ความรู้สึกซึมเศร้า หรือมีอารมณ์แปรปรวน เป็นผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด อีกทั้งเคยมีความกังวลกันว่ายาต้านซึมเศร้าบางชนิดอาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ จึงทำให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคอารมณ์ซึมเศร้า โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ยาร่วมด้วยในการบำบัดอาการ เกิดความกังวลว่าควรเลือกใช้วิธีใดในการคุมกำเนิด
เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการเลือกวิธีคุมกำเนิด (Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use) ฉบับปรับปรุงปี 2017 ที่เผยแพร่โดยกองควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกวิธีคุมกำเนิดสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคอาการซึมเศร้า ดังนี้ค่ะ
ประเภท | ห่วงอนามัย
ชนิดหุ้ม ทองแดง (Cu-IUD) |
ห่วงอนามัย
ชนิดเคลือบ ฮอร์โมน (LNG-IUD) |
ยาฝัง
คุมกำเนิด (Implant) |
ยาฉีด
คุมกำเนิด ชนิด 3 เดือน (DMPA) |
ยาเม็ด
สูตรฮอร์โมน โปรเจสติน (POP) |
ยาคุมฮอร์โมน
รวมทุกชนิด (CHC) |
กลุ่มโรคอารมณ์ซึมเศร้า
(Depressive disorder) |
1* | 1* | 1* | 1* | 1* | 1* |
หมายเหตุ : ความหมายของการแบ่งประเภทการใช้
ประเภท | นิยาม | ข้อสรุป |
U.S. MEC 1 | ไม่มีข้อจำกัด (สามารถใช้วิธีนี้ได้) | ใช้ได้ ไม่มีข้อจำกัด |
U.S. MEC 2 | มีความเสี่ยงในทางทฤษฎี หรือผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีความเสี่ยง แต่โดยทั่วไป ถือว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีเหนือกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น | ใช้ได้ แต่ควรมีการ
ตรวจติดตามผล |
U.S. MEC 3 | มีความเสี่ยงในทางทฤษฎี หรือผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีความเสี่ยง และไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ | ควรหลีกเลี่ยงการใช้
เว้นแต่ไม่มีทางเลือกอื่น |
U.S. MEC 4 | มีความเสี่ยงต่อสุขภาพซึ่งยอมรับไม่ได้ (ใช้วิธีนี้ไม่ได้) | ห้ามใช้โดยเด็ดขาด |
จากตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคอาการซึมเศร้าในการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ เนื่องจากเมื่อติดตามการใช้ยาคุมในผู้ป่วย และผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิด ก็ไม่พบหลักฐานที่เชื่อมโยงได้ว่ายาคุมทำให้อาการของโรคซึมเศร้าเลวร้ายลง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคอาการซึมเศร้าที่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา จะต้องพิจารณาต่ออีกว่ายาที่ใช้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยหรือไม่ ซึ่งมีข้อแนะนำ ดังนี้ค่ะ
ประเภท | ห่วงอนามัย
ชนิดหุ้ม ทองแดง (Cu-IUD) |
ห่วงอนามัย
ชนิดเคลือบ ฮอร์โมน (LNG-IUD) |
ยาฝัง
คุมกำเนิด (Implant) |
ยาฉีด
คุมกำเนิด ชนิด 3 เดือน (DMPA) |
ยาเม็ด
สูตรฮอร์โมน โปรเจสติน (POP) |
ยาคุมฮอร์โมน
รวมทุกชนิด (CHC) |
ใช้ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 |
ใช้สมุนไพร St. John’s wort | 1 | 1 | 2 | 1 | 2 | 2 |
ในทางทฤษฎี การใช้ยาต้านซึมเศร้าบางตัวร่วมกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม อาจส่งผลกระทบต่อกัน เช่น ลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด หรือเพิ่มผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด หรือในทางตรงข้าม อาจทำให้ระดับต้านซึมเศร้าตัวนั้นเพิ่มสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดเจนว่าจะเกิดปัญหาขึ้นจริงตามนั้น
และแม้จะมีข้อมูลไม่มาก แต่เท่าที่มีการศึกษาทางคลินิกหรือทางเภสัชจลนศาสตร์ ก็ไม่พบว่าการใช้ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) เช่น Fluoxetine, Fluvoxamine, Citalopram, Escitalopram, Sertraline, Paroxetine จะมีผลลดประสิทธิภาพของวิธีคุมกำเนิดที่ใช้ร่วมกัน อีกทั้งไม่พบความแตกต่างของประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการรักษา เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ใช้ยาต้านซึมเศร้าแต่ไม่ได้คุมกำเนิดใด ๆ
ส่วนสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต พบว่าอาจลดประสิทธิภาพของยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม, ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยว และยาฝังคุมกำเนิดได้ ซึ่งเสี่ยงต่อการมีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือมีไข่ตกและเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูงขึ้น จึงควรมีการตรวจติดตามผลหากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันนะคะ