ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ” เป็นภาวะที่เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งความผิดปกติของร่างกาย อายุที่เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งการที่ฮอร์โมนเพศต่ำลงจะส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิตอย่างมาก
หากคุณผู้ชายท่านใดรู้สึกว่า ช่วงนี้ตนเองมีอาการหงุดหงิดง่าย ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเดิม มีอาการอ่อนเพลียแม้ว่าจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว หรือมีความรู้สึกทางเพศลดลง นั่นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายก็ได้
สารบัญ
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย คืออะไร?
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย คือภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือมีระดับฮอรโมนเทสโทสเตอโรนลดลงอย่างเห็นได้ชัด มักพบได้ในเพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป
ผู้ที่เป็นภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายส่วนใหญ่นั้น มักไม่รู้ตัวว่ากำลังมีภาวะนี้อยู่ เพราะคิดว่า เป็นการเสื่อมสมรรถภาพทั่วไปที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายสามารถรักษาได้ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย สาเหตุเกิดจากอะไร?
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ เช่น ได้รับการบาดเจ็บ การทำหมัน หรือผลข้างเคียงจากการฉายรังสี หรือทำเคมีบำบัด
- การติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ
- ความผิดปกติทางด้านฮอร์โมน เช่น โรคหรือเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างฮอร์โมนเพศ
- โรคที่เกี่ยวกับระบบต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น โรคเอดส์ โรคตับ-ไตเรื้อรัง มีระดับไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคอ้วน
- มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำงานหนัก มีความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย?
ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการลดลงของฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่
- ผู้ที่ชอบรับประทานของทอด ของมัน หรือของหวาน
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีภาวะอ้วนลงพุง
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
- ผู้ที่มีความเครียดมาก ไม่สามารถจัดการความเครียดได้
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
อาการของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เป็นอย่างไร?
ภาวะพร่องฮอร์โมน มีลักษณะอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง และอาการที่เกิดขึ้นก็มีส่วนคล้ายกับโรค หรือความผิดปกตอื่นๆ ด้วย โดยอาการที่พบได้ในภาวะพร่องฮอร์โมน มีดังนี้
- สูญเสียพลังงาน อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง
- ความต้องการทางเพศลดลง
- ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน
- อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดง่าย ขาดความมั่นใจ หรือซึมเศร้า
- ง่วงนอนหลังมื้ออาหาร
- ขาดสมาธิในการทำงาน
- รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ตามตัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- อ้วนลงพุง หรือมีเส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว
- อวัยวะเพศชายยากที่จะแข็งตัว หรือแข็งตัวได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่า “นกเขาไม่ขัน”
- อัณฑะมีขนาดเล็กลงกว่าปกติ
- มีปริมาณน้ำอสุจิน้อยลง
- นอนไม่หลับ
- เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง
- มีมวลกล้ามเนื้อ และมวลกระดูกลดลง
- มีระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
จะรู้ได้อย่างไรว่า มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย?
หากคุณมีอาการในกลุ่มภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกาย หรือเข้ารับการตรวจสุขภาพด้วยโปรแกรมตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายโดยเฉพาะ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม
การตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายนั้น จะใช้วิธีการเจาะเลือดส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการณ์ ร่วมกับการซักประวัติสุขภาพ ทำแบบสอบถาม และตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจมีการอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากรวมด้ว ขึ้นอยู่กับรายการตรวจระดับฮอร์โมนของแต่ละโรงพยาบาล
หลังจากที่แพทย์ได้ข้อมูลครบแล้วจะนำมาประเมินภาวะสุขภาพ และวางแผนแนวทางการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ หรือในผู้ที่เกิดจากความผิดปกติอื่นๆ ก็จะส่งตรวจในขั้นตอนถัดไป ซึ่งจะช่วยให้ป้องกันการเกิดอันตรายได้อย่างทันท่วงที
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย รักษาอย่างไร?
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย สามารถรักษาได้ด้วยการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย มี 2 วิธีหลักๆ คือ
1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
เป็นการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย และเพิ่มปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างฮอร์โมนเพศชายได้ดีขึ้น มีรายละเอียดดังนี้
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมการรับประทานอาหารประเภทแป้งและไขมันให้เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวานและของทอด เน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ทำ 5 วัน ต่อสัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่น้อย หรือมากจนเกินไป
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- พยายามไม่เครียดจนเกินไป
2.รักษาด้วยยา หรือที่เรียกว่า “การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน”
เป็นการให้ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเสริมส่วนที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น การคงสภาวะกระดูก กล้ามเนื้อ อารมณ์ ความต้องการทางเพศ และสมรรถภาพทางเพศ
การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน มี 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
- ยารับประทาน
- ยาทาผิวหนัง เป็นลักษณะเจลใส บรรจุอยู่ในซอง ใช้ทาบนผิวหนังที่แห้งและสะอาด บริเวณหัวไหล่ ต้นแขน หรือหน้าท้อง
- การฉีดยา โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อของผู้เข้ารับการรักษา
แพทย์จะเป็นผู้เลือกรูปแบบการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยการรักษาด้วยยาจะต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย หรือภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านของการจัดการอารมณ์ความรู้สึก และสมรรถภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ
การเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีพลังและกระฉับกระเฉงมากขึ้น พร้อมที่จะทำกิจกรรมต่างๆ หรือใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุกๆ วัน