แผลเป็นนูน หรือ “แผลคีลอยด์” บนเนื้อผิวเป็นอีกปัญหาด้านความงามที่บั่นทอนความมั่นใจได้ สวมใส่เสื้อผ้าแต่ละครั้งก็ต้องระมัดระวัง เพราะไม่อยากให้ใครเห็นรอยแผลชนิดนี้ที่มักสังเกตเห็นได้ชัด
“การฉีดคีย์ลอยด์” ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาแผลชนิดนี้ให้บรรเทาจางลง ผ่านการฉีดสารยาลงไปกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของเนื้อผิวให้สมานกันมากขึ้น หากใครยังไม่รู้จักวิธีรักษาคีย์ลอยด์ด้วยวิธีนี้ ในบทความนี้ HDmall.co.th จะมาแชร์ความรู้ด้านการฉีดคีย์ลอยด์ทุกส่วนที่คุณควรรู้ให้ทราบพร้อมๆ กัน
สารบัญ
- แผลคีลอยด์คืออะไร?
- แผลคีย์ลอยด์เกิดจากอะไร?
- แผลคีลอยด์มักเกิดได้บริเวณใดบ้าง?
- การฉีดคีลอยด์คืออะไร?
- ฉีดคีย์ลอยด์ปลอดภัยไหม?
- ฉีดคีลอยด์ตรงไหนได้บ้าง?
- ฉีดคีลอยด์กี่ครั้งถึงจะหาย?
- ฉีดคีย์ลอยด์เจ็บไหม?
- ไม่อยากฉีดคีลอยด์สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ไหม?
- ฉีดคีลอยด์เหมาะกับใคร?
- การเตรียมตัวก่อนฉีดคีลอยด์
- ขั้นตอนการฉีดคีลอยด์
- การดูแลตนเองหลังฉีดคีลอยด์
- ผลข้างเคียงจากการฉีดคีลอยด์
แผลคีลอยด์คืออะไร?
คีย์ลอยด์ (Keloid) หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “แผลเป็นนูน” คือ ชนิดของรอยแผลเป็นที่มีลักษณะนูนขึ้นมาจากเนื้อผิว มีเนื้อแข็ง สัมผัสลื่นมัน และยังมักมีสีของแผลอ่อน หรือเข้มกว่าสีผิวปกติ มักมีขนาดใหญ่กว่าขนาดของบาดแผลเดิมที่เป็นตัวการทำให้เกิดแผลคีลอยด์
นอกจากลักษณะแผลที่นูนและมีสีแตกต่างไปจากผิวปกติ แผลคีลอยด์ยังมักก่ออาการคันระคายเคือง หรือเจ็บแปลบเบาๆ เป็นระยะๆ ด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบด้านความสวยงามของผิวให้กับตัวผู้ที่มีแผล จนทำให้หลายคนอยากจะกำจัดแผลคีลอยด์ออกไปจากผิวให้เร็วที่สุด
แผลคีย์ลอยด์เกิดจากอะไร?
แผลเป็นคีลอยด์มักเกิดขึ้นในกรณีที่เนื้อเยื่อของร่างกายฉีกขาด การเกิดอุบัติเหตุจนเนื้อเยื่อผิวเสียหาย การผ่าตัดซึ่งทำให้มีแผลบริเวณที่แพทย์กรีดเปิดผิว รวมไปถึงการเจาะหู เจาะจมูก หรือเจาะสะดือด้วย หรือแม้แต่แผลเป็นจากการเป็นสิวอักเสบ ก็สามารถเกิดเป็นแผลคีลอยด์ได้เช่นกัน
โดยกลไกการเกิดแผลคีลอยด์ที่นูนหนาและมีขนาดใหญ่ เกิดมาจากกระบวนการซ่อมแซมแผลตามธรรมชาติของร่างกาย โดยเมื่อเราเกิดบาดแผลขึ้นที่ผิว ร่างกายก็จะสร้างเซลล์เนื้อเยื่อใหม่หรือ “คอลลาเจนผิว” ขึ้นมาเพื่อสมานปิดแผลส่วนนั้น
แต่เพราะในบางครั้ง เซลล์เนื้อเยื่อได้มีกระบวนการผลิตที่มากเกินไป จึงทำให้เซลล์คอลลาเจนที่เข้าไปสมานแผลมีปริมาณมากเกินจำเป็น จึงทำให้เนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นใหม่บริเวณแผลนูนเกินขึ้นมาและขยายขนาดออกใหญ่ขึ้น
แผลคีลอยด์มักเกิดได้บริเวณใดบ้าง?
ความจริงแล้วแผลคีลอยด์สามารถเกิดได้บนผิวหนังทั่วทุกส่วนของร่างกาย แต่บริเวณผิวที่มีความตึงรั้งหรือไม่ได้มีความหย่อนยืดหยุ่นมากนักมีโอกาสจะเกิดแผลคีลอยด์ได้มากกว่า เช่น ติ่งหู กระดูกใบหู หัวไหล่ แผ่นอก แผ่นหลัง
การฉีดคีลอยด์คืออะไร?
การฉีดคีลอยด์ คือ หนึ่งในวิธีรักษาแผลเป็นคีลอยด์ให้สมานเข้ากับเนื้อผิวปกติ มีเนื้อแผลนิ่มขึ้น และลดโอกาสการขยายขนาดของแผลให้ใหญ่ขึ้น ผ่านการฉีดสารยาเข้าไปบรรเทาการอักเสบของเซลล์เนื้อเยื่อ และลดกระบวนการผลิตเซลล์ผิวหนังเพิ่มบริเวณเนื้อแผล
สารที่ใช้ในการฉีดคีลอยด์จแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานพยาบาล แต่ส่วนมากมักใช้เป็นสารยาสเตียรอยด์ (Intralesional Steroid) ซึ่งเป็นสารยาที่ได้มาตรฐานในการรักษาแผลคีลอยด์ โดยอาจฉีดร่วมกับสารยาตัวอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้แผลนิ่ม หยุดความระคายเคือง และสมานเข้ากับเนื้อผิวได้มากขึ้น ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
ฉีดคีย์ลอยด์ปลอดภัยไหม?
การฉีดคีลอยด์จัดเป็นวิธีรักษาคีลอยด์ที่ปลอดภัย และได้รับการยอมรับในวงการแพทย์
อย่างไรก็ตาม บางสถานพยาลบาลก็ได้แอบลักลอบนำสารยาที่เป็นอันตรายและมีราคาถูกกว่ามาฉีดให้กับผู้เข้ารับบริการ โดยแอบอ้างถึงสรรพคุณที่ไม่แตกต่างกันกับสารสเตียรอยด์ แต่มีราคาที่ย่อมเยากว่า ซึ่งผู้เข้ารับบริการทุกท่านจะต้องระมัดระวัง และไปใช้บริการฉีดคีลอยด์กับสถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่เท่านั้น
ฉีดคีลอยด์ตรงไหนได้บ้าง?
โดยปกติการฉีดคีลอยด์จะฉีดที่ผิวหนังส่วนนอกของร่างกายและแทบไม่ได้จำกัดบริเวณที่ฉีด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์เกี่ยวกับบริเวณที่เกิดแผลคีลอยด์อีกครั้ง
ฉีดคีลอยด์กี่ครั้งถึงจะหาย?
โดยปกติการฉีดคีลอยด์จะต้องฉีดอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง โดยอาจอยู่ที่ 3 ครั้งขึ้นไป ความถี่อยู่ที่ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการประเมินลักษณะแผลจากแพทย์ รวมถึงต้องตรวจดูการตอบสนองของแผลที่มีต่อสารยาหลังจากฉีดในครั้งแรกๆ ด้วย
ฉีดคีย์ลอยด์เจ็บไหม?
การฉีดคีลอยด์เป็นการทำหัตถการโดยใช้เข็มฉีดยาฉีดลงไปใต้ผิว จึงทำให้เกิดอาการเจ็บได้ในระหว่างรับบริการ แต่โดยปกติแทบทุกสถานพยาบาลจะมีการให้ยาชาหรือประคบน้ำแข็งเพื่อให้ผิวชาก่อนรับบริการ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
ไม่อยากฉีดคีลอยด์สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ไหม?
แผลคีลอยด์ที่มีขนาดเล็กหรือนูนไม่มากก็อาจใช้วิธีทายา ใช้เจลใสแปะ หรือใช้ผ้ารัดแผลเพื่อลดขนาดและความนูนได้ ซึ่งวิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่รักษาแผลคีลอยด์ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้เหมาะกับแผลเป็นคีลอยด์ที่มีขนาดเล็กๆ เท่านั้น และต้องมีการรักษาอย่างสม่ำเสมออยู่ตลอด จึงจะมีโอกาสเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน
หากคุณมีแผลเป็นคีลอยด์ที่มีขนาดใหญ่ หรือมีความนูนอย่างเห็นได้ชัด วิธีรักษาคีลอยด์ด้วยตนเองก็อาจไม่เหมาะและไม่เห็นผลได้ ควรเปลี่ยนไปใช้วิธีรักษาที่ขึ้นตรงกับการดูแลจากแพทย์จะดีที่สุด
ฉีดคีลอยด์เหมาะกับใคร?
การฉีดคีลอยด์เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลเป็นบนผิวหนังในระยะที่กลายเป็นแผลคีลอยด์แล้ว นั่นคือ แผลปิดสนิท มีลักษณะนูน หนา มีผิวบริเวณแผลที่ใสเป็นมัน มีสีเข้ม แดง หรืออ่อนกว่าเนื้อผิวปกติ
สำหรับผู้ที่มีแผลคีลอยด์ในลักษณะที่กลายเป็นก้อนเนื้อขนาดใหญ่ ก็ยังสามารถฉีดคีลอยด์ได้ แต่หากแพทย์ประเมินว่า แผลใหญ่หรือหนาเกินกว่าจะใช้วิธีฉีดคีลอยด์รักษาได้ ก็อาจแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้วิธีผ่าตัดเพื่อตัดก้อนเนื้อคีลอยด์ออกแทน
การเตรียมตัวก่อนฉีดคีลอยด์
การเตรียมตัวก่อนฉีดคีลอยด์แทบไม่ต้องมีการดูแลตนเองเป็นพิเศษล่วงหน้า เพียงปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประวัติสุขภาพเบื้องต้น ประวัติแพ้ยา โรคประจำตัว ยาประจำตัว รวมถึงวิตามิน อาหารเสริมที่รับประทานเป็นประจำก่อนล่วงหน้าเท่านั้น
ขั้นตอนการฉีดคีลอยด์
ลำดับการฉีดลอยด์จะคล้ายกับการทำหัตถการทั่วไปผ่านการฉีด ซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ผู้เข้ารับบริการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดสำหรับรับบริการ แต่ในบางสถานพยาบาลอาจไม่จำเป็น และสามารถสวมเสื้อผ้าชุดเดิมฉีดได้เลย
- ทำความสะอาดผิวบริเวณที่ฉีดคีลอยด์
- ให้ยาชา โดยอาจเป็นแบบทา ฉีด หรือแค่ประคบเย็น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถานพยาบาล
- แพทย์เริ่มฉีดยาเพื่อรักษาแผลคีลอยด์
- ทำความสะอาดผิวและปิดแผล จากนั้นผู้เข้ารับบริการก็กลับบ้านได้เลย
การดูแลตนเองหลังฉีดคีลอยด์
ผู้เข้ารับบริการต้องดูแลแผลคีลอยด์ให้สะอาดอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการจับ บีบ หรือกดแผลคีลอยด์โดยเด็ดขาด เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เซลล์ผิวผลิตคอลลาเจนเพิ่มจนแผลนูนกว่าเดิมได้
หากเป็นแผลคีลอยด์ที่เกิดจากการเจาะหู เจาะจมูก เจาะสะดือ หรือการเจาะใดๆ เพื่อความสวยงามของร่างกาย เมื่อแผลบรรเทาลงแล้ว ก็ไม่ควรกลับไปเจาะทับแผลคีลอยด์เก่าอีก เพราะมีโอกาสที่แผลคีลอยด์จะกลับมาอีกครั้ง
ผลข้างเคียงจากการฉีดคีลอยด์
ผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกเจ็บหรือแผลช้ำหลังฉีดคีลอยด์ได้ ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้จากการทำหัตถการแบบเข็มฉีดยา
นอกจากอาการเจ็บหรือช้ำที่พบได้บ่อยๆ หากผู้เข้ารับบริการใช้บริการฉีดคีลอยด์ในสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้มีการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ก่อน โอกาสที่แผลคีลอยด์จะอักเสบและติดเชื้อก็สามารถเกิดขึ้นได้ และอาจส่งผลทำให้เกิดน้ำหนองไหลออกมาจากแผล
ดังนั้นการรับบริการฉีดคีลอยด์ที่สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และดำเนินการด้วยแพทยผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้น้อยมาก
อีกหนึ่งผลข้างเคียงที่พบได้ ก็คือ แผลคีลอยด์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปหรือลดขนาดลง ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้จากเนื้อผิวที่ไม่ตอบสนองต่อสารยาที่ฉีด แพทย์แต่ละสถานพยาบาลอาจพิจารณาฉีดตัวยาอื่นที่ปลอดภัยให้ หรืออาจแนะนำให้ไปใช้วิธีรักษาอื่น เช่น การผ่าตัดแทน