุณสมบัติดังต่อนี้

  • ผ่านการประเมินสภาพจิตใจจากจิตแพทย์ก่อนเพื่อยืนยันว่า มีภาวะ “Gender dysphoria (GD)” หรือ เป็นผู้ที่ไม่มีความสุขกับสรีระทางเพศแต่กำเนิดอย่างรุนแรงจริง
  • เมื่อตัดสินใจจะผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออก จะต้องได้รับการประเมินจิตใจจากจิตแพทย์อีก 1 ท่าน รวมเป็น 2 ครั้งด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลยืนยันว่า ผู้เข้ารับบริการพร้อมที่จะได้รับการผ่าตัดแปลงเพศจริง ยิ่งหากสามารถประเมินจิตใจในช่วงใกล้กำหนดการผ่าตัดได้ยิ่งดี
  • อายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือหากมีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร
  • เคยทดลองใช้ชีวิตในแบบเพศตรงข้ามในรูปแบบที่ต้องการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
  • เคยรับฮอร์โมนเพศตรงข้ามมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
  • มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • ไม่มีภาวะทางจิตเวช

เมื่อคุณสมบัติครบตามนี้ ผู้เข้ารับบริการควรเข้าพบสูตินรีแพทย์ซึ่งจะเป็นผู้ผ่าตัดโดยตรง เพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการผ่าตัดที่เหมาะสม ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละวิธี รวมทั้งต้องมีการซักประวัติสุขภาพและตรวจสุขภาพอย่างละเอียดโดยเฉพาะการอัลตร้าซาวน์ท้องส่วนล่าง

เนื่องจากการผ่าตัดบางเทคนิคจะมีข้อจำกัดสำหรับผู้มีโรคภายในช่องท้องส่วนล่าง เช่น โรคเนื้องอกที่มดลูกและรังไข่ โรคมะเร็งที่เนื้องอกและรังไข่

หากไม่มีข้อติดขัดใดๆ สูตินรีแพทย์จะแนะนำวิธีเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดดังต่อไปนี้

  • เตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
  • ตรวจภายในเพื่อหาความผิดปกติขออวัยวะในระบบสืบพันธุ์
  • หยุดรับประทานวิตามินซี และอี
  • หยุดใช้ฮอร์โมนเพศอย่างน้อย 14 วันก่อนการผ่าตัด
  • หยุดรับประทานยาประเภทแอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดการอักเสบบางชนิด อย่างน้อย 14 วันก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะเลือดไม่แข็งตัว เลือดออกผิดปกติ
  • หยุดสูบบุหรี่และการดื่อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 14 วันก่อนการผ่าตัด
  • เตรียมลาหยุดงานประมาณ 3 – 5 วัน สำหรับการพักฟื้นในโรงพยาบาลและที่บ้าน ทั้งนี้ระยะเวลาขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัดด้วย
  • ควรรับประทานอาหารอ่อนและอาหารที่มีกากใยน้อย 1-2 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล เพราะก่อนผ่าตัดจะได้รับการสวนอุจจาระเพื่อไม่ให้สำไส้โป่งพองในขณะผ่าตัด
  • งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

ขั้นตอนการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออก แปลงเพศหญิงเป็นชาย มีอะไรบ้าง?

การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกมีวิธีที่นิยม 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่

  • วิธีที่ 1 การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ผ่านทางหน้าท้อง (Abdominal Hysterectomy)
  • วิธีที่ 2 การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ผ่านการส่องกล้อง (Laparoscopic Hysterectomy)
  • วิธีที่ 3 การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) หรือ Natural Orifice Transluminal Endoscopic Surgery Hysterectomy & Oophorectomy (NOTES)

ทั้งนี้แต่ละวิธีก็มีขั้นตอน และรายละเอียดแตกต่างกันไป สามารถสรุปขั้นการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกที่สำคัญๆ ได้ดังนี้

  • ดมยาสลบ
  • เริ่มกระบวนการผ่าตัดเปิดหน้าท้องบริเวณเป้าหมายด้วยการใช้มีดกรีด หรือการสอดอุปกรณ์ผ่านหน้าท้อง หรือช่องคลอด เพื่อเข้าถึงมดลูกและรังไข่
  • เมื่อกล้อง หรือเครื่องมือไปถึงมดลูกและรังไข่แล้ว สูตินรีแพทย์จะเริ่มใช้เครื่องขนาดเล็กเลาะตัดเส้นเอ็นที่ยึดมดลูกและรังไข่ออก รวมทั้งเลาะตัดเส้นเลือดโดยรอบพร้อมกับห้ามเลือด
  • เมื่อตัดเส้นเอ็นและเส้นเลือดที่เกี่ยวข้องเสร็จ หากเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง สูตินรีแพทย์จะนำมดลูกและรังไข่ออกทางหน้าท้อง แต่หากเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง หรือผ่านทางช่องคลอด สูตินรีแพทย์อาจใช้การตัด หรือปั่นมดลูกและรังไข่ให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำออกจากร่างกาย
  • เมื่อเสร็จสิ้นการนำมดลูกและรังไข่ออกจากช่องท้อง หากเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง สูตินรีแพทย์จะเย็บปิดแผลในช่องท้อง ชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไขมัน และชั้นผิวหนังตามลำดับ ปิดแผลให้เรียบร้อย แต่หากเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์จะเย็บปิดแผลในช่องท้อง เย็บปิดแผลที่ผิวหนังหน้าท้องและปิดแผลให้เรียบร้อย
  • หากเป็นการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ผ่านทางช่องคลอด หลังเย็บปิดแผลในช่องท้องเสร็จแล้ว จะไม่มีบาดแผลเกิดขึ้นบนผิวหนังเลย
  • มีการใส่สายสวนปัสสาวะอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด

หลังผ่าตัดมดลูกและรังไข่เสร็จ ผู้เข้ารับบริการต้องพักฟื้นตามที่สูตินรีแพทย์แนะนำเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของแผลผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องที่ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน

ดูแลตนเองอย่างไร? หลังผ่าตัดมดลูกและรังไข่ แปลงเพศหญิงเป็นชาย

การดูแลจะเน้นหนักไปที่การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องเพราะบาดแผลจะมีขนาดใหญ่ที่สุด โดยทั่วไปผู้เข้ารับบริการที่ผ่าตัดด้วยวิธีนี้ มีคำแนะนำในการดูแลตัวเองดังต่อไปนี้

  • พยายามเคลื่อนไหว ลุกนั่งบ้าง หรือเดินเบาๆ เพื่อให้ลำไส้กลับมาทำงานเป็นปกติเร็วขึ้น ป้องกันการเกิดพังผืดภายใน
  • ทำแผลทุกวันโดยใช้ยาที่ให้ทาแผล เช้า-เย็น แล้วปิดแผลทุกครั้ง
  • รับประทานยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด ยาลดบวม ตามที่ศัลยแพทย์สั่ง
  • ระหว่างพักฟื้นรอตัดไหมนั้น หากมีเลือด หรือน้ำเหลืองซึมออกมาจากแผล บาดแผลบวมแดง ปวด หรือแสบร้อน และมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบศัลยแพทย์ทันที
  • เมื่อครบกำหนด 7 วัน สูตินรีแพทย์จะนัดมาดูแผลผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ในบางรายที่แผลสมานตัวกันดีอาจตัดไหมได้เลย แต่หากแผลมีขนาดใหญ่อาจรอประมาณ 10-14 วัน หลังตัดไหมเสร็จ สูตินรีแพทย์จะปิดพลาสเตอร์ที่บริเวณรอยเย็บ เพื่อทำให้แผลหายสนิทและป้องกันการแยกของแผล
  • หลังแผลหายสนิทยังต้องใช้ผ้ารัดหน้าท้องเพื่อกระชับหน้าท้อง ลดอาการปวดต่อไปอย่างน้อย 1 เดือน
  • พักร่างกาย งดทำงานบ้านหนักๆ และออกกำลังกายหนักๆ ราว 2-3 เดือน

หลังผ่าตัดมดลูกและรังไข่ แปลงเพศหญิงเป็นชาย มีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?

  • ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะ และระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้ อาจมีความเสี่ยงได้รับบาดเจ็บขณะผ่าตัดได้
  • มีอาการเลือดคั่ง หรือเลือดออกหลังผ่าตัดได้ เนื่องจากบริเวณมดลูกมาหล่อเลี้ยงจำนวนมาก
  • อาการปวดแผลและแผลบวมหลังการผ่าตัดช่วง 2-3 วันแรก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ บางรายอาจปวดนานกว่านั้น
  • การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด หากทำแผลไม่สะอาด
  • แผลแยก แผลหายช้า ใกรณีที่เป็นการผ่าตัดผ่านหน้าท้องเพราะแผลจะมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้หลังแผลหายดีแล้วยังมีโอกาสเป็นแผลเป็นสูง บางรายอาจเป็นแผลคีลอยด์ได้
  • หลังผ่าตัดประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผู้เข้ารับบริการบางรายอาจจะมีเลือดออกจากช่องคลอดได้เล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่เลือดจะหยุดได้เอง แต่ถ้าเลือดไม่หยุด หรือมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ให้ไปพบแพทย์ทันที
  • หลังผ่าตัดระยะแรกๆ ที่ค่าฮอร์โมนเพศลดต่ำลง อาจทำให้ผู้เข้ารับบริการมีอาการคล้ายคนวัยทอง หรือคนหมดประจำเดือนได้ เช่น อารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ แต่เมื่อได้รับฮอร์โมนทดแทน ไม่นานอาการก็จะดีขึ้น แต่หากอาการรุนแรงมากอาจต้องเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา หรือใช้ยาระงับในกรณีที่จำเป็น
  • ผู้ที่รับการผ่าตัดผ่านหน้าท้อง แม้แผลจะหายดีแล้ว ก็ยังต้องงดทำงานหนัก งดยกของหนัก งดออกกำลังกาย ประมาณ 2-3 เดือน

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกจากร่างกายแล้ว ก็เท่ากับว่า ผู้เข้าบริการเดินทางมาเกือบครึ่งทางของการผ่าตัดแปลงเพศหญิงเป็นชายแล้ว หากผู้เข้ารับบริการพอใจจะหยุดกระบวนการเพียงเท่านี้ก็สามารถทำได้

หากต้องการเข้าสู่กระบวนการต่อไปก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องพักฟื้นร่างกายให้กลับมาสมบูรณ์แข็งแรงอีกครั้ง และเข้ารับคำแนะนำเรื่องการผ่าตัดต่างๆ จากศัลยแพทย์เพื่อประกอบการตัดสินใจอีกครั้ง

เนื่องจากในขั้นตอนต่อๆ ไป จะมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

Scroll to Top