รูปแบบการใช้ชีวิตของหลายคนในปัจจุบัน ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ยืนท่าเดิมนานๆ ทำให้เกิดอาการปวดตามจุดต่างๆ ได้ง่าย บางกรณีหากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่แก้ไข อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด
การทำกายภาพบำบัด จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกการรักษาเบื้องต้นที่หลายคนสนใจมากขึ้น หรือแม้แต่ผู้ที่ผ่านการผ่าตัด ก็อาจต้องรับการทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วยเพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
HDmall ได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัด ตอบโดย กภ. สมิตา ชีพสุวรรณ นักกายภาพบำบัดประจำดวงกมลคลินิก กายภาพบำบัดและการแพทย์แผนจีน มาให้แล้วกว่า 10 ข้อ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการ กายภาพบำบัด
แพทย์กับนักกายภาพบำบัดต่างกันอย่างไร?
ถ้าเรามีอาการปวด หรืออาการผิดปกติแล้วไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะตรวจตามแบบแพทย์แผนปัจจุบัน และประเมินอาการว่าควรทำกายภาพบำบัดไหม ในทางกลับกัน หากเรามีอาการปวดแล้ว Walk-in เข้าคลินิกกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะดูระบบกระดูก กล้ามเนื้อ การบาดเจ็บ โครงสร้างต่างๆ เราจึงสามารถแจ้งอาการตามที่รู้สึกได้เลย เช่น ตำแหน่งที่ปวดเมื่อย แต่ในกรณีที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น เส้นเลือดสมองตีบ ควรแนบประวัติการรักษามาด้วย เพราะบางกรณีแพทย์และนักกายภาพบำบัดอาจต้องทำงานร่วมกัน
เครื่องมือกายภาพบำบัดแต่ละแบบ ใช้กับอาการแบบไหนบ้าง?
การใช้เครื่องมือแต่ละแบบขึ้นอยู่กับระดับความปวด และความลึกของกล้ามเนื้อที่ผู้รับบริการมีอาการ เช่น หากบริเวณที่ปวดไม่ลึกมาก และไม่ได้ปวดมาก ก็อาจใช้อัลตราซาวด์ หรือช็อคเวฟ (Shock wave) หากรู้สึกตึงๆ เมื่อยๆ ก็อาจมีการใช้กระแสไฟฟ้าช่วยคลายกล้ามเนื้อ ส่วนเลเซอร์จะใช้กับอาการบาดเจ็บ ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ รวมถึงใช้กับคนที่มีแผลได้ด้วยในบางกรณี
ทำกายภาพบำบัดตั้งแต่ยังไม่มีอาการเลยได้ไหม?
ได้ หากรู้ตัวว่าตนเองมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่ออาการปวดเมื่อย หรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ยืนนานๆ รวมถึงเด็กที่นั่งโต๊ะเรียนเป็นเวลานาน ก็สามารถมาพบนักกายภาพบำบัดได้โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ นักกายภาพบำบัดจะช่วยตรวจประเมินปัญหาของผู้รับบริการ และให้คำแนะนำ หรือให้การรักษาเบื้องต้นได้ก่อน
กายภาพบำบัดโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาตครึ่งซีก ต้องทำนานแค่ไหน ตลอดชีวิตเลยไหม?
เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องประเมินกันเป็นกรณีไป เพราะโดยปกติสมองของเราจะแบ่งการทำงานออกเป็นหลายส่วน เช่น ส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา การเดิน การหายใจ การทรงตัว ฯลฯ หากเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก จะต้องพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อทำการรักษาและทำ CT Scan เพื่อดูว่าสมองส่วนไหนที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นแพทย์จะให้คำแนะนำว่าควรทำกายภาพบำบัดหรือไม่ ตำแหน่งใด เช่น สมองส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็นส่วนที่ทำให้แขนอ่อนแรง แต่ขายังพอมีแรง นักกายภาพบำบัดจะวางแผนกายภาพเพื่อฟื้นกำลังกล้ามเนื้อแขน ส่วนระยะเวลา และผลลัพธ์ของการรักษาจะแตกต่างกันออกไปตามอาการของแต่ละคน สิ่งที่แนะนำได้คือหากเกิดกรณีเช่นนี้ ควรขอข้อมูลจากแพทย์ว่าเส้นเลือดสมองแตกนี้จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนไหนบ้าง หากต้องทำกายภาพบำบัดในอนาคตจะได้มีข้อมูลที่เหมาะสม
สิ่งที่ควรแจ้งให้นักกายภาพบำบัดทราบก่อนรับบริการ มีอะไรบ้าง?
ควรแจ้งนักกายภาพบำบัดหากอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ มีโรคประจำตัว หรือใส่อุปกรณ์เสริมในร่างกาย เช่น อุปกรณ์เหล็ก เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เพราะการทำกายภาพบำบัดอาจส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์เสริม และโรคประจำตัวได้ การทำกายภาพบำบัดด้วยการนวดคลึงอาจทำให้ความดันสูงขึ้น และอาจเป็นอันตรายกับโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวใจได้หากไม่ระมัดระวัง เพราะเหตุนี้ก่อนทำกายภาพบำบัดจึงมักวัดความดันก่อนเสมอ หรือหากเป็นเบาหวานที่มีผลข้างเคียงด้านการรับรู้ความรู้สึกลดลง (Loss sensation) อาจได้รับผลกระทบจากการประคบร้อนโดยไม่รู้ตัว หากใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ นักกายภาพบำบัดจะหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกระแสไฟฟ้า หรือหากใส่อุปกรณ์ที่เป็นเหล็กในร่างกาย นักกายภายบำบัดจะหลีกเลี่ยงการใช้อัลตราซาวด์ในบริเวณที่ใส่เหล็ก เพราะเหล็กจะเหนี่ยวนำความร้อนได้ง่าย แม้กระทั่งผู้ที่มีผิวระคายเคืองง่าย มีผด ผื่น นักกายภาพบำบัดก็อาจเลี่ยงการใช้อัลตราซาวด์ด้วย
กายภาพบำบัดเกี่ยวข้องกับการนอนหลับไหม?
ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการนอนไม่หลับด้วย หากอาการนอนไม่หลับเกิดจากอาการปวดรบกวน นักกายภาพบำบัดสามารถให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้ เช่น ฝังเข็มเพื่อการนอนหลับ แต่หากอาการนอนไม่หลับเกิดจากสภาวะอารมณ์ เช่น ความเครียด วิตกกังวล หรือเป็นโรคนอนกรน ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน
เด็กควรมากายภาพบำบัดไหม?
โดยปกติ แพทย์ผู้ดูแลมักจะนัดตรวจพัฒนาการของเด็กแรกเกิดที่โรงพยาบาลเป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งนี้หากพ่อกับแม่สังเกตว่าพัฒนาการของเด็กไม่เป็นไปตามวัย หรือเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น สมองพิการ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาต่อไป
กายภาพบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า การดึงคอ ดึงหลัง เจ็บไหม?
กรณีดึงคอ หรือดึงหลังด้วยอุปกรณ์ประเภท Traction จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่จะรู้สึกตึงๆ มากกว่า เพราะการดึงด้วยอุปกรณ์ Traction มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อต่อแยกออกจากกัน และยืดกล้ามเนื้อ ส่วนการช็อตไฟฟ้านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคน หากใช้เพื่อคลายกล้ามเนื้ออาจรู้สึกว่ากล้ามเนื้อเกร็งตัว แต่หากใช้เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อในคนที่ได้รับการบาดเจ็บจนเส้นประสาทบริเวณนั้นขาดไปแล้ว อาจรู้สึกเจ็บได้
อยากได้นักกายภาพบำบัดเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย สามารถเลือกได้ไหม?
เลือกได้ สมัยนี้คลินิกกายภาพบำบัดมีนักกายภาพบำบัดหลายคนทั้งผู้ชายผู้หญิง สามารถปรึกษาก่อนรับบริการได้
คนอ้วน มีไขมันเยอะ จะกระทบต่อการทำกายภาพบำบัดไหม?
มีผลกระทบเล็กน้อย เพราะหากมีไขมันหนา นักกายภาพบำบัดอาจต้องใช้แรงเยอะขึ้น ผู้รับบริการที่มีไขมันเยอะก็อาจเจ็บมากกว่าคนผอมเนื่องจากแรงเสียดสีระหว่างรับบริการ แต่ผลการรักษานั้นไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่ใช้ทำกายภาพบำบัดบางชนิด เช่น เครื่องไมโครเวฟ (Microwave) ก็จะมีหัวปล่อยคลื่นสำหรับจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ช่วยให้นักกายภาพบำบัดปล่อยคลื่นเข้าไปในตำแหน่งที่ต้องการ รวมถึงผ่านชั้นไขมันได้ ผู้ที่มีไขมันมากจึงไม่ได้รับผลกระทบต่อการทำกายภาพบำบัดมากนัก
ทำกายภาพบำบัด ราคาเท่าไร?
การทำกายภาพบำบัดสามารถแยกออกได้เป็นหลายจุดประสงค์การรักษา โดยในแต่ละจุดประสงค์ก็อาจมีการใช้เครื่องมือต่างกันออกไป ราคาคร่าวๆ ของแต่ละประเภท อาจมีดังนี้
- กายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวด ราคาอยู่ที่ประมาณ 750-2,000 บาท
- กายภาพบำบัดฟื้นฟูโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ราคาอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,800 บาท
- กายภาพบำบัดบรรเทากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ราคาอยู่ที่ประมาณ 600-2,500 บาท
- กายภาพบำบัดสำหรับผู้บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ราคาอยู่ที่ประมาณ 1,200-2,600 บาท
อย่างไรก็ตาม ราคาข้างต้นเป็นราคาประมาณคร่าวๆ ต่อครั้ง อาจมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยูู่กับแต่ละสถานที่ให้บริการ หรือเหมาจ่ายเป็นคอร์ส