ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ลดหิว ลดกินจุกจิก

อยากลดน้ำหนักแต่กินไม่หยุดสักที ควบคุมตัวเองก็ไม่เคยอยู่ อิ่มได้ไม่นานก็กลับมาหิวอีก แม้ปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้หลายวิธี เช่น เปลี่ยนไปกินอาหารที่ให้พลังงานต่ำ ดื่มน้ำบ่อยๆ กินอาหารถี่ขึ้นแต่ในปริมาณที่น้อยลง

แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังไม่อาจควบคุมวินัยในการกะเกณฑ์ปริมาณสารอาหารเข้าร่างกายได้ตลอดเวลา จนต้องพึ่งพาศาสตร์การแพทย์หรือการเสริมความงาม เช่น ดูดไขมัน กระชับสัดส่วน หรือใช้ปากกาลดน้ำหนักเข้ามาเป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักหรือสัดส่วนของตนเอง

ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารคืออะไร?

การใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร (Gastric balloon) คือ การใส่บอลลูนทรงกลมที่ทำจากวัสดุซิลิโคนพร้อมบรรจุน้ำเกลือหรือแก๊สอยู่ภายในเข้าไปในกระเพาะอาหาร เพื่อลดขนาดพื้นที่ว่างภายในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ผู้ที่ใส่บอลลูนรู้สึกอิ่มท้องได้ง่ายขึ้น และอยากกินอาหารน้อยลงจากพื้นที่ภายในกระเพาะอาหารที่น้อยลงกว่าก่อนใส่บอลลูน ช่วยเร่งให้กระบวนการคุมหรือลดน้ำหนักเห็นผลได้ง่ายขึ้น

บอลลูนในกระเพาะอาหารอยู่ได้นานแค่ไหน?

บอลลูนที่ใส่ในกระเพาะอาหารมีอายุอยู่ได้ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี โดยหลังจากใส่บอลลูนเข้าไปแล้ว ในช่วงใกล้ครบกำหนดนำบอลลูนออก แพทย์จะนัดหมายให้ผู้เข้ารับบริการกลับเข้ามาส่องกล้องเพื่อนำบอลลูนลูกเดิมออก โดยจะเป็นการดูดสารน้ำที่อยู่ในบอลลูนออกก่อน จากนั้นแพทย์จะดูดนำบอลลูนที่แฟบไปแล้วออกมาจากกระเพาะอาหาร

อย่างไรก็ตาม การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารสามารถใส่เข้า ถอดออก และใส่เข้าไปใหม่ได้ หากผู้เข้ารับบริการมีความประสงค์อยากจะใส่บอลลูนลูกใหม่เข้าไปแทนบอลลูนลูกเดิม ก็สามารถแจ้งแพทย์ได้ล่วงหน้าเช่นกัน

ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารเหมาะกับใคร?

กลุ่มหลักของผู้ที่เหมาะต่อการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร มีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีภาวะอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI เกินกว่า 30-40
  • ผู้ที่พยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ มาแล้วแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

หากมีเงื่อนไขเหล่านี้ หรือเงื่อนไขอื่นใดที่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก แพทย์จึงจะพิจารณาให้ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารไม่เหมาะกับใคร?

การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารไม่ใช่วิธีลดน้ำหนักที่ทำได้ในทุกคนเสมอไป เนื่องจากเป็นการลดน้ำหนักด้วยการใส่วัตถุบางอย่างเข้าร่างกาย และอาจมีการวางยาชาและยานอนหลับ ดังนั้นผู้ไม่ได้มีเงื่อนไขสุขภาพที่ต้องลดน้ำหนัก แพทย์อาจไม่แนะนำให้ลดน้ำหนักด้วยวิธีใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร เนื่องจากอาจกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

โดยตัวอย่างผู้ที่อาจไม่เหมาะกับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร อาจมีดังนี้

  • สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่วางแผนจะมีบุตรในอนาคต
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด การแข็งตัวของเลือด ปอดติดเชื้อ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ต้องปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจใส่บอลลูน
  • ผู้ที่แพ้ซิลิโคนหรือยางพารา
  • ผู้ที่มีรูปร่างสมส่วนอยู่แล้ว

ประโยชน์ของการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารมีประโยชน์ในการช่วยลดอาการอยากอาหารแบบเร่งรัด หลังจากใส่บอลลูนก็จะรู้สึกอิ่มท้องได้ง่ายขึ้น จึงเป็นอีกทางลัดในการลดน้ำหนักให้กับผู้ที่ควบคุมพฤติกรรมการกินของตัวเองไม่ค่อยได้ หรือพยายามลดน้ำหนักมาหลายวิธีแล้วแต่ก็ยังไม่เห็นผล จึงอยากได้ตัวช่วยอื่นที่จะทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลมากขึ้น

ผลลัพธ์ของการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

  • ทำให้หิวน้อยลงและรู้สึกอิ่มท้องได้ยาวนานขึ้น
  • ทำให้การลดน้ำหนักหรือคุมน้ำหนักเห็นผลได้ง่ายขึ้น
  • ดัชนีมวลกายมีแนวโน้มจะลดลงประมาณ 10-30% จากดัชนีมวลกายเดิม

การเตรียมตัวก่อนใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารอาจต้องมีการใช้ยาชา หรือยานอนหลับร่วมด้วย ทำให้ต้องเตรียมตัวก่อนรับบริการเพื่อลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ดังนี้

  • ผู้เข้ารับบริการต้องตรวจสุขภาพกับแพทย์อย่างละเอียดเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายพร้อมต่อการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร
  • ต้องแจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดก่อนเข้ารับการการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร เพราะอาจต้องมีการงดยาบางชนิดล่วงหน้าก่อนรับบริการ
  • แพทย์จะสั่งจ่ายยาลดกรดไหลย้อนและยาแก้คลื่นไส้ให้ล่วงหน้าก่อนรับบริการ ต้องกินให้ครบทุกเม็ดและทุกมื้อตามที่แพทย์สั่ง
  • งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-12 ชั่วโมงก่อนรับบริการ
  • งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดอาหารหมักดองล่วงหน้าก่อนรับบริการ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

ขั้นตอนการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารจะเป็นการใช้เทคนิคส่องกล้องผ่านทางหลอดอาหาร ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น ไม่มีแผลหลังรับบริการ และใช้เวลาฟื้นตัวไม่นาน

  1. กระบวนการเริ่มต้นจากผู้เข้ารับบริการรับยาชาแบบพ่นหรือแบบอมบริเวณลำคอ แพทย์อาจมีการจ่ายยานอนหลับแบบอ่อนๆ ร่วมด้วย เพื่อลดความวิตกกังวลระหว่างรับบริการ
  2. หลังจากนั้นแพทย์จะใส่อุปกรณ์ช่วยการอ้าปาก เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการสามารถอ้าปากให้แพทย์สอดลำกล้องขนาดเล็กเข้าไปในลำคอได้อย่างสะดวก
  3. จากนั้นแพทย์สอดลำกล้องลงไปเพื่อให้เห็นภาพในกระเพาะอาหาร แล้วสอดบอลลูนเปล่าๆ ตามลงไปในกระเพาะอาหาร
  4. เมื่อวางบอลลูนในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว แพทย์จะเติมสารน้ำเกลือผสมกับสารเมทิลีน บลู (Methylene Blue) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีฟ้าลงไป ในบางสถานพยาบาลอาจเป็นการเติมแก๊สเข้าไปเพื่อให้บอลลูนพองตัวอย่างเต็มที่
  5. แพทย์จะนำอุปกรณ์ส่องกล้องและอุปกรณ์นำบอลลูนออกมาทางช่องปาก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่างๆ อาจมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสถานที่ให้บริการ ควรปรึกษาแพทย์ให้เข้าใจก่อนตัดสินใจ

การดูแลตัวเองหลังใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

  • ผู้เข้ารับบริการอาจต้องนอนรอดูอาการที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน
  • หากรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง แน่นท้องมากๆ ให้แจ้งทางเจ้าหน้าที่พยาบาลทันที
  • กินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายในช่วง 1 สัปดาห์แรกก่อน เพื่อปรับการดูดซึมอาหารในกระเพาะอาหารที่มีพื้นที่น้อยลง ในบางสถานพยาบาลอาจมีนักโภชนาการคอยดูแลหรือปรับตารางการกินให้ผู้เข้ารับบริการด้วย
  • หลังจากหมดช่วงพักฟื้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ทันที และเพื่อให้ช่วง 6 เดือนที่มีบอลลูนอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นการลดน้ำหนักที่คุ้มค่าที่สุด ผู้เข้ารับบริการควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อให้การคุมหรือลดน้ำหนักเห็นผลได้มากขึ้น เช่น กินอาหารไขมันต่ำ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย
  • การออกกำลังกายสามารถทำได้อย่างอิสระ ยกเว้นการออกกำลังกายที่ต้องโหมแรงหนักๆ และเกิดแรงดันมากๆ เช่น การดำน้ำ ชกมวย การยกน้ำหนัก ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์เสียก่อนเริ่มต้นทำกิจกรรม เพื่อความปลอดภัยและไม่ส่งผลข้างเคียงต่อบอลลูน
  • สามารถขึ้นเครื่องบินได้ตามปกติ

ผลข้างเคียงของการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

หลังจากใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารในช่วง 1 สัปดาห์แรก ผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกไม่ชินหรือไม่สบายท้องได้บ้าง แต่หลังจากนั้นก็จะปรับตัวเข้ากับบอลลูนที่อยู่ในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น

ขณะใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารกินอะไรได้บ้าง?

ผู้เข้ารับบริการสามารถกินอาหารได้ทุกประเภทโดยไม่มีข้อห้าม แต่ก็ควรคำนึงถึงผลที่จะตามมาในการกินอาหารที่มากเกินจำเป็น หรือกินแต่อาหารที่มีไขมันสูงซึ่งจะสร้างโอกาสที่น้ำหนักตัวจะเพิ่มมากขึ้นอีก ถึงแม้จะมีบอลลูนเป็นตัวช่วยก็ตาม และทำให้การลดน้ำหนักไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง

หลังถอดบอลลูนในกระเพาะอาหารแล้วจะอ้วนไหม?

การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารไม่ใช่การปรับขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง แต่เป็นการใส่วัตถุเข้าไปลดพื้นที่ภายในกระเพาะอาหารแบบชั่วคราวเท่านั้น

ดังนั้นหากถอดบอลลูนออกแล้ว และไม่ได้มีการใส่บอลลูนลูกใหม่เข้าไปแทน กระเพาะอาหารก็จะกลับมามีขนาดพื้นที่ดังเดิม หากผู้เข้ารับบริการยังคงไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ให้อำนวยต่อการลดน้ำหนัก โอกาสที่จะกลับมาเกิดภาวะอ้วนอีกครั้งจึงยังคงมีอยู่เหมือนเดิม

การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารเป็นตัวช่วยที่สร้างทางลัดในการลดน้ำหนักให้ง่ายขึ้นก็จริง แต่ก็ยังต้องอาศัยวินัยในการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่มีประโยชน์ งดกินจุกจิก ดื่มน้ำให้มากๆ หมั่นออกกำลังกายให้เพียงพอ

หากคุณยังรู้สึกว่า การใส่บอลลูนยังไม่สามารถนำพาให้คุณลดน้ำหนักได้สำเร็จ คุณอาจลองเข้าปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องการลดน้ำหนัก เช่น นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร นักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อรับคำแนะนำในการลดน้ำหนักที่เหมาะกับตัวคุณและเห็นผลลัพธ์ได้ดี


เช็กราคาแพ็กเกจลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย

Scroll to Top