การทำหมันหมาตัวผู้ กับคำถามที่หลายคนสงสัย อันตรายไหม? เจ็บไหม? ขั้นตอนเป็นอย่างไร?

การทำหมันสัตว์เลี้ยงอย่างหมา หรือสุนัข และแมว ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้เลี้ยงในการดูแลเพื่อไม่ให้ขยายพันธุ์ และมีลูกเกินกว่าจำนวนที่ตนเองสามารถดูแลได้อย่างดีที่สุด

รวมถึงเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบหากพื้นที่ที่เลี้ยงไม่สามารถป้องกันหมาของออกไปทำอันตรายผู้อื่น หรือออกไปผสมพันธุ์กับหมาตัวอื่นภายนอกได้อย่างเต็มที่

แต่ผู้เลี้ยงหลายคนอาจเกิดความผูกพันธ์ุกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง โดยเฉพาะหมาที่มีการตอบสนองและเป็นมิตรกับผู้เลี้ยงเป็นอย่างดี ทำให้ผู้เลี้ยงกังวลว่าการพาหมาของตนเองไปทำหมัน อาจทำให้อันตรายได้หรือไม่? หมาจะเจ็บไหม? หรือมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?

บทความนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่กังวลถึงปัญหาข้างต้นของการทำหมันสุนัขตัวผู้เป็นหลัก และสามารถทำนัดปรึกษากับสัตวแพทย์ก่อนทำจริงได้ผ่านเว็บ HDmall.co.th สำหรับผู้ที่ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำหมันหมาตัวเมีย สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความการทำหมันหมาตัวเมีย

การทำหมันหมาตัวผู้คืออะไร?

การหมันหมาตัวผู้ (Sterilizes) คือการทำให้สุนัขตัวผู้ไม่สามารถปล่อยอสุจิไปปฏิสนธิกับสุนัขตัวเมียได้ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในสุนัข

แต่แม้สุนัขตัวผู้จะผ่านการทำหมันแล้ว พฤติกรรมของสุนัขตัวผู้ที่ขี่สุนัขตัวเมียขณะร่วมเพศ (Humping) อาจยังคงเกิดขึ้นอยู่ได้ ขึ้นอยู่กับสุนัขแต่ละตัว เนื่องจากสุนัขตัวผู้ไม่ได้ใช้ท่าทางนี้ในการร่วมเพศเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ในหลายเหตุผล เช่น การเล่น การแสดงออกว่าตื่นเต้นเมื่อมีคนมาเยี่ยม เป็นต้น

การทำหมันหมาตัวผู้มีกี่วิธี?

การทำหมันหมาตัวผู้ชนิดถาวร มีด้วยกัน 3 วิธีหลักๆ ดังนี้

1. การทำหมันหมาด้วยการผ่าตัดเอาอัณฑะออก (Neutering)

การผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออก เป็นการทำหมันหมาตัวผู้ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะมีประสิทธิภาพสูงสุดหากเทียบกับวิธีอื่นๆ โดยในบทความนี้จะพูดถึงการทำหมันหมาชนิดนี้เป็นหลักในหัวข้อต่อๆ ไป

2. การทำหมันหมาด้วยการผ่าตัดนำท่อสุจิออก (Vasectomy)

การทำหมันหมาด้วยการผ่าตัดนำท่ออสุจิออก (Vasectomy) เป็นการผ่าตัดนำท่อส่งสเปิร์มจากลูกอัณฑะของสุนัขออก ทำให้ไม่สามารถหลั่งอสุจิไปปฏิสนธิกับตัวเมียได้ แต่วิธีนี้ไม่ได้นำเอาอัณฑะของสุนัขออกไปด้วยเหมือนวิธีแรก

ด้วยเหตุนี้สุนัขตัวผู้ที่ได้รับการทำหมันด้วยการผ่าตัดนำท่ออสุจิออกจะยังคงผลิตฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน (Testosterone) ได้เช่นเดิม

ส่งผลให้มีความต้องการผสมพันธุ์กับสุนัขตัวเมียเหมือนก่อนที่จะทำหมัน และไม่ได้ลดพฤติกรรมอื่นๆ ที่อาจไม่เป็นที่ต้องการของผู้เลี้ยง เช่น การฉี่ไม่เป็นที่เพื่อแสดงอาณาเขต การแอบหนีออกจากบ้านเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในบางตัว รวมถึงไม่ได้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับอัณฑะเหมือนวิธีแรก

นอกจากนี้ หลังจากทำหมันด้วยวิธีนี้ไปแล้วเกิน 2 เดือนขึ้นไป สุนัขตัวผู้ก็จะยังมีโอกาสในการทำให้สุนัขตัวเมียตั้งครรภ์ได้อยู่บ้าง

ด้วยเหตุที่ว่ามาข้างต้น วิธีการทำหมันหมานี้จึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก สัตวแพทย์และผู้เลี้ยงจึงนิยมการทำหมันด้วยการผ่าตัดนำเอาอัณฑะออกมากกว่า

3. การทำหมันหมาตัวผู้ด้วยการฉีดยา

การทำหมันหมาตัวผู้ด้วยการฉีดยา เป็นการใช้สารเคมีฉีดเข้าอัณฑะของสุนัขโดยตรงจนทำให้เป็นหมัน วิธีนี้สามารถใช้ได้กับสุนัขอายุ 3-10 เดือน แต่หลังจากฉีดแล้วอสุจิจะยังไม่ถูกทำลายในทันที อาจต้องอีกประมาณ 60 วันก่อนจะปล่อยให้สุนัขตัวผู้ไปผสมพันธุ์กับสุนัขตัวอื่นได้อย่างปลอดภัย ตัวอย่างชื่อการค้าของยาทำหมันแบบฉีดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (The Food and Drug Administration) เช่น Zeuterin และ Neutersol

และเช่นเดียวกับการผ่าตัดนำท่ออสุจิออก การทำหมันหมาด้วยการฉีดยาไม่ได้ทำให้ปริมาณเทสทอสเทอโรน (Testosterone) หายไปแต่อย่างใด แต่จะลดลงจากเดิมประมาณครึ่งนึงเท่านั้น

จึงทำให้พฤติกรรมบางอย่างอาจยังคงอยู่ เช่น การฉี่ไม่เป็นที่เพื่อแสดงอาณาเขต การแอบหนีออกจากบ้านเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในบางตัว รวมถึงไม่ได้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับอัณฑะเหมือนวิธีแรก วิธีการทำหมันนี้จึงไม่ได้รับความนิยมเท่ากับการทำหมันหมาแบบผ่าตัดนำอัณฑะออกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้ง 2 วิธีอย่างการทำหมันหมาตัวผู้ด้วยการฉีดยา และการทำหมันหมาด้วยการผ่าตัดนำท่ออสุจิออก จะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าการผ่าตัดนำอัณฑะออก แต่หากผู้เลี้ยงมีความต้องการ สามารถปรึกษาสัตวแพทย์ถึงความต้องการ ข้อดีข้อเสียได้ก่อนตัดสินใจ

ในหัวข้อต่อจากนี้ไป จะพูดถึงการทำหมันหมาด้วยการผ่าตัดนำเอาอัณฑะออก

ข้อดีของการทำหมันหมาตัวผู้

การทำหมันหมานั้นไม่ได้มีข้อดีเรื่องการคุมกำเนิดอันไม่พึงประสงค์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีประโยชน์ด้านสุขภาพอื่นๆ ด้วย ดังนี้

  • ลดความเสี่ยงโรคต่อมลูกหมากโตในสุนัข (Benign Prostate Hyperplasia) ที่มักมีโอกาสเป็นมากขึ้นตามอายุสุนัขที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis)
  • ลดความเสี่ยงเนื้องอกข้างก้น (Perianal Gland Adenoma) ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน และมีโอกาสเป็นมากกว่าในสุนัขเพศผู้ที่ไม่ได้ทำหมัน
  • ป้องกันการเป็นมะเร็งอัณฑะในสุนัข (Testicular Cancer) ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในสุนัขตัวผู้ที่ไม่ได้ทำหมัน
  • อาจช่วยลดพฤติกรรมหนีเที่ยว แอบออกจากบ้านของสุนัขลง ช่วยให้สุนัขอยู่ในบ้านอย่างปลอดภัย ไม่เสี่ยงออกไปเกิดอันตรายนอกบ้าน
  • อาจช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวของสุนัขลงได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนที่ลดลง
  • อาจมีส่วนช่วยให้สุนัขมีอายุยืนยาวขึ้นได้
  • อาจช่วยลดการฉี่ไม่เป็นที่ของสุนัขได้ โดยปกติสุนัขจะใช้การฉี่ตามจุดต่างๆ เพื่อแสดงอาณาเขตของตนเอง ป้องกันไม่ให้ตัวผู้ตัวอื่นเข้ามาในพื้นที่ และเป็นการส่งสัญญาณดึงดูดสุนัขตัวเมียเข้าหา การทำหมันจึงอาจช่วยลดพฤติกรรมดังกล่าวลงได้ก่อนที่สุนัขจะทำบ่อยจนกลายเป็นนิสัย

นอกจากข้อดีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การทำหมันหมาตัวผู้นี้ยังอาจใช้เพื่อเหตุผลอื่นๆ นอกจากการคุมกำเนิดได้ เช่น ใช้เพื่อลดความก้าวร้าวโดยตรง ใช้เพื่อรักษาเนื้องอกอัณฑะในสุนัขที่อายุมาก หรือโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ข้อเสียของการทำหมันหมาตัวผู้

การทำหมันหมาอาจส่งผลให้การเผาผลาญลดลง สุนัขที่ผ่านการทำหมันมักมีความต้องการแคลอรี่ต่ำลงกว่าเดิมเฉลี่ยประมาณ 20%

ทั้งนี้เกิดจากสุนัขลดการเคลื่อนไหวลง หากผู้เลี้ยงไม่ได้ปรับการให้อาหารอย่างเหมาะสม สุนัขอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือดูอ้วนขึ้นได้

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือ ความอ้วนของสุนัขนั้นมีสาเหตุหลักมาจากการกินที่มากเกินไป และการเคลื่อนไหวที่น้อยเกินไป ไม่ใช่ทำหมันแล้วอ้วนขึ้นโดยตรงอย่างที่หลายคนเข้าใจ ดังนั้นหากพาสุนัขตัวผู้ไปทำหมัน ควรวางแผนออกกำลังกายและควบคุมอาหารให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม แม้การทำหมันหมาตัวผู้จะมีความเสี่ยงบ้างตามที่กล่าวมา แต่ก็ยังส่งผลดีต่อสุขภาพระยะยาว และอายุขัยของสุนัข โดยไม่ได้ส่งผลต่อตัวตน ความฉลาด และความขี้เล่นของสุนัข

หากเกิดความกังวลใจที่จะพาสุนัขไปทำหมัน ควรพาสุนัขไปปรึกษาสัตวแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียที่กล่าวมาก่อนตัดสินใจ

ควรพาหมาตัวผู้ไปทำหมันตอนไหน?

สามารถพาหมาตัวผู้ไปทำหมันได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป และมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 1 กิโลกรัม แต่ทั้งนี้ความเหมาะสมว่าจะทำหมันสุนัขตอนไหนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น สุขภาพของสุนัข พฤติกรรมของสุนัข สายพันธ์ุของสุนัข และจำนวนสุนัขที่เลี้ยง

หากมีสุนัขเพศผู้และเพศเมียเลี้ยงอยู่ในบ้านเดียวกัน ควรพาทั้ง 2 ตัวไปทำหมันก่อนที่จะเกิดการผสมพันธุ์ครั้งแรกขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงอายุ 5-10 เดือน

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการบอกเล่ากันว่าการพาสุนัขไปทำหมันตั้งแต่ยังอายุน้อยนั้นอาจเกิดอันตรายได้ และควรรอให้สุนัขมีอายุมากกว่า 6 เดือนหรือ 1 ปีก่อน แต่สมาคมสัตวแพทย์สหรัฐ (American Veterinary Medical Association: AVMA) ก็สนับสนุนว่าสามารถพาสุนัขไปทำหมันตั้งแต่อายุยังน้อยได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสัตวแพทย์เป็นกรณีไป

นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งที่หลายคนแนะนำให้ทำหมันสุนัขตั้งแต่อายุน้อยคือ สุนัขที่อายุน้อยอาจมีอัตราการฟื้นตัวจากแผลผ่าตัดเร็วกว่าสุนัขที่อายุมากเล็กน้อย ทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากไม่แน่ใจว่าสุนัขของตนเองเหมาะที่จะทำหมันแล้วหรือยัง สามารถทำนัดปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนตัดสินใจได้เช่นกัน

ขั้นตอนการทำหมันหมาตัวผู้เป็นอย่างไร?

การทำหมันหมาตัวผู้ ถือเป็นการผ่าตัดที่สัตวแพทย์ให้บริการกันทั่วไป ขั้นตอนไม่ซับซ้อนมาก หลักๆ มีดังนี้

  1. สัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น และตรวจเลือดก่อนที่จะใช้ยาสลบ เพื่อดูความพร้อมของสุนัข
  2. หากสุนัขมีความพร้อม สุขภาพแข็งแรงดี สัตวแพทย์จึงจะทำการให้ยาสลบ ในสมัยก่อนจะฉีดให้เป็นหลัก แต่ปัจจุบันสัตวแพทย์อาจพิจารณาให้เป็นแบบแก๊ส (Gas Anesthetic) เข้าปอดโดยตรง ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี
  3. หลังจากสุนัขรับยาสลบเรียบร้อยแล้ว สัตวแพทย์จะมีการใส่หน้ากากช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจนรวมถึงยาสลบแบบแก๊สเข้าสู่ปอดโดยตรงเป็นระยะ
  4. สัตวแพทย์จะทำการเปิดแผลเล็กๆ บริเวณหน้าถุงอัณฑะ (Scrotum) และนำลูกอัณฑะ (Testicles) ออก จากนั้นทำการเย็บแผล
  5. เมื่อทำการผ่าตัดเสร็จแล้ว สัตวแพทย์อาจปิดการปล่อยแก๊สยาสลบ เหลือแต่เพียงออกซิเจนเท่านั้นเพื่อให้สุนัขค่อยๆ ฟื้น ในระหว่างนี้จะคอยสังเกตอาการจนกว่าจะแน่ใจว่าสุนัขปลอดภัย จึงค่อยให้กลับบ้านตามปกติ
  6. หากสัตวแพทย์ใช้ไหมละลายในการเย็บแผล ก็จะไม่ต้องพาสุนัขกลับมาหาที่โรงพยาบาลสัตว์เพื่อตัดไหม แต่หากไม่ได้ใช้ไหมละลาย อาจมีการนัดหมายเพื่อให้กลับมาตัดไหมอีกครั้งหนึ่ง
ขั้นตอนการผ่าตัดทำหมันหมาตัวผู้, ทำหมันสุนัขตัวผู้, ทำหมันหมา

ในระหว่างสังเกตอาการ ควรปรึกษากับสัตวแพทย์ถึงการดูแลหลังจากพาสุนัขกลับบ้าน เพราะสุนัขบางตัวอาจยังไม่หายจากฤทธิ์ยาสลบเต็มที่ และอาจมีข้อห้ามข้อควรปฏิบัติที่ต้องระวัง

การเตรียมตัวก่อนพาหมาตัวผู้ไปทำหมัน

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทำหมันหมาตัวผู้มักไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก คำแนะนำทั่วไปก่อนผ่าตัดทำหมันหมาตัวผู้ คืออาจต้องงดอาหารและน้ำก่อนรับการผ่าตัด เพื่อป้องกันการสำลักขณะอยู่ใต้ฤทธิ์ยาสลบตอนผ่าตัด

หากสุนัขของคุณจำเป็นต้องกินยาบางชนิดซึ่งต้องกินหลังมื้ออาหาร ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนให้สุนัขอดอาหารและน้ำ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ถึงความเหมาะสม ระยะเวลาที่ต้องอดก่อน เพราะอาจมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดยาสลบที่ใช้ สุขภาพ และอื่นๆ ซึ่งต้องประเมินเป็นกรณี

การดูแลหลังหมาตัวผู้ทำหมันแล้ว

หมาตัวผู้ที่ทำหมันแล้ว หากดูแลตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เป็นอย่างดี ไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน ก็มักกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ภายใน 5-10 วัน แต่ในระหว่างนั้นอาจต้องการดูแล และระวังมากกว่าเดิม ดังนี้

  • ควรให้สุนัขพักผ่อนมากๆ
  • ควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแผลผ่าตัดทำหมันเป็นประจำทุกวัน หากมีอาการแดงมากขึ้น บวม มีกลิ่นเหม็น ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
  • ควรสังเกตลักษณะท่าทางของสุนัขอย่างต่อเนื่องว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น เซื่องซึม กินน้อยลงมาก อาเจียน หรือท้องเสีย หากมีอาการดังกล่าวควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
  • ไม่ควรให้สุนัขวิ่งเล่น กระโดด หรือทำกิจกรรมหนักๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังจากทำหมัน
  • ไม่ควรให้สุนัขว่ายน้ำ เล่นน้ำ หรืออาบน้ำ อย่างน้อย 10 วันหลังจากทำหมัน
  • ไม่ควรให้สุนัขปีนขึ้นบันไดด้วยตัวเอง
  • ไม่ควรให้สุนัขที่เพิ่งทำหมันเข้าสัตว์ชนิดอื่นๆ จนกว่าจะหายดี
  • หลีกเลี่ยงการให้สุนัขออกไปเล่นนอกบ้าน หากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านจริงๆ ควรใส่สายจูงเสมอ
  • พิจารณาใส่ปลอกคอกันเลีย (Elizabethan Collar) หรือปลอกคอทรงโคน เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขเลียแผลผ่าตัดทำหมันของตนเอง
  • ดูแลรักษาความสะอาดพื้นบ้านให้ดี เพราะสุนัขเป็นสัตว์ที่นั่งกับพื้น หากพื้นสกปรกอาจทำให้แผลติดเชื้อได้
ปลอกคอกันเลียสุนัข

ทั้งนี้ สัตวแพทย์อาจแนะนำ หรือข้อควรปฏิบัติอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงอาจให้ยาบรรเทาอาการปวดมาด้วย ผู้เลี้ยงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เป็นหลัก

ทำหมันหมาตัวผู้แล้ว จะแอบหนีออกจากบ้านน้อยลงไหม?

หมาตัวผู้ที่ทำหมันแล้วจะแอบหนีออกจากบ้านน้อยลง เพราะโดยธรรมชาติสุนัขตัวผู้จะพยายามหาคู่สุนัขตัวเมียเพื่อผสมพันธ์ุอยู่เป็นระยะ จึงมีพฤติกรรมแอบหนีออกจากบ้าน หรือหาวิธีออกนอกรั้วอยู่เสมอ

การทำหมันสุนัขตัวผู้ จะช่วยลดความต้องการดังกล่าวได้ ทำให้สุนัขมีความปลอดภัยจากอันตรายบนท้องถนนมากขึ้น

ทำหมันหมาตัวผู้แล้ว จะยังสามารถเฝ้าบ้านได้อยู่ไหม?

แม้การทำหมันสุนัขตัวผู้จะมีส่วนทำให้ความก้าวร้าวของสุนัขลดลงได้ แต่การทำหมันไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการปกป้องบ้าน พันธุกรรม และสัญชาติญาณแต่อย่างใด โดยเฉพาะสุนัขที่ถูกฝึกมาให้เฝ้าบ้าน หรือสุนัขตำรวจ

ทำหมันหมาตัวผู้เจ็บไหม?

การทำหมันหมาตัวผู้จะมีการให้ยาสลบซึ่งทำให้สุนัขไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บขณะผ่าตัด เนื่องจากยาสลบไประงับกระแสประสาทของสุนัข โดยอาจเป็นการฉีดให้โดยตรงหรือให้เป็นรูปแบบแก๊สร่วมกับออกซิเจน ขึ้นอยู่สัตวแพทย์

หลังจากเสร็จสิ้นการผ่าตัดแล้ว สัตวแพทย์ก็อาจให้ยาบรรเทาอาการปวดพร้อมแนะนำวิธีใช้ให้ผู้เลี้ยงกลับไปดูแลต่อที่บ้านด้วย จึงยังไม่ต้องกังวลถึงเรื่องความเจ็บของสุนัขมากเกินไป

ทำหมันหมาตัวผู้อันตรายไหม?

เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆ ในมนุษย์ การผ่าตัดทำหมันหมาตัวผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ หรืออันตรายถึงชีวิตได้จากการใช้ยาสลบ (Gerneral Anesthesia) ซึ่งอาจไปกดการทำงานของหัวใจ

แต่อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์และความรู้สมัยใหม่ของสัตวแพทย์ รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัดทั้งก่อนและหลังรับการผ่าตัด ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดอันตรายในสุนัขได้มาก

โดยสรุปแล้ว การทำหมันสุนัขตัวผู้นั้นนอกจากจะมีส่วนช่วยควบคุมจำนวนประชากรสุนัขแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินในระยะยาวจากการลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ช่วยลดพฤติกรรมออกไปเที่ยวเล่น และช่วยลดก้าวร้าวลงได้

รวมถึงการผ่าตัดในสมัยนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ สามารถทำได้ตั้งแต่สุนัขอายุยังน้อย แต่ควรปรึกษาสัตวแพทย์ผู้ให้บริการก่อนตัดสินใจทำ เพราะอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top