นอกจากการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธี 3 นิ้วสัมผัสหรือแพทย์คลำให้แล้ว วิธีดิจิทัลแมมโมแกรมก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ใช้เสาะหาหรือยืนยันความผิดปกติในเต้านม ที่ใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยเพิ่มความแม่นยำให้มากขึ้นไปอีก
สารบัญ
การตรวจดิจิทัลแมมโมแกรม
การตรวจดิจิทัลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) เป็นการเอกซเรย์เต้านมที่ใช้รังสีชนิดพิเศษ (Low-dose X-ray) ที่ปริมาณต่ำกว่ารังสีจากการเอกซเรย์ทั่วไปหลายเท่า บันทึกภาพเต้านมด้านละ 2 รูป ซึ่งจะถ่ายรูปเต้านมจากด้านบนและด้านข้างโดยบีบเนื้อเต้านมเข้าหากัน
การบันทึกภาพแบบดิจิทัล เป็นการบันทึกลงในคอมพิวเตอร์ แพทย์สามารถเรียกดูภาพจากห้องตรวจได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที และเห็นลักษณะความเข้มที่ต่างกันของเนื้อเยื่อในเต้านมแต่ละชนิด รวมถึงจุดหินปูน ช่วยให้พบความผิดปกติของเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม
โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งการตรวจออกเป็น 2 แบบ คือ ตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการ เพื่อเฝ้าระวัง และตรวจในผู้ที่มีอาการ เช่น คลำเจอก้อนเนื้อที่เต้านม เจ็บเต้านม และมีของเหลวออกจากหัวนม การตรวจจะเป็นไปเพื่อวินิจฉัยโรค
ข้อดี
- ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที ลดเวลาลงจากการทำแมมโมแกรม เพราะไม่ต้องเปลี่ยนฟิล์ม
- ใช้รังสีปริมาณต่ำกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป ไม่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ
- ภาพที่ได้จากการถ่ายด้วยระบบดิจิทัลมีความคมชัด สามารถแยกความแตกต่างของไขมัน และเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของเต้านมได้ชัดเจน
เหมาะกับใคร?
การตรวจดิจิทัลแมมโมแกรมเหมาะสำหรับตรวจผู้ที่คลำเต้านมได้ลำบาก ผู้ที่ผ่านการเสริมหน้าอก และผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ดังนั้น ผู้ที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปจึงควรตรวจปีละครั้ง ส่วนผู้ที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละ 2 ครั้ง หากตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จะนัดตรวจเป็นประจำทุก 3–6 เดือน
วิธีเตรียมตัวก่อนทำดิจิทัลแมมโมแกรม
ก่อนรับการตรวจดิจิทัลแมมโมแกรม ควรเตรียมตัวดังนี้
- งดทาแป้ง โลชั่น และสเปรย์ใดๆ บริเวณเต้านมหรือรักแร้
- สวมใส่เสื้อผ้าตามที่โรงพยาบาลกำหนด มักเป็นเสื้อหลวมที่เปิดตรวจเต้านมได้สะดวก
- หากเคยเสริมหน้าอกหรือมีอาการใดๆ เกี่ยวกับเต้านม เช่น คลำเจอก้อน ควรแจ้งให้ทราบก่อนการตรวจ
- ควรตรวจกับสถานพยาบาลที่เคยมีประวัติ หรือหากเปลี่ยนที่ก็ควรนำประวัติจากที่เดิมมาด้วย เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์
ใครไม่ควรตรวจดิจิทัลแมมโมแกรม?
แม้วิธีนี้จะค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ไม่แนะนำให้คนกลุ่มนี้เข้ารับการตรวจ
- ผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงใกล้ประจำเดือนมา เพราะเต้านมจะมีอาการคัดตึงมากกว่าปกติ
- ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
ตรวจดิจิทัลแมมโมแกรม Vs ตรวจอัลตราซาวด์
การตรวจแมมโมแกรมและดิจิทัลแมมโมแกรม ต่างก็ใช้รังสีเพื่อสร้างภาพของเต้านม ต่างกันแค่การตรวจแมมโมแกรมเป็นการใช้ฟิล์ม ส่วนดิจิทัลแมมโมแกรมในโปรแกรมดิจิทัลที่ปรับปรุง ขยาย หรือปรับแต่งเพื่อประเมินเพิ่มเติมให้เห็นมุมมองมากขึ้น
ขณะที่การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งเข้าไปในเต้านม คลื่นเสียงจะสะท้อนกลับมาและแสดงให้เห็นว่าเนื้อเยื่อที่ตรวจพบผิดปกติหรือไม่ และสิ่งผิดปกติที่พบเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ แต่ไม่สามารถตรวจหาจุดหินปูนในเต้านมได้แบบวิธีแมมโมแกรมและดิจิทัลแมมโมแกรม
สถานพยาบาลหลายแห่งมักตรวจแมมโมแกรมร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อให้การวินิจฉัยชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น