การต่อเล็บมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป จนอาจทำให้ผู้ที่อยากต่อเล็บเกิดความสงสัยว่า ตกลงแล้วตัวเองเหมาะกับการต่อเล็บรูปแบบไหนกันแน่
ลองมาทำความรู้จักกับการต่อเล็บโพลีเจล (Poly gel) หนึ่งในการต่อเล็บที่เป็นธรรมชาติ น้ำหนักเบา และแข็งแรง เปรียบเสมือนเล็บจริง ที่สำคัญยังไม่มีกลิ่นฉุนขณะทำอีกด้วย
สารบัญ
การต่อเล็บโพลีเจลคืออะไร?
โพลีเจล เป็นเจลสำหรับต่อเล็บที่คิดค้นขึ้นมาโดยการนำข้อดีของเจลแข็ง (Hard gel) และต่อเล็บแบบอะคริลิก (Acrylics) มารวมไว้ด้วยกันในหลอดเดียว ทำให้ได้เจลมีน้ำหนักเบา ไม่มีกลิ่นฉุน สามารถขึ้นรูปได้ตามใจชอบ โดยจะแข็งตัวก็ต่อเมื่อนำไปอบแสง LED เท่านั้น
โพลีเจลเป็นเจลสำเร็จรูปที่สามารถนำมาใช้ต่อเล็บได้เลย โดยที่ไม่ต้องนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ มีลักษณะเหลว สามารถไหลได้ตามแรงโน้มถ่วง แตกต่างจากแบบเจลแข็ง และมีให้เลือกหลายสี เช่น สีชมพูอ่อน สีชมพูนูด สีใส หรือสีน้ำตาล
ยี่ห้อโพลีเจลที่เป็นที่นิยมทั่วโลก ได้แก่ Gelish, Entity และ ibd ซึ่งทั้งสามยี่ห้อมีคุณสมบัติเด่นคล้ายกัน คือ ไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และสามารถจัดแต่งทรงได้ง่าย มีน้ำหนักเบากว่าอะคริลิกและเจลแข็ง
นอกจากนี้ หากผู้ใช้บริการอยากได้สีเล็บอื่นๆ ที่ไม่มีในโพลีเจล ก็สามารถใช้สีเจลทาทับได้หลังจากต่อเล็บโพลีเจลเสร็จ เช่นเดียวกับการต่อเล็บในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการติดอะไหล่เล็บเพิ่มเติมด้วย
ข้อดีของการต่อเล็บโพลีเจล
การต่อเล็บโพลีเจลมีข้อดีหลายประการ ดังนี้
- การต่อเล็บโพลีเจลไม่มีกลิ่นฉุนเหมือนการต่อเล็บอะคริลิก
- การต่อเล็บโพลีเจลจะได้เล็บที่เป็นธรรมชาติ แข็งแรง ยึดติดกับเล็บเดิมได้ดี
- โพลีเจลมีน้ำหนักเบากว่าการต่อเล็บอะคริลิก 23% และมีน้ำหนักเบากว่าการต่อเล็บเจลแข็ง 16%
- การต่อเล็บโพลีเจล สามารถเติมโคนเล็บได้โดยที่ไม่ต้องถอดเล็บเจลออกก่อน ทำให้ไม่ต้องตะไบหน้าเล็บทุกครั้ง ซึ่งอาจทำให้เล็บบางได้
ข้อเสียของการต่อเล็บโพลีเจล
แม้จะมีข้อดี แต่การต่อเล็บโพลีเจลก็มีข้อเสียเช่นกัน ดังนี้
- การต่อเล็บโพลีเจลจะยึดติดกับเล็บมาก หากเกิดการกระแทก การฉีก หรือการหัก ก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้เล็บจริงบาดเจ็บได้
ผู้ที่ต่อเล็บโพลีเจลจึงต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตมาก และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระแทก เช่น ขนของขนาดใหญ่ หรือเล่นกีฬาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวอลเลย์บอล บาสเกตบอล หรือฟุตบอล - โพลีเจลมีเนื้อค่อนข้างเหลว ไหลง่าย ไม่แข็งตัวเท่ากับเจลแข็ง จึงทำให้ขึ้นรูปเล็บยาก หากต่อเล็บโพลีเจลกับช่างทำเล็บที่ไม่ชำนาญอาจได้รูปทรงเล็บที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ความหนาหรือความโค้งไม่เหมาะสม ทำให้เล็บหักง่าย
- การต่อเล็บโพลีเจล เวลาถอดค่อนข้างยากกว่าการต่อเล็บแบบอื่นๆ เพราะเล็บจะมีความหนาและแข็งแรงกว่า ต้องถอดเล็บโดยช่างทำเล็บเท่านั้น และต้องใช้น้ำยาล้างเล็บที่มีส่วนผสมของอะซีโตน (Acitone) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือผื่นแพ้สัมผัสได้
อุปกรณ์ต่อเล็บโพลีเจลมีอะไรบ้าง?
อุปกรณ์ต่อเล็บโพลีเจลมีดังนี้
- แอลกอฮอล์สำหรับเช็ดทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค
- น้ำยาเคลือบเล็บ (Top coat) เพื่อทำให้เล็บเจลเงา แลดูสวยงามมากยิ่งขึ้น
- อุปกรณ์ตัดแต่งเล็บทั่วไป ได้แก่ ที่ดันหนังเล็บ ตะไบเล็บ กรรไกรตัดเล็บ แปรงสำหรับจัดแต่งทรงเล็บโพลีเจล แปรงปัดฝุ่น และแผ่นสำลีเช็ดไรขน
- น้ำยาไล่ความชื้น (PH bond) ใช้ทาก่อนลงสีเจล หรือก่อนการต่อเล็บในรูปแบบต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บเกิดเชื้อรา
- ฟอร์มเล็บกระดาษสำหรับใช้ขึ้นรูปเล็บ หรือจะใช้เล็บปลอม PVC มาเป็นตัวพิมพ์เล็บก็ได้
- โพลีเจลสำหรับต่อเล็บ มีลักษณะเป็นของเหลว บรรจุในหลอด มีหลายสี เช่น สีใส สีชมพูใส สีชมพูอ่อน สีชมพูนูด หรือสีน้ำตาล
- เครื่องอบเล็บเจล LED ใช้สำหรับอบสีเจลให้แห้ง มีหลายกำลังวัตต์ (Watt) หากค่าวัตต์สูงจะใช้เวลาอบสีเจลน้อยมาก
- อุปกรณ์ตกแต่งเล็บอื่นๆ เช่น สีทาเล็บเจล หรืออะไหล่เล็บ
- ไพรเมอร์เจล (Primer gel) และเบสเจล (Base Gel หรือ Base coat) หรือที่เรียกว่า รองพื้นสีเจล ใช้ทาก่อนลงสีเจล เพื่อช่วยให้สีเจลติดกับเล็บได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้เล็บเหลืองด้วย
ขั้นตอนการต่อเล็บโพลีเจลเป็นอย่างไร?
การต่อเล็บโพลีเจล มีขั้นตอนดังนี้
- ช่างทำเล็บเตรียมหน้าเล็บให้พร้อมสำหรับการต่อเล็บโพลีเจล โดยการใช้ที่ดันหนังเล็บดันหนังหน้าเล็บให้เป็นรูปทรงของเล็บ และตัดเล็บที่ยาวออกมาให้สั้น
- เช็ดหน้าเล็บด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาล้างเล็บ และตะไบหน้าเล็บเพื่อกำจัดความมัน
- ทาน้ำยาไล่ความชื้นลงบนหน้าเล็บ ต่อด้วยทาไพรเมอร์เจล (เข้าเครื่องอบ LED) และทาเบสเจล (เข้าเครื่องอบ LED)
- บีบตัวโพลีเจลลงบนฟอร์มเล็บ หรือเล็บ PVC จัดแต่งให้ได้รูปทรงเล็บและความยาวตามความต้องการ หากเป็นฟอร์มเล็บกระดาษจะจัดแต่งบนเล็บเลย แต่หากใช้เล็บ PVC จะจัดแต่งบนเล็บ PVC ก่อน แล้วนำไปติดบนหน้าเล็บของผู้ใช้บริการ (เข้าเครื่องอบ LED)
- แกะฟอร์มเล็บออก ช่างจะเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยการตะไบเล็บ ทั้งบริเวณปลายเล็บและส่วนโคนเล็บที่เกินออกมา
- หากไม่ต้องการทาสีเล็บเจลเพิ่มเติม ช่างทำเล็บจะทาน้ำยาเคลือบเล็บ เป็นอันเสร็จ
- หากต้องการตกแต่งเล็บเพิ่มเติม เช่น ทาสีเจลใหม่ หรือติดอะไหล่เล็บเพิ่มเติม ช่างทำเล็บจะตกแต่งเล็บให้เสร็จก่อน แล้วทาน้ำยาเคลือบเล็บในขั้นตอนสุดท้าย
หมายเหตุ อุปกรณ์เกี่ยวกับเจลต่างๆ เช่น เบสเจล สีทาเล็บเจล ไพร์เมอร์เจล หรือโพลีเจล จะไม่สามารถแห้งได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องใช้เครื่องอบ LED เท่านั้น ดังนั้นทุกครั้งที่ใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับเจลจะต้องเข้าเครื่องอบ LED ทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนใหม่
แนะนำให้สวมใส่ถุงมือแบบปลายเปิดขณะต่อเล็บโพลีเจล เพื่อป้องกันรังสีจากแสง LED
ขั้นตอนการถอดเล็บโพลีเจล เป็นอย่างไร?
การถอดเล็บโพลีเจลควรทำโดยช่างทำเล็บผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรถอดเล็บด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเล็บจริงได้
การถอดเล็บโพลีเจลมีขั้นตอนดังนี้
- ใช้ตะไบเล็บหรือตะไบเล็บไฟฟ้า ตะไบเล็บโพลีเจลออก โดยจะตะไบออกประมาณ 3 ใน 4 ของเล็บโพลีเจลทั้งหมด
- ใช้สำลีชุบน้ำยาล้างเล็บที่มีส่วนผสมของอะซีโตนโปะลงบนเล็บ แล้วใช้กระดาษฟอยล์ห่อทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที สารดังกล่าวจะทำให้โพลีเจลนิ่มขึ้น
- ใช้ที่ขูดขูดเอาโพลีเจลออก โดยเมื่อตัวโพลีเจลเริ่มแข็ง ให้แช่อะซิโตนอีกรอบ ทำสลับกันไปจนกว่าจะขูดโพลีเจลออกเกือบหมด
- ช่างทำเล็บจะเก็บรายละเอียดด้วยตะไบเล็บอีกครั้ง โดยจะตะไบโพลีเจลที่เหลืออยู่ให้ออกจนหมด ในส่วนนี้ต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ตะไบหน้าเล็บจริงมากเกินไป เพราะอาจทำให้หน้าเล็บบางได้
- ทาครีมบำรุงเล็บที่มีส่วนผสมของมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ หรือใช้วาสลีนทาเคลือบเล็บไว้
ต่อเล็บโพลีเจล ราคาเท่าไร?
ราคาการต่อเล็บโพลีเจลจะค่อนข้างแพงกว่าการต่อเล็บแบบอื่นๆ โดยเริ่มต้นที่ 1,500-2,000 บาท ต่อการต่อเล็บมือหรือเท้า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำ รวมถึงความชำนาญของช่างทำเล็บ
นอกจากนี้สถานเสริมความงามบางแห่งก็อาจมีโปรโมชันต่อเล็บโพลีเจลมือและเท้าพร้อมกัน ในราคาประมาณ 3,000 บาทด้วย
อย่างไรก็ตามราคาดังกล่าวยังไม่รวมกับค่าถอดเล็บโพลีเจล หรือล้างสีเล็บเดิมออก แนะนำให้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมก่อน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการต่อเล็บโพลีเจล
มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการต่อเล็บโพลีเจลที่พบบ่อย HD รวบรวมมาไว้ที่นี่แล้ว
1. การต่อเล็บโพลีเจลสามารถอยู่ได้นานแค่ไหน?
คำตอบ การต่อเล็บโพลีเจล 1 ครั้ง สามารถอยู่ได้นาน 21-30 วัน ขึ้นอยู่กับการดูแลเล็บและความยาวของเล็บของแต่ละบุคคล เมื่อเล็บยาวจนเห็นโคนเล็บแล้ว ผู้ใช้บริการสามารถไปถอดเล็บโพลีเจลออก หรือเติมโคนเล็บก็ได้
2. การต่อเล็บโพลีเจล สามารถใช้แสง UV แทนแสง LED ได้หรือไม่?
คำตอบ ไม่แนะนำให้ใช้แสง UV แทนแสง LED เนื่องจากโพลีเจลหรือผลิตภัณฑ์เจลอื่นๆ เช่น น้ำยาเคลือบเล็บเจล หรือสีทาเล็บเจล ส่วนใหญ่จะถูกผลิตขึ้นมาให้แข็งตัวได้เฉพาะภายใต้การอบแสง LED เท่านั้น
อีกทั้งเครื่องอบแสง LED ยังใช้เวลาในการอบสีน้อยกว่าเครื่องอบแสง UV จึงช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหมองคล้ำด้วย
อย่างไรก็ตาม โพลีเจลแต่ละยี่ห้อจะมีค่าพลังวัตต์ของแสง LED ในการอบแห้งที่เหมาะสมต่างกัน ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คู่มือแนะนำการใช้ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น โพลีเจลยี่ห้อ Gelish ขนาด 18 กรัม ควรอบไฟ LED 36 วัตต์
3. การต่อเล็บโพลีเจลจะทำให้เล็บบางลงหรือสุขภาพของเล็บแย่ลงหรือไม่?
คำตอบ การต่อเล็บโพลีเจลไม่เป็นอันตรายต่อเล็บ หากทำกับช่างทำเล็บผู้เชี่ยวชาญที่มีการรักษาความสะอาด ใช้น้ำยาไล่ความชื้นอย่างถูกต้อง ไม่ตะไบหน้าเล็บมากเกินไป และต่อเล็บโพลีเจลได้สนิทกับเล็บจริง ไม่มีช่องลมหรือช่องว่างให้น้ำเข้าไปขังจนเกิดเชื้อรา
การต่อเล็บโพลีเจลจะช่วยให้คุณมีเล็บที่ยาวเป็นธรรมชาติ น้ำหนักเบา และแข็งแรงคล้ายกับเล็บจริง อย่างไรก็ตามคุณควรต่อเล็บกับร้านที่ได้รับมาตรฐาน หากเกิดการแตกหัก หรือชำรุด แนะนำให้ถอดออกทันที เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อราใต้เล็บโพลีเจลได้