อุดฟัน มีกี่แบบ? ข้อมูล และขั้นตอนทั้งหมดที่ควรรู้

การอุดฟันเป็นการแก้ไขปัญหาการสูญเสียเนื้อฟันที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ เช่น  ฟันผุ ฟันสึก ฟันแตกหัก หรือบิ่นจากอุบัติเหตุ รวมทั้งเคยอุดฟันมาแล้วแต่วัสดุที่ใช้นั้นเกิดชำรุด หมดอายุ หรือซี่ฟันแตกไป จุดม่งหมายเพื่อให้สามารถใช้งานฟันซี่นั้นได้เป็นปกติมากที่สุดและมีรูปทรงคล้ายเดิมที่สุด

การอุดฟันเป็นการรักษาพื้นฐานซึ่งพบได้มากที่สุดในฟันของผู้คนส่วนใหญ่ ผู้ที่ได้รับการอุดฟันควรดูแลรักษาฟันที่อุด รวมทั้งรักษาสุขภาพช่องปากของตนเองเพื่อป้องกันฟันผุซ้ำต่อไป

การอุดฟันคืออะไร?

การอุดฟันคือ การรักษาฟันที่ผุ สึกกร่อน หรือหัก โดยเติมวัสดุสังเคราะห์เข้าไปที่ตัวฟัน ทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไป เพื่อให้ฟันสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้ทั้งการเคี้ยว กลืน พูด และมีรูปทรงคล้ายกับรูปทรงเดิม

กระบวนการอุดฟันจะเริ่มทำหลังจากที่ทันตแพทย์ได้กรอ ขูด หรือกำจัดเนื้อฟันส่วนที่ผุออกไป ในขั้นตอนนี้เองที่อาจสร้างความเจ็บปวดได้ เนื่องจากตำแหน่งที่ฟันผุอาจอยู่ใกล้โพรงประสาท หรือมีสัดส่วนฟันผุค่อนข้างมาก ทันตแพทย์จึงมักพิจารณาให้ยาชาเฉพาะที่เพื่อป้องกันความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้น

หลังจากกรอเนื้อฟันที่เสียออกไปจนหมด ทันตแพทย์จะตกแต่งเนื้อฟันส่วนที่เหลือ และทำความสะอาดเตรียมไว้สำหรับการอุดฟันต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการอุดฟันจะเป็นการรักษาโรคฟันผุ แต่ต่อมาหากผู้ป่วยดูแลสุขภาพช่องปากได้ไม่ดี ฟันซี่เดิมก็สามารถกลับมาผุซ้ำได้ในบริเวณขอบของวัสดุอุดเดิม หรือแม้แต่บริเวณอื่นในฟันซี่เดียวกัน

การอุดฟันมีกี่แบบ?

หากแบ่งตามลักษณะของวัสดุอุดฟัน จะแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่

วัสดุสีโลหะ (อะมัลกัม) 

อะมัลกัมคือ โลหะผสมระหว่าง เงิน (22-65%) ดีบุก (14-30%) ทองแดง (6-30%) ปรอท (3%) และสังกะสี (2%) มีการใช้อะมัลกัมเป็นวัสดุอุดฟันมานานกว่า 100 ปี เพราะข้อดีคือ มีความแข็งแรงทนทานต่อแรงบดเคี้ยว ราคาไม่แพง และมีขั้นตอนในการอุดไม่ยาก

ข้อเสียคือ การใช้อะมัลกัมอุดฟันจะมองเห็นเป็นสีเงิน หรือสีเทาดำ จึงไม่นิยมใช้ในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย เช่น ฟันหน้า เพราะไม่สวยงาม อีกทั้งสีของอะมัลกัมยังสามารถซึมไปเปื้อนเนื้อฟันบริเวณอื่น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ซึ่งขจัดออกได้ยากมาก ปัจจุบันจึงใช้อะมัลกัมอุดในฟันซี่หลังๆ หรือฟันขนาดใหญ่ เช่น ฟันกราม

นอกจากนี้ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการอุดฟันด้วยอะมัลกัม ยังไม่ควรเคี้ยวอาหารเพราะเสี่ยงต่อการแตกหักได้

ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม อะมัลกัมยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม จากกระบวนการกำจัดพิษจากไอปรอทที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตอะมัลกัมในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ปัจจุบันอะมัลกัมมีข้อห้ามใช้ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์

แต่สำหรับปัญหาต่อสุขภาพของวัสดุอะมัลกัมที่อุดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่เพียงพอที่จะระบุว่า วัสดุนี้สร้างปัญหาต่อสุขภาพ หรือไม่

วัสดุสีคล้ายฟัน (เรซินคอมโพสิต)

วัสดุสีคล้ายฟันเป็นวัสดุอุดสังเคราะห์ที่มีสีใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ จึงมักใช้ในบริเวณที่ต้องการความสวยงาม เช่น ฟันหน้า

อย่างไรก็ตาม วัสดุสีคล้ายฟันนี้แม้จะมีความแข็งแรงพอสมควร แต่มีข้อเสียคือ ความสามารถในรับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่าวัสดุอุดโลหะ หรืออะมัลกัม จึงไม่นิยมใช้อุดฟันขนาดใหญ่ เช่น ฟันกราม เพราะมีโอกาสเกิดการบิ่น หรือแตกหักได้ง่าย นอกจากนี้วัสดุสีคล้ายฟันยังมีราคาแพงกว่าวัสดุอุดโลหะ จึงอาจเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ใช้บริการบางกลุ่มได้

ข้อเสียอีกอย่างคือ ในระยะยาววัสดุสีคล้ายฟันเหล่านี้ยังมีโอกาสติดสีคราบจากกาแฟ ชา บุหรี่ รวมทั้งโลหะ เช่น ลวดรีเทนเนอร์ ตะขอของฟันปลอมได้

ข้อจำกัดในขั้นตอนการอุดด้วยวัสดุสีคล้ายฟันคือ ต้องปราศจากการปนเปื้อนจากความชื้นจึงไม่สามารถอุดได้ในกรณีที่ไม่สามารถกันน้ำลายผู้ป่วยขณะที่อุดได้ เช่น ในผู้ป่วยเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือ

อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้อุดฟันมีอะไรบ้าง?

อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน นอกจากวัสดุหลักข้างต้นแล้วจะมีวัสดุเสริม ได้แก่

  • วัสดุรองพื้นวัสดุอุดเพื่อปกป้องโพรงประสาทฟันในกรณีที่ฟันผุลึกมากจะมีอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบการรักษา ได้แก่ อุปกรณ์กำจัดเนื้อฟันที่ผุ แผ่นยางกันน้ำลายพร้อมอุปกรณ์ยึดแผ่นยาง
  • เครื่องมืออุดและตกแต่งวัสดุอุด
  • ผ้าก๊อซและสำลีกันน้ำลาย
  • ท่อดูดน้ำลาย
  • ด้ายแยกเหงือก
  • อุปกรณ์กั้นระหว่างซี่ฟัน

ขั้นตอนการอุดฟันเป็นอย่างไร ใช้เวลานานหรือไม่?

ก่อนการอุดฟัน ทันตแพทย์จะตรวจวินิจฉัยก่อนว่า ฟันซี่นั้นสามารถอุดได้หรือไม่และเหมาะสมกับวัสดุชนิดใด มีข้อพิจารณาโดยทั่วไปดังนี้

  • ฟันซี่ที่ผุจะต้องไม่ลุกลามเข้าไปในโพรงประสาทฟัน
  • ฟันจะต้องมีส่วนที่เหลือเพียงพอต่อการยึดของวัสดุที่ใช้ในการอุด
  • สภาพเหงือกบริเวณฟันซี่ที่จะอุดควรอยู่ในสภาพปกติ

บางกรณีทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยขูดหินปูนก่อนจะอุดฟัน ระยะเวลาในการอุดจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพฟันและความร่วมมือของผู้ป่วย โดยปกติใช้เวลา 20-40 นาที มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ในรายที่ฟันผุลึกมาก หรือผู้ป่วยกลัวมาก ทันตแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึกบริเวณฟันซี่นั้นก่อน ยาชาเฉพาะที่จะออกฤทธิ์อยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  2. ทันตแพทย์จะกำจัดเอาเนื้อฟันส่วนที่ผุซึ่งมีการติดเชื้อออกโดยใช้เครื่องมือกรอ หรือตักผ่าน หลังจากนำฟันส่วนที่ผุออกไปแล้ว ถ้าฟันผุลึกเข้าไปชั้นในของเนื้อฟัน ทันตแพทย์จะใส่วัสดุรองพื้นอีกชั้น วัสดุดังกล่าวจะช่วยลดการเสียวฟัน
  3. ทันตแพทย์จะตกแต่งหลุมบนฟันเพื่อเตรียมการอุด กรณีฟันผุที่อยู่ด้านต่างๆ ของตัวฟัน จะมีขั้นตอนเตรียมหลุมฟันสำหรับการอุดฟันแตกต่างกันออกไปได้แก่ กรณีที่ผุใต้ขอบเหงือกจะต้องใส่ด้ายแยกเหงือก กรณีผุบริเวณซอกฟันต้องใส่อุปกรณ์กั้นวัสดุระหว่างซี่ฟัน กรณีฟันหน้าที่ต้องการความสวยงามสูงอาจต้องทำเบ้าซิลิโคนเพื่อก่อรูปร่างฟัน
  4. การอุดด้วยอะมัลกัม ทันตแพทย์จะผสมโลหะเพื่อให้เกิดเป็นอะมัลกัม จากนั้นจะกดใส่ในหลุมที่ได้เตรียมไว้จนแน่น แล้วตกแต่งจนได้ขนาดและรูปร่างที่เหมาะสม ไม่อุดปริมาณมากเกินจนล้นเมื่อ กัดเคี้ยว
  5. ในการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ทันตแพทย์จะปรับสภาพผิวฟันด้วยเจลก่อนอุด ล้างน้ำ จากนั้นทาสารยึดติด แล้วใส่วัสดุอุดฟัน ตกแต่งจนได้ขนาดและรูปร่างที่เหมาะสม จากนั้นจะบ่มด้วยแสง  LED เพื่อให้วัสดุอุดก่อตัวและแข็งแรง
  6. หลังจากอุดฟันเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะขัดแต่งผิวฟันให้เรียบเป็นขั้นตอนสุดท้าย สำหรับอะมัลกัม ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาขัดหลังจากอุดไปเกินกว่า 24 ชั่วโมงซึ่งจะเป็นเวลาที่วัสดุชนิดนี้จะ แข็งแรงและเข้ารูปเต็มที่ (set) ส่วนวัสดุสีเหมือนฟัน สามารถขัดแต่งให้เรียบได้ทันทีหลังจากอุดฟันเสร็จ

อุดฟันแล้วเจ็บไหม

อุดฟันแล้วเจ็บไหม คงเป็นคำถามที่ผู้ยังไม่เคยผ่านกระบวนการนี้อยากรู้มากที่สุดเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจ

คำตอบคือ มีโอกาสเจ็บ หรือเสียวฟันได้ในขั้นตอนที่ทันตแพทย์กรอ ขูด หรือกำจัดเนื้อฟันส่วนที่เสียออกไป ส่วนสาเหตุที่เจ็บ หรือเสียวฟันนั้นอาจมาจากตำแหน่งที่ฟันผุอาจอยู่ใกล้โพรงประสาท หรือฟันผุค่อนข้างมาก

ด้วยเหตุนี้ทันตแพทย์จึงมักพิจารณาให้ยาชาเฉพาะที่ก่อนการกรอฟันเพื่อป้องกันความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้น แต่บางคนอาจไม่ขอฉีดยาชา แต่ระหว่างที่กรอฟันหากมีอาการเจ็บ หรือเสียวฟัน สามารถยกมือบอกทันตแพทย์เพื่อขอให้ใช้ยาชาเฉพาะที่ได้

การดูแลตัวเองหลังการอุดฟัน

  • หลังการอุดฟันต้องดูแลฟันเหล่านั้นเป็นพิเศษทั้งในระยะสั้นและยาว สำหรับงานอุดด้วยวัสดุอะมัลกัม ควรงดเคี้ยวด้านที่อุด 24 ชั่วโมง เพื่อให้วัสดุอุดฟันแข็งแรงและเข้ารูปเต็มที่ จากนั้นควรกลับไปพบให้ทันตแพทย์เพื่อขัดแต่งวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันอีกครั้ง ส่วนวัสดุสีเหมือนฟัน สามารถเคี้ยวอาหารได้เลย
  • ส่วนในรายที่อุดฟันหน้า ไม่ควรใช้ฟันหน้ากัดฉีกอาหารที่มีลักษณะแข็งเพราะจะทำให้วัสดุที่อุดแตกได้ และการแตกของวัสดุอาจลุกลามไปถึงเนื้อฟันส่วนที่ดี
  • ส่วนในกรณีที่มีฟันผุลึกผู้ที่ได้รับการอุดฟันอาจมีการเสียวฟันภายหลังการอุดฟันได้จึงควรงดอาหารที่ร้อนจัดและเย็นจัด ปกติแล้วอาการเสียวฟันจะลดลงภายใน 2-3 สัปดาห์ ในกรณีหลังจากอุดฟันไปแล้ว 1 เดือน แต่ผู้ป่วยยังคงมีอาการเสียวฟันอยู่ควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขต่อไป
  • ควรแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
  • ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณซอกฟันที่อยู่ใกล้กับวัสดุอุด
  • ควรพบทันตแพทย์ปีละ 1- 2 ครั้ง เพื่อตรวจเช็กทั้งวัสดุอุดฟัน ตัวฟัน เหงือก และช่องปาก

แม้การอุดฟันจะเป็นวิธีการรักษาสำคัญที่ช่วยคงสภาพฟันให้ยังสามารถใช้งานอยู่ได้อีกนานเป็นสิบปี แต่วิธีดีที่สุดคือ การหมั่นทำความสะอาดฟัน เหงือก และช่องปากให้สะอาดในทุกๆ วัน


เปรียบเทียบราคา แพ็กเกจอุดฟัน

Scroll to Top