วิธีถอดและวิธีใส่รีเทนเนอร์

รีเทนเนอร์เป็นอุปกรณ์คงสภาพฟันที่คนจัดฟันทุกคนต้องใส่หลังจากจัดฟันเสร็จแล้ว และอาจต้องใส่ไปตลอดชีวิต

หากไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์เพียงไม่กี่วัน อาจทำให้ฟันเคลื่อนตัวและใส่ไม่พอดีในที่สุด การใส่และถอดรีเทนเนอร์ให้ถูกวิธีจึงมีความสำคัญ เพราะหากใส่ผิดวิธีอาจทำให้รีเทนเนอร์เสียหาย และต้องไปทำรีเทนเนอร์ใหม่

รีเทนเนอร์ถอดได้มีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ ที่จะนำมาพูดถึงในบทความนี้ก็คือ รีเทนเนอร์ใสและรีเทนเนอร์ลวด

วิธีใส่รีเทนเนอร์ลวด

การใส่รีเทนเนอร์ลวดมีด้วยกัน 4 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

  1. ดูจุดสังเกตของรีเทนเนอร์ รีเทนเนอร์ลวดจะมีส่วนประกอบหลักๆ สองส่วนก็คือส่วนที่เป็นพลาสติกหรืออะคริลิก และส่วนที่เป็นลวด โดยส่วนที่เป็นพลาสติกจะต้องอยู่ด้านในของฟัน ส่วนที่เป็นลวดจะอยู่ด้านนอกของฟัน
  2. ดูว่ารีเทนเนอร์สำหรับใส่ด้านบนหรือล่าง รีเทนเนอร์มีด้วยกัน 2 ชิ้น คือสำหรับใส่ด้านบนและด้านล่าง หากหันโค้งตัว U ชี้ออกด้านนอกปาก จะทำให้สังเกตทรงของรีเทนเนอร์ได้ง่ายขึ้น
  3. วางรีเทนเนอร์ลงตามแนวฟัน หากเลือกชิ้นรีเทนเนอร์ถูกและหันด้านถูกต้อง รีเทนเนอร์ควรจะพอดีกับสภาพฟันพอดี จากนั้นค่อยๆ กดลงไปให้รีเทนเนอร์ล็อกเข้ากับสภาพฟันตั้งแต่ด้านในออกมาด้านนอก อาจได้ยินเสียงดัง คลิก!
  4. ตรวจเช็กความเรียบร้อย ใช้กระจกช่วยในการดูว่ารีเทนเนอร์เข้าล็อกดีหรือไม่ จากนั้นใช้นิ้วกดด้านในของฟันว่ารีเทนเนอร์พอดีกับด้านในด้วยหรือไม่ หากเข้าล็อกกับสภาพฟันดีแล้ว ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

หากใส่รีเทนเนอร์แล้วรู้สึกเจ็บหรือแน่นเกินไป ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข เพราะรีเทนเนอร์ควรจะพอดีกับสภาพฟัน

วิธีถอดรีเทนเนอร์ลวด

การถอดรีเทนเนอร์ลวดให้เริ่มจากข้างๆ โดยขยับขึ้นสลับกันทั้งฝั่งซ้ายและขวาจนรีเทนเนอร์หลุดออกมาเอง เพราะหากดึงรีเทนเนอร์ขึ้นมาตรงๆ อาจทำให้รีเทนเนอร์บิดเบี้ยวไม่พอดีกับฟัน และต้องทำรีเทนเนอร์ใหม่

วิธีใส่รีเทนเนอร์ใส

รีเทนเนอร์ใสมีวิธีใส่ที่ง่าย เพราะทันตแพทย์พิมพ์ชิ้นรีเทนเนอร์ใสมาให้รูปร่างเหมือนสภาพฟันอยู่แล้ว สามารถใส่ได้ใน 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ดูว่ารีเทนเนอร์สำหรับใส่ด้านบนหรือล่าง รีเทนเนอร์ใสทำมาจากพลาสติกใสแบบบางสำหรับสวมครอบเข้าไปตามแนวฟันได้เลย เมื่อหันด้านโค้งตัว U ออกด้านนอกปากจะเห็นส่วนที่เว้าสำหรับสวมครอบฟันด้านบนหรือด้านล่างได้ชัดเจน
  2. สวมรีเทนเนอร์ตามแนวฟัน เริ่มจากวางให้รีเทนเนอร์อยู่บนแนวฟันพอดี จากนั้นค่อยๆ กดลงรีเทนเนอร์ใสลงไปให้เข้าล็อกกับฟันได้เลย
  3. ตรวจสอบความเรียบร้อย หากเลือกชิ้นรีเทนเนอร์ใสได้ถูกต้อง รีเทนเนอร์ใสจะสวมเข้ากับแนวฟันได้พอดีทั้งด้านในและด้านนอก ไม่สามารถขยับไปมาได้

รีเทนเนอร์ใสมีความบอบบางมากกว่ารีเทนเนอร์ลวด จึงมีโอกาสที่จะเสียหายได้ง่ายกว่า ควรสังเกตสภาพรีเทนเนอร์ให้ดีว่ามีส่วนไหนแตกร้าวหรือไม่ หากมีจะต้องพบทันตแพทย์เพื่อทำรีเทนเนอร์ขิ้นใหม่ทันที

วิธีถอดรีเทนเนอร์ใส

การถอดรีเทนเนอร์ใสคล้ายกับการถอดรีเทนเนอร์ลวด ให้เริ่มจากการถอดด้านในแล้วค่อยๆ ขยับออกมาด้านนอก แต่อาจต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะรีเทนเนอร์ใสบอบบางกว่ารีเทนเนอร์ลวด

ใส่รีเทนเนอร์ไม่เข้าทำอย่างไรดี?

หากรีเทนเนอร์ใส่ไม่พอดี แน่นไป หลวมไป ควรกลับไปพบทันตแพทย์เพื่อทำรีเทนเนอร์ชิ้นใหม่

หากเป็นรีเทนเนอร์ลวด อาจยังพอดัดแก้ไขให้เข้ากับสภาพฟันได้ แต่หากเป็นรีเทนเนอร์ใสมักจะต้องทำการพิมพ์ฟันใหม่อีกครั้ง

สาเหตุที่รีเทนเนอร์ใส่ได้ไม่พอดี อาจเกิดได้จาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ

  • เกิดความผิดพลาดในการผลิตรีเทนเนอร์ ทำให้ขนาดไม่พอดีกับสภาพฟัน
  • ผู้ใส่รีเทนเนอร์ลืมใส่รีเทนเนอร์เป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ฟันเคลื่อนตัวจากตำแหน่งเดิมเล็กน้อย
  • รีเทนเนอร์เกิดความเสียหาย เช่น หล่น นั่งทับ

ข้อควรระวังสำหรับการใส่รีเทนเนอร์ครั้งแรก

สำหรับคนที่ใส่รีเทนเนอร์เป็นครั้งแรก หรือกำลังจะได้ใส่รีเทนเนอร์ อาจศึกษาข้อควรระวังเบื้องต้นนี้ร่วมกับการพูดคุยกับทันตแพทย์เพื่อประกอบความเข้าใจ

  • ไม่ควรใช้ฟันกัดกันเพื่อกดรีเทนเนอร์ให้แนบสนิท วิธีนี้อาจทำให้รีเทนเนอร์เสียหายได้ ควรใช้นิ้วมือกดตามขั้นตอนที่กล่าวไว้ข้างต้น
  • ไม่ควรให้รีเทนเนอร์สัมผัสความร้อน เช่น เครื่องดื่มร้อนตอนใส่รีเทนเนอร์ หรือนำรีเทนเนอร์วางไว้ในรถขณะอากาศร้อน เพราะอาจทำให้รีเทนเนอร์ผิดรูปได้
  • ไม่ควรถอดรีเทนเนอร์วางไว้ในกระดาษทิชชู่ หลายคนมักถอดรีเทนเนอร์วางไว้บนกระดาษทิชชู่ขณะกินอาหาร ทำให้อาจลืมรีเทนเนอร์ทิ้งเอาไว้ได้ ทางที่ดีควรใส่รีเทนเนอร์ไว้ในกล่องเสมอ
  • ไม่ควรพยายามซ่อมรีเทนเนอร์ด้วยตัวเอง อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ารีเทนเนอร์ลวดอาจพอดัดแก้ไขได้ แต่ควรให้ทันตแพทย์เป็นผู้แก้ไข เพราะหากแก้ไขเองอาจเสียหายมากกว่าเดิมจนต้องทำใหม่

โดยรวมแล้ว รีเทนเนอร์แบบถอดได้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่จัดฟันเสร็จแล้ว เพราะสามารถสลับสับเปลี่ยนได้หากต้องการ แต่อาจต้องดูแลมากกว่ารีเทนเนอร์ประเภทติดแน่นหน่อย ทั้งการใส่ ถอด และทำความสะอาด

Scroll to Top