มัลเบอร์รี มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Morus alba L. จัดอยู่ในวงศ์ Moraceae เป็นผลไม้ที่ได้มาจากต้นมัลเบอร์รี หรือ ต้นหม่อน มีต้นกำเนิดในแถบเทือกเขาหิมาลัย ประเทศจีนตอนใต้ ต่อมาปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
ในประเทศไทยมัลเบอร์รีเป็นที่นิยมในการเพาะปลูกและรับประทาน เนื่องจากเป็นพืชที่ให้คุณประโยชน์หลายอย่าง ทั้งรับประทานเป็นผลไม้ ทำเป็นยาสมุนไพร และใบของมัลเบอร์รีก็สามารถนำมาเลี้ยงหม่อนไหมได้อีกด้วย
สารบัญ
สารอาหารในมัลเบอร์รี 100 กรัม
- พลังงาน 43 กิโลแคลอรี
- น้ำ 88%
- โปรตีน 1.4 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 9.8 กรัม
- น้ำตาล 8.1 กรัม
- ใยอาหาร 1.7 กรัม
- ไขมัน 0.4 กรัม
- วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
อ้างอิงข้อมูล: USDA
ประโยชน์ของมัลเบอร์รี
- มีวิตามินเค 1 และแคลเซียมสูง ซึ่งมีความสำคัญต่อการแข็งตัวของเลือด เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
- มีธาตุเหล็กปริมาณสูง ช่วยการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานดีขึ้นอีกด้วย
- มีโพแทสเซียม ช่วยควบคุมความดันโลหิต ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- มีใยอาหารสูง ช่วยการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ลดอาการท้องผูก ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ และใยอาหารยังช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงและปกป้องผิวหนัง ช่วยบำรุงสมองและป้องกันภาวะสมองเสื่อม ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
- มีสารกลุ่ม Flavonoid ที่สำคัญต่อการทำงานของหลอดเลือด ป้องกันหลอดเลือดตีบ ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น เพราะมีสารประกอบ DNJ (1-deoxynojirimcin) ที่ทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ในการย่อยน้ำตาล จึงช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร
- ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้มีการใช้ผลมัลเบอร์รี ในการช่วยบำรุงกำลัง บำรุงประสาท บำรุงหัวใจ ลดการอักเสบ
รับประทานมัลเบอร์รีอย่างไรให้ได้ประโยชน์
มัลเบอร์รีสด รับประทานก่อนมื้ออาหาร หรือขณะท้องว่าง เพราะร่างกายจะสามารถดูดซึมวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ไปใช้ได้ดีที่สุด โดยอาจรับประทานร่วมกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ให้ได้อย่างน้อย 500 กรัมต่อวัน
ข้อควรระวังในการทาน Mulberry
- ผู้ที่ใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด: มัลเบอร์รี่มีสารที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไปในผู้ที่กำลังใช้ยาลดระดับน้ำตาล เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้ยารักษาโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภค
- อาการแพ้: ผู้ที่มีประวัติแพ้ผลไม้ชนิดอื่นหรือสารสกัดจากพืชอาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้จากการบริโภคมัลเบอร์รี่ ควรระวังอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน หายใจลำบาก หรืออาการบวม
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต: มัลเบอร์รี่อาจมีปริมาณโพแทสเซียมสูง การบริโภคในปริมาณมากอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของไต เนื่องจากไตอาจไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมสูงในเลือด (Hyperkalemia)
- การทานร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด: มัลเบอร์รี่อาจมีผลทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและอาจมีฤทธิ์ในการต้านการแข็งตัวของเลือด หากรับประทานร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) ควรระวังการเกิดภาวะเลือดออกมากผิดปกติ
- การทานในปริมาณมาก: การบริโภคมัลเบอร์รี่ในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสียหรือปวดท้อง เนื่องจากมัลเบอร์รี่มีไฟเบอร์สูง