ตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้หญิง

การตรวจคัดกรองมะเร็ง คือการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อวัยวะในร่างกายอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ก่อนที่จะแสดงอาการ ทำให้อัตราการรอดชีวิตสูง โอกาสหายขาดมีมากขึ้น

ทำไมผู้หญิงถึงควรตรวจคัดกรองมะเร็ง?

สถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า โรคมะเร็ง เป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มานานกว่า 20 ปี

นอกจากนี้ยังเผยอีกว่า ปีพ.ศ. 2561 มีผู้หญิงที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในระยะที่ 3-4 รวมกว่า 45% ซึ่งเป็นระยะที่รักษาได้ค่อนข้างยาก แต่ผู้หญิงที่ตรวจพบตั้งแต่ในระยะที่ 1 มีเพียง 11.1% เท่านั้น

แม้ผู้หญิงจะมีแนวโน้มใช้ชีวิตรักสุขภาพมากกว่าผู้ชาย แต่ก็มีปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ยาก เช่น ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงหลังหมดประจำเดือน ผู้ที่ไม่เคยมีบุตรทำให้รังไข่ตกไข่เกินไป การมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงมลภาวะต่างๆ ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งทุก 5 ปี ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป และหากอายุขึ้นเลข 4 ควรตรวจทุก 3 ปีเป็นอย่างน้อย

มะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง

สถาบันมะเร็งแห่งชาติเผย 5 อันดับมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิงในปี พ.ศ. 2561 ดังนี้

1. มะเร็งเต้านม (Breast cancer)

เกิดจากเซลล์บริเวณเต้านมเติบโตขึ้นผิดปกติจนเป็นเนื้อร้าย อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น สารปนเปื้อนจากอาหาร มลภาวะต่างๆ หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมาก่อน

2. มะเร็งปากมดลูก (Cervix cancer)

เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่มักมาจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 บริเวณปากมดลูก ทำให้อาจมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่นแปลก ปัสสาวะบ่อย และเจ็บเวลาปัสสาวะ

3. มะเร็งลำไส้ (Colon and rectum cancer)

เกิดจากเซลล์ที่ผนังลำไส้เติบโตขึ้นผิดปกติ สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว สาเหตุมะเร็งลำไส้ในผู้หญิงได้แก่ อายุที่มากขึ้น การใช้ชีวิต อาหารที่กิน รวมถึงสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

4. มะเร็งมดลูกหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Corpus uteri)

เกิดจากเซลล์บริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดปกติ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

5. มะเร็งปอด (Lung cancer)

เกิดจากเซลล์เติบโตผิดปกติที่ปอด มีปัจจัยเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ มลภาวะ และหากคในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งปอด ก็เพิ่มโอกาสเป็นได้เช่นกัน

ตรวจคัดกรองมะเร็งผู้หญิงมีขั้นตอนอย่างไร?

การตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้หญิงแบ่งได้หลักๆ ประมาณ 3 ขั้นตอน แต่รายละเอียดในการตรวจอาจแตกต่างกันไปตามตำแหน่งต่างๆ ที่ตรวจ

1. ซักประวัติ

การซักประวัติ จะเป็นการสอบถามพูดคุยในภาพกว้างเพื่อให้แพทย์มีข้อมูลประกอบคำวินิจฉัย คำถามอาจประกอบไปด้วย

  • อายุของผู้รับการตรวจ ด้วยอายุที่มากขึ้นมีโอกาสทำให้ความเสี่ยงของมะเร็งเพิ่มขึ้นไปด้วย
  • อาชีพของผู้รับการตรวจ เนื่องจากบางอาชีพอาจต้องทำงานใกล้กับสารเคมีบางชนิดที่เป็นปัจจัยของมะเร็ง
  • การใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว อาหารที่กินเป็นประจำ ยา หรืออาหารเสริมที่ใช้
  • ประวัติคนเป็นมะเร็งในครอบครัว ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งมาก่อน ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น

ดังนั้น ผู้รับการตรวจควรตอบคำถามความจริง เพราะหากปิดบัง อาจทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดพลาดได้

2. ตรวจคัดกรองทั่วไป

เมื่อซักประวัติแล้ว แพทย์จะใช้การตรวจที่ทำได้ง่ายก่อน เพื่อเป็นการหาสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น ในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม อาจมีการคลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ คลำเต้านมเพื่อหาก้อนแข็งผิดปกติ

หรือในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อาจใช้วิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) คือการเก็บตัวอย่างเยื่อบุผิวในช่องคลอดไปตรวจหาความผิดปกติในห้องปฎิบัติการ โดยการตรวจนี้ยังแยกย่อยไปได้อีก เช่น ตรวจแบบ ThinPrep จะเป็นการเก็บตัวอย่างเซลล์ในของเหลว จะช่วยให้เห็นเซลล์ที่ผิดปกติในระยะแรกเริ่มได้ดีกว่าการตรวจแปปสเมียร์ดั้งเดิมถึง 65%

3. ตรวจอย่างเฉพาะเจาะจง

หากการตรวจคัดกรองทั่วไปพบความผิดปกติ เช่น พบก้อนเนื้อ พบเซลล์ผิดปกติ อาจต้องอาศัยการตรวจที่เฉพาะเจาะจงขึ้น เพื่อให้ทราบว่าก้อนเนื้อที่พบ เป็นถุงน้ำ ซีสต์ หรือก้อนเนื้องอก

ตัวอย่างการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น การใช้อัลตราซาวด์เฉพาะจุด (Ultrasound) การใช้แมมโมแกรม (Mammogram) เพื่อให้อุปกรณ์ส่งคลื่นหรือรังสีสร้างภาพอวัยวะภายในขึ้นมา ช่วยให้เห็นความผิดปกติต่างๆ ได้ เช่น เนื้องอก ถุงน้ำ ซีสต์ หินปูน ฯลฯ

หรือในการตรวจมะเร็งปากมดลูก อาจใช้การส่องกล้อง (Colposcopy) ซึ่งเป็นกล้องที่มีกำลังขยายสูงดูความผิดปกติเพิ่มเติม

แต่ละวิธีตรวจมะเร็งจะมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะกับคุณมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกความผิดปกติที่พบจะเป็นมะเร็งเสมอไป แต่เป็นการช่วยให้สามารถระมัดระวังและดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้นจึงไม่ควรกลัวการตรวจคัดกรอมะเร็งมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เครียดและวิตกกังวลได้

ดังนั้นจึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนมองการตรวจคัดกรองมะเร็ง เป็นเหมือนเหมือนการตรวจสุขภาพประจำปี อย่าเพิ่งกังวลมากเกินไป เพราะมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลย


เปรียบเทียบราคาตรวจมะเร็งผู้หญิง


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top