ถุงยางอนามัย หากใช้อย่างถูกต้องสามารถช่วยคุมกำเนิดได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ รวมทั้งสามารถป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย หลายคนเข้าใจว่า การใช้ถุงยางอนามัยจะทำให้ความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง ทั้งที่ในความเป้นจริงนั้น ถุงยางอนามัยสามารถช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการร่วมเพศให้มากขึ้นได้ ทั้งในเรื่องของขนาด รูปร่าง สีสัน พื้นผิวซึ่งมีทั้งแบบเรียบ และแบบที่มีกระเปาะ (ถุงเก็บน้ำอสุจิที่ส่วนปลาย ) มีกลิ่น และรสของผลไม้ หรือมีกลิ่นน้ำหอม สามารถเรืองแสงได้ในที่มืดทั้งแบบทึบแสง และแบบบางใส ถุงยางอนามัยบางชนิดช่วยให้การร่วมเพศนานขึ้นได้ด้วยการเคลือบสาร หรือยาบางชนิด ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเลือกใช้ถุงยางอนามัยแบบไหน
นอกจากถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายแล้วยังมีถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงด้วยเช่นกัน เพียงแต่อาจไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะค่อนข้างไม่สะดวกในการสวมใส่ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทำออรัลเซ็กส์ หรือมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักก็มี แผ่นอนามัย หรือ แผ่นแดม (Dental dam) ให้เลือกใช้เพื่อความปลอดภัยของสุขอนามัยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายเท่านั้น
สารบัญ
- ประเภทของถุงยางอนามัย
- ความแตกต่างของถุงยางแต่ละชนิด
- วิธีวัดขนาดถุงยางอนามัย
- วิธีการเลือกใช้ถุงยางอนามัยไม่ให้หลุด หรือแตกระหว่างใช้
- วิธีใส่ถุงยางอนามัยให้ถูกต้อง
- สารหล่อลื่นที่ไม่ควรใช้กับถุงยางอนามัย
- ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย
- คําแนะนําในการใช้ถุงยางอนามัยให้ได้ผลมากที่สุด
- คำถามเกี่ยวกับถุงยางอนามัยที่คนอยากรู้มากที่สุด
ประเภทของถุงยางอนามัย
ในปัจจุบันถุงยางอนามัยผลิตจากยางธรรมชาติ (Latex) หรือที่เรียกว่า “Male Latex Condom” นอกจากถุงยางประเภทนี้จะมีราคาถูกแล้ว ยังได้รับการรับรองในเรื่องของคุณภาพ ความทนทาน และยังสามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำได้ เช่น เควาย เจล (K-Y jelly)
แต่ถ้าเป็นสารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมก็อาจทำให้ถุงยางอนามัยประเภทนี้เกิดการเสื่อมสภาพ และชำรุดฉีกขาดได้
หากใครแพ้ยางธรรมชาติก็อาจใช้ถุงยางที่ผลิตมาจากสารสังเคราะห์แทนได้ เช่น Polyurethane (Polyurethane Condom)
ตามกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้กำหนดประเภทของถุงยางอนามัยที่ทำมาจากน้ำยางตามธรรมชาติไว้ 13 ประเภท โดยใช้ “ขนาดความกว้างของอวัยวะเพศชาย” เป็นเกณฑ์ ตั้งแต่ขนาด 44 – 56 มิลลิเมตร โดยความยาวจากปลายเปิดถึงปลายปิดไม่รวมติ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 160 มิลลิเมตร
ในประเทศไทยมีวางจำหน่ายอยู่ 3 ขนาดเท่านั้น ได้แก่ 49, 52 และ 56 มิลลิเมตร
ความแตกต่างของถุงยางแต่ละชนิด
- ชนิด ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (Latex Condom) และชนิดที่ทำจากสารสังเคราะห์ (Polyurethane Condom)
- ขนาด มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 ขนาด คือ ตั้งแต่ 44 มิลลิเมตร จนถึง 56 มิลลิเมตร
- ความบาง โดยทั่วไปถุงยางอนามัยจะมีความหนาตามมาตรฐานคือ 0.05 – 0.07 มม. แต่ปัจุบันมีการผลิตถุงยางที่มีความบางเป็นพิเศษ เพียง 0.02 – 0.01 มม. ออกมาอีกด้วย ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกถึงสัมผัสที่แนบสนิทเหมือนไม่ได้ใส่
- รูปทรง มีทั้งแบบที่เป็นทรงกระบอกตรง (straight) และแบบลูกคลื่น (rippled)
- ลักษณะก้นถุง มีทั้งแบบเรียบ หรือมน (plain) และแบบที่เป็นกระเปาะ (reservoir-ended or teat) สำหรับเก็บน้ำอสุจิ
- ผิวถุงยาง มีหลายแบบให้เลือก ทั้งแบบที่เป็นผิวเรียบ (smooth) และแบบผิวไม่เรียบ (textured) หรือผิวขรุขระ
- สีสัน มีหลากหลายสีให้เลือก ทั้งแบบสีธรรมชาติ สีประกายรุ้ง และแบบเรืองแสงในที่มืด
- กลิ่นและรส มีหลายกลิ่นหลายรสให้เลือกตามความชอบ
- คุณสมบัติพิเศษ มีสารหล่อลื่น สารชะลอการหลั่ง สารฆ่าเชื้ออสุจิและป้องกันโรคติดต่อ เป็นต้น
วิธีวัดขนาดถุงยางอนามัย
การวัดขนาดถุงยางอนามัย สามารถวัดอย่างคร่าวๆ ได้จากส่วนสูงของผู้สวมใส่ วิธีนี้ไม่แม่นยำมากนัก หากส่วนสูงไม่เกิน 160 ซม. ควรใช้ถุงยางอนามัยขนาด 49 มิลลิเมตร แต่ถ้ามีส่วนสูงเกิน 160 ซม. ก็ใช้ขนาด 52 มิลลิเมตร
แต่เพื่อความแม่นยำควรวัดที่อวัยวะเพศขณะแข็งตัวจะดีกว่า ก่อนวัดขนาดอวัยวะเพศชายควรกระตุ้นให้แข็งตัวเต็มที่ แล้วจึงวัดขนาดของเส้นรอบวงที่กึ่งกลางอวัยวะเพศ (ไม่ใช่ความยาวของอวัยวะเพศ) เมื่อได้ค่าแล้วนำไปหารสองก็จะได้ขนาดถุงยางอนามัยที่แม่นยำ หน่วยที่ใช้ในการวัดคือ มิลลิเมตร
วิธีการเลือกใช้ถุงยางอนามัยไม่ให้หลุด หรือแตกระหว่างใช้
- ต้องดูวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยบรรจุภัณฑ์ของถุงยางอนามัยจะต้องอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ฉีกขาด หากถุงยางหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ แล้วยังนำมาใช้งานจะมีโอกาสเกิดการฉีกขาดได้ง่ายขณะใช้งาน
- ต้องซื้อให้พอดีกับขนาดอวัยวะเพศของตัวเองเพราะถ้าใช้ขนาดหลวม หรือคับจนเกินไป อาจทำให้ถุงยางแตก หรือหลุด ขณะปฏิบัติภารกิจได้
- ควรฉีกซองถุงยางอนามัยให้ตรงตามรอยที่กำหนดให้ ห้ามใช้ฟันกัดเพื่อฉีกซอง และระวังเล็บมือไปเกี่ยว หรือขีดข่วนถุงยางอนามัยจนขาด
- ต้องสวมใส่ถุงยางขณะที่อวัยวะเพศยังแข็งตัวเต็มที่เพื่อป้องกันการหลุดขณะใช้ และควรถอนอวัยวะเพศชายออกเมื่อยังแข็งตัวอยู่ เพื่อป้องกันถุงยางอนามัยหลุดออกตอนถอนตัวในขณะที่อวัยวะเพศอ่อนตัวลงแล้วนั่นเอง
- ขณะเอาถุงยางอนามัยออกจากอวัยวะเพศให้ใช้ทิชชูจับทุกครั้ง ไม่ให้มือสัมผัสกับสารคัดหลั่งโดยตรง
วิธีใส่ถุงยางอนามัยให้ถูกต้อง
เมื่ออวัยวะเพศชายแข็งตัวมักจะมีน้ำอสุจิจำนวนเล็กน้อยออกมาจากอวัยวะเพศ ด้วยเหตุนี้จึงควรจะสวมใส่ถุงยางอนามัยก่อนจะมีการสัมผัสใดๆ ระหว่างอวัยวะเพศชายกับบริเวณช่องคลอดของฝ่ายหญิง
ที่สำคัญเมื่อจะใส่ถุงยางอนามัยควรระวังไม่ให้น้ำอสุจิที่ออกมาก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์เปรอะเปื้อนด้านนอกของถุงยาง และควรแน่ใจว่า สวมถุงยางอนามัยคลุมมิดอวัยวะเพศชายที่ยาวเต็มที่แล้ว
หากถุงยางอนามัยฉีกขาดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ควรหยุดทันที และใส่ถุงยางอนามัยชิ้นใหม่แทน
เมื่อฝ่ายชายถึงจุดสุดยอดแล้ว ควรเอาอวัยวะเพศชายออกจากช่องคลอดของฝ่ายหญิงก่อนที่อวัยวะเพศจะอ่อนตัวลง ขณะเดียวกันฝ่ายชายควรจับถุงยางอนามัยไว้ด้วยเพื่อให้แน่ใจว่า ถุงยางอนามัยไม่ตกค้างอยู่ภายในช่องคลอดของฝ่ายหญิง หากเป็นเช่นนั้นอาจจะทำให้น้ำอสุจิหกใส่ช่องคลอดของฝ่ายหญิงได้
สารหล่อลื่นที่ไม่ควรใช้กับถุงยางอนามัย
ห้ามใช้สารหล่อลื่นประเภทไม่ละลายน้ำ กล่าวคือ สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันแร่ หรือน้ำมันพืชมาทาที่ถุงยางอนามัย เช่น เบบี้ออยล์ น้ำมันปิโตรเลียม หรือบอดี้โลชั่น เนื่องจากสารเหล่านี้จะทำให้ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางธรรมชาติเสื่อม หรือขาด ชำรุด และมีฤทธิ์กัดกร่อนไปทำลายพันธะเคมีในถุงยาง
โดยน้ำมันพืชจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพได้เร็วที่สุด รองลงมาคือ เบบี้ออยล์ ปิโตรเลียมเจลลี่ และบอดี้โลชั่น อีกทั้งการใช้ยาสอดช่องคลอดก็สามารถทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพได้เช่นกัน
ถุงยางอนามัยจะให้ผลในการคุมกำเนิด หรือป้องกันการแพร่เชื้อโรคได้อย่างสูงสุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ที่ถูกต้องของผู้ใช้อีกด้วย
เราควรทำความเข้าใจ หรือฝึกทดลองใช้ก่อนการลงสนามจริง เพื่อพิจารณาขนาดที่พอเหมาะ หรือดูว่าจะเกิดอาการแพ้หรือไม่ เพื่อช่วยให้การมีเพศสัมพันธ์เป็นความสุขที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความปลอดภัยด้วยนั่นเอง
ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย
1. ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
หากใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี (Perfect use) โอกาสที่การคุมกำเนิดจะล้มเหลวมีอยู่เพียง 2% เท่านั้น หรือหากเทียบเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (First year of use) แล้ว พบว่า คนที่ใช้ถุงยางเพื่อคุมกำเนิดจำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 2 เท่านั้น
แต่จากการใช้งานจริง พบว่า มีความล้มเหลวในการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นเป็น 18% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 คน จากผู้ที่ใช้วิธีนี้ในการคุมกำเนิด ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงยางไม่ถูกวิธี ใช้ไม่สม่ำเสมอ ใช้สลับกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น หรือถุงยางอนามัยชำรุด ฉีกขาด หรือรั่วซึม
2. ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศ
ถุงยางอนามัยช่วยป้องกันคุณจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease; STD) เช่น ติดเชื้อ HIV เอดส์ หนองในเทียม โกโนเรีย คลามายเดีย ตลอดจนโรคไวรัสตับอักเสบมากกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น
ถุงยางทําหน้าที่เป็นปราการกั้นเลือด อสุจิ และสารคัดหลั่งจากช่องคลอดไม่ให้ส่งต่อไปยังคู่นอนในระหว่างมีเพศสัมพันธ์เพราะเลือด และสารคัดหลั่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีโอกาสเป็นแหล่งเชื้อโรคได้ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าการใช้ถุงยางอนามัยจะปลอดภัยเต็มร้อยเพราะถึงจะใช้อย่างถูกต้อง แต่ถุงยางไม่สามารถป้องกัน เริม หูดหงอนไก่ ซิฟิลิส และเชื้อกามโรคอีกหลายชนิดที่สามารถติดต่อได้จากหลายช่องทางได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีคู่นอนหลายคน แม้จะใช้ถุงยางอนามัยเสมอแต่ยังคงต้องตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจําอยู่ดี
ถุงยางอนามัยช่วยปกป้องคุณจากโรคไม่พึงประสงค์ได้ดีที่สุด แม้จะป้องกันได้ไม่หมดทุกโรคก็ตาม ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องคํานึงถึง ดังต่อไปนี้
- เชื้อโรคสามารถแทรกซึมผ่านถุงยางอนามัยได้หรือไม่
- การแพร่เชื้อมักจะมากับสารคัดหลังจากช่องคลอด หรือ อวัยวะเพศชายใช่หรือไม่
- ใช้ถุงยางอนามัยถูกต้องหรือไม่ ถุงยางปริ แตก รั่ว หรือเลื่อนหลุดหรือไม่
ถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ตราบเท่าที่ของเหลว หรือบริเวณที่ปนเปื้อนเชื้อถูกคั่นแบ่งด้วยถุงยาง ไม่เช่นนั้นถุงยางอนามัยก็คงไร้ความหมาย ดังเช่น กรณีออรัลเซ็กส์ เพราะเยื่อบุช่องปากที่สัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ หรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคโดยตรงก็อาจทำให้ติดโรคนั้นๆ มาได้
คําแนะนําในการใช้ถุงยางอนามัยให้ได้ผลมากที่สุด
- ถุงยางอนามัยที่ทําจากลาเท็กซ์ หรือโพลียูริเทน มีคุณสมบัติปกป้องได้เหนือกว่าถุงยางจากธรรมชาติที่ทําจากหนังแกะซึ่งจะมีรูขนาดใหญ่กว่า เชื้อโรคบางชนิดสามารถผ่านได้
- ต้องสวมถุงยางคลุมอวัยวะเพศชายทั้งลํา และสวมตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ไปจนสิ้นสุดกระบวนการ
- สวมถุงยางอนามัยชิ้นใหม่ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลังจากเสร็จกิจแล้ว ถอดถุงยางอนามัยออกอย่างระมัดระวัง อย่าให้รั่ว หรือแตก หากใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจํา โอกาสผิดพลาดจะน้อย
- ห้ามใช้น้ำมัน หรือวาสลีน เพราะจะทําให้ถุงยางอนามัยอ่อนตัวลงและแตกง่าย ควรใช้เป็นสารหล่อลื่นแบบน้ำแทน
- เก็บรักษาถุงยางอนามัยใหม่ในที่เย็นและแห้ง นั่นหมายความว่า ถุงยางอนามัยเก่าเก็บที่พกในกระเป๋าสตางค์ของคุณนานเป็นปีๆ นั้นอาจเสื่อมสภาพไปแล้ว
คำถามเกี่ยวกับถุงยางอนามัยที่คนอยากรู้มากที่สุด
1. ถุงยางอนามัยประเภทไหนดีที่สุด
คำตอบ: ปัจจุบันถุงยางอนามัยบางชนิด มียาทำลายสเปิร์ม (spermicide) จำพวกโนน็อกซินอล (Nonoxynol) เคลือบอยู่ ซึ่งช่วยในการคุมกำเนิดได้ดี แต่ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่า ช่วยลดการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือไวรัสเอดส์ได้ดีกว่าถุงยางที่ไม่มีสารเคลือบทำลายสเปิร์ม
นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีการระคายเคืองอวัยวะเพศได้ซึ่งอาจทำให้เพิ่มโอกาสการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และไวรัสเอดส์เพิ่มขึ้นด้วย
2. ออรัลเซ็กส์ต้องใช้ถุงยางหรือไม่
คำตอบ: ทุกช่องทางในการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นควรใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าจะมีการติดเชื้อตามมาหรือไม่
3. สามารถนำถุงยางอนามัยมาใช้ซ้ำได้หรือไม่
คำตอบ: ถุงยางอนามัยของทั้งชายและหญิงไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ นั่นหมายความว่า ถุงยางแต่ละชิ้นจะใช้ได้แค่ครั้งเดียว (ผู้หญิงหลายคนเชื่อว่า ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงสามารถล้างและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ซึ่งไม่เป็นความจริง และไม่แนะนำให้ทำอย่างเด็ดขาด)
หลังจากใช้ถุงยางอนามัยแล้ว คุณควรห่อด้วยกระดาษชำระ (เนื่องจากสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ) และทิ้งลงถังขยะ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ควรทิ้งถุงยางอนาัยลงในโถชักโครกเพราะอาจทำให้ท่อตันได้ เมื่อยางแช่อยู่ในน้ำ (เช่น ในโถชักโครก) มันจะไม่ได้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และหากหลุดรอดไปที่กระบวนการบำบัดน้ำเสีย ถุงยางใช้แล้วก็อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำใช้ของเราทุกคนได้
ส่วนใหญ่ถุงยางอนามัยที่ผลิตจากยาง และผิวหนังของแกะจะสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หากถุงยางอนามัยเคลือบด้วยสารหล่อลื่น หรือยาฆ่าอสุจิ กระบวนการย่อยสลายอาจซับซ้อน และใช้เวลากว่านั้น
4. ใครควรใช้ถุงยางอนามัย
คำตอบ: ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด และผู้ที่ต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้ง
ถุงยางอนามัย หากใช้อย่างถูกวิธีจะสามารถคุมกำเนิด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกชนิด ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำจึงควรตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกปี
บทความสนับสนุนโดย Durex, ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD