มะเร็งปากมดลูก รู้ตัวก่อน รักษาหายได้

มะเร็งปากมดลูก” เป็นความผิดปกติของเซลล์ที่เกิดขึ้นบริเวณปากมดลูก ส่วนใหญ่ในระยะเริ่มแรกจะไม่ค่อยมีอาการ หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หากท่านมีอาการหรือสัญญาณเตือนที่อาจจะเกิดจากโรคมะเร็งปากมดลูก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่มีความผิดปกติ และป้องกันไม่ให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม

มะเร็งปากมดลูกคืออะไร?

มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) คือ การเกิดเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก ที่อยู่ภายในสุดของช่องคลอด ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างช่องคลอดกับมดลูก และเป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือน โดยมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในบริเวณอวัยวะเพศของทั้งหญิงและชาย โดยจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ HPV เป็นครั้งแรก ระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัส แต่ถ้าภูมิคุ้มกันมีความบกพร่องไม่สามารถกำจัดเชื้อ HPV ได้หมด ก็อาจทำให้เซลล์ที่บริเวณปากมดลูกเกิดความผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด คนที่ติดเชื้อ HPV จะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ทำให้ไม่มีทางรู้เลยว่าติดเชื้อถ้าไม่เข้ารับการตรวจ ผลที่ตามมาก็คือ มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อ HPV จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้

มะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ?

แพทย์จะแบ่งความรุนแรงของมะเร็งปากมดลูกออกตามขนาดของมะเร็งและการแพร่กระจายของโรค ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะต้น เซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะในบริเวณปากมดลูก
  • ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามไปบริเวณโดยรอบปากมดลูก เช่น ช่องคลอดส่วนบน เนื้อเยื่อที่อยู่ติดกับปากมดลูก
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่ไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น ช่องคลอดส่วนล่าง ต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อภายในอุ้งเชิงกราน หรือไปกดทับท่อไต ทำให้เกิดการอุดตันของระบบปัสสาวะ
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะสุดท้าย เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือมีการแพร่กระจายของโรค ออกนอกอุ้งเชิงกรานไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ตับ ปอด กระดูก เป็นต้น

มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร?

มะเร็งปากมดลูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) หากได้รับเชื้อเอชพีวี ร่างกายอาจไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ทั้งหมด และเชื้อที่หลงเหลืออยู่บางส่วนอาจทำให้เซลล์บริเวณปากมดลูกเกิดการกลายพันธุ์ จนนำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุดได้
  • การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ แต่แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็อาจไม่ได้พัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งเสมอไป หรือในบางกรณีหากพัฒนาไปเป็นมะเร็งก็มักใช้เวลานานหลายปี
  • ภูมิคุ้มกันต่ำหรือภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง ทำให้ร่างกายต้านทานต่อเชื้อโรคและสารก่อมะเร็งได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเกิดจากผลข้างเคียงของโรคต่างๆ หรือการใช้ยากลุ่มกดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ผู้ป่วยภูมิแพ้ ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอดส์ เป็นต้น
  • สารเคมีในบุหรี่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ปากมดลูก
  • ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ เช่น โรคติดเชื้อคลามีเดีย (Chlamydia) โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) โรคซิฟิลิส (Syphilis) ซึ่งมีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้

อาการของมะเร็งปากมดลูก

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรกๆ แต่อาการจะมาปรากฏให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามไปแล้ว ดังนั้นหากมีอาการดังต่อไปนี้ จึงควรไปพบแพทย์ทันที

  • มีเลือดออกขณะหรือภายหลังมีเพศสัมพันธ์ และปวดในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกกะปริบกะปรอยคล้ายประจำเดือนนานหลายวัน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจําเดือน (วัยทอง)
  • มีตกขาวหรือตกเหลืองมาก กลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย
  • เบื่ออาหาร ซูบซีด ผอม และอ่อนเพลีย
  • ช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ
  • มีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่และท้องผูก

การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก

แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูก ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเซลล์บริเวณปากมดลูก ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิดปกติหรือไม่ โดยแพทย์จะป้ายเซลล์จากปากมดลูกไปตรวจหาความผิดปกติ
  • การเก็บเซลล์จากปากมดลูกใส่ในของเหลว (Liquid-based cytology: LBC) ซึ่งนิยมเรียกกันตามยี่ห้อน้ำยาที่ใช้ตรวจว่า การตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (ThinPrep Pap Test) โดยจะเป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติ และให้ผลตรวจที่ชัดเจนมากกว่าการตรวจแปปสเมียร์ บางครั้งผลตรวจที่พบความผิดปกติของเซลล์ก็อาจไม่ใช่เซลล์มะเร็ง แพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยผลการตรวจอื่นๆ ร่วมด้วย
  • การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่เรียกว่า HPV Test หรือ HPV DNA เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV โดยการตรวจหา DNA ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก ถ้าพบว่าเป็น Positive แสดงว่าพบกลุ่มเชื้อที่ก่อมะเร็ง และ Negative หมายถึงไม่พบเชื้อที่ก่อมะเร็ง ซึ่งสามารถระบุกลุ่มของเชื้อและสายพันธุ์ได้ทันที และยังมีการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ โดยเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทางเลือกใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้เซลล์ที่ได้จากน้ำปัสสาวะเพื่อตรวจหา HPV DNA ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสตรีที่กลัวการขึ้นขาหยั่ง
  • การตรวจเนื้อเยื่อ (Biopsy) คือ การนำชิ้นเนื้อตรงบริเวณรอยต่อของเซลล์เยื่อบุผิวไปตรวจ หรือใช้เครื่องมือขูดช่องปากมดลูก เพื่อนำเซลล์ไปตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
  • การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย (Cone Biopsy) แพทย์จะทำการผ่าเอาชิ้นเนื้อจากปากช่องคลอด โดยที่ตัดชิ้นเนื้อออกมาเป็นรูปโคนหรือกรวยและในบางกรณี จะทำด้วยวิธี Loop Electrosurgical Excision Procedure (LEEP) คือ การใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะวงลวดไฟฟ้าขนาดเล็ก (Electrical Wire Loop) พร้อมกับการใช้กระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำในการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อส่งชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัยและรักษารอยโรคก่อนมะเร็ง
  • การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งระยะลุกลาม โดยแพทย์จะสอดกล้องคอลโปสโคปเข้าไปทางช่องคลอด แล้วชโลมสารละลายกรดอะเซติกหรือไอโอดีน ทำให้สามารถมองผ่านกล้องเห็นรอยโรคได้ชัดเจน และทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเซลล์ปากมดลูก ส่งไปตรวจเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการ
  • การสร้างภาพเหมือนจริง (Imaging Tests) เช่น การตรวจด้วยเอกซ์เรย์ (X-ray) การตรวจ CT Scan การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการใช้ PET Scan ที่จะช่วยระบุระดับการลุกลามของมะเร็งต่ออวัยวะส่วนอื่นๆ นอกจากนั้นในบางราย แพทย์อาจทำการตรวจดูภายในกระเพาะปัสสาวะและทวารหนักร่วมด้วย

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่เราสามารถป้องกันได้ โดยวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก สามารถทำได้ดังนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV รวมถึงหลีกเลี่ยงการ เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  • ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพลดลง เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ การตรวจสุขภาพและโปรแกรมคัดกรองมะเร็งทั่วไป อาจช่วยให้ทราบความเสี่ยงของมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หากตรวจพบไวก็จะรักษาได้ง่ายขึ้น
  • ฉีดวัคซีน HPV ปัจจุบันวัคซีน HPV สามารถป้องกันได้สูงสุด 9 สายพันธุ์ รวมสายพันธุ์ที่เสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกอย่าง สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกได้สูงสุด 70-90%
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ร่างกายที่ได้รับสารอาหารครบและถูกต้องตามหลักโภชนาการ จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงและระบบภูมิคุ้มกันก็จะแข็งแรงไปด้วย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที จะช่วยการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะร่างกายจะผลิตสารเมลาโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมน ที่สมองผลิตในระหว่างการนอนหลับสนิท และสารนี้มีคุณสมบัติในการต่อสู้กับมะเร็ง
  • ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด เพราะความเครียดจะไปกดภูมิคุ้มกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเครียด ระบบภูมิคุ้มกันก็จะอ่อนแอลง กลไกภายในร่างกายจะทำงานผิดปกติ จึงส่งผลทำให้ป่วยได้ง่าย
  • ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะหญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว

มะเร็งปากมดลูกรักษาได้ไหม?

ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคมะเร็งปากมดลูกมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับระยะของโรคและการวินิจฉัยของแพทย์ ดังนี้

1. การผ่าตัด (Surgery)

แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการผ่าตัดปากมดลูกแบบกว้าง (Radical Hysterectomy) โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดปากมดลูก มดลูก ส่วนบนของช่องคลอด รวมไปถึงเนื้อเยื่อด้านข้าง และเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน แต่หากมะเร็งปากมดลูกมีขนาดเล็กมากและเป็นระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยอาจจะได้รับการผ่าตัดเพียงปากมดลูกและมดลูก (Simple Hysterectomy) เท่านั้น ส่วนการผ่าตัดแบบการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยแบบกว้าง (Radical Trachelectomy) เนื้อเยื่อปากมดลูกและบริเวณใกล้เคียงที่เหนือช่องคลอดขึ้นไปจะถูกตัดออกไป โดยที่มดลูกยังคงอยู่เช่นเดิม เป็นการผ่าตัดผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ และเหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการมีบุตร เพราะแม้จะผ่าเอาปากมดลูกออกไป แต่ยังมีมดลูกจึงสามารถมีบุตรได้เช่นเดิม ซึ่งการผ่าตัดจะสามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะต้นให้หายได้

2. การใช้รังสีรักษา (Radiotherapy)

การฉายรังสีรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก มีอยู่ 2 แบบ ประกอบไปด้วย

  • การฉายรังสีภายนอก เป็นการใช้เครื่องฉายคลื่นรังสีพลังงานสูงไปยังบริเวณอุ้งเชิงกรานภายนอก เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งอาจจะแพร่กระจายออกไป
  • การให้รังสีภายใน เป็นการสอดโลหะกัมมันตภาพรังสีเข้าไปทางช่องคลอดและวางไว้บริเวณที่มีเซลล์มะเร็ง

ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดมดลูก หรือกรณีที่ผู้ป่วยอายุมากๆ แพทย์จะรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีใช้รังสีรักษา และอาจจะใช้เคมีบำบัดรักษาควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น ซึ่งการใช้รังสีรักษาเหมาะกับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะต้นจนถึงระยะที่ 3

3. การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการใช้ยารักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากมะเร็ง และป้องกันการลุกลามของเซลล์มะเร็ง ในรูปแบบยาเม็ดรับประทานหรือยาฉีด สามารถใช้ร่วมกับรังสีรักษาได้ และสามารถใช้ยารักษาเพียงชนิดเดียวหรือใช้ยาร่วมกันหลายชนิดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน

โดยผู้ป่วยที่รักษาด้วยเคมีบำบัดจะได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น การวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง อ่อนล้า หมดแรง ไม่อยากอาหาร ผมร่วง เสี่ยงต่อการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ง่าย หากไม่มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย หลังหยุดการรักษาระยะหนึ่ง อาการก็จะทุเลาลงและกลับมาเป็นปกติ ซึ่งเหมาะกับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2-3

4. การใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted-Drug Therapy)

ได้แก่ กลุ่มยา Monoclonal Antibodies ส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบของยาฉีด จะออกฤทธิ์โดยจับกับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวเซลล์แล้วจึงทำลายเซลล์มะเร็ง หรือทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวหรือเจริญเติบโตได้ และกลุ่มยา Small Molecules ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของยารับประทาน โดยยาจะมีโมเลกุลเล็ก สามารถผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มเซลล์ สามารถจับกับเป้าหมายทั้งที่อยู่ภายในเซลล์และบนผิวเซลล์ได้ ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์ของยาจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดนั้นๆ และแพทย์มักจะใช้การรักษารูปแบบนี้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งสามารถใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2-4 ตามการวินิจฉัยของแพทย์

5. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

ถูกนำมาใช้สำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูกในระยะเซลล์มะเร็งแพร่กระจาย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาประเภทอื่นๆ การรักษาแบบนี้จะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง และลดการทำงานของภูมิคุ้มกันบางส่วน

โรคมะเร็งปากมดลูก ยิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ โอกาสในการรักษาให้หายก็มีมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นหากมีความผิดปกติที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองและวางแผนดูแลรักษาสุขภาพ ป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอนาคต

Scroll to Top