ขี้หู คือ สิ่งที่เยื่อบุช่องหูสร้างขึ้นเพื่อป้องกันเชื้อชา เชื้อแบคทีเรีย ขี้หูมีกลิ่นเฉพาะที่แมลง และสัตว์ต่างๆ ไม่ชอบ จึงช่วยป้องกันสัตว์และแมลงไม่ให้เข้ามาในรูหูได้ โดยปกติแล้วเยื่อบุช่องหูจะผลักดันขี้หูออกมาอยู่แล้ว การเช็ดทำความสะอาดรอบนอกก็เพียงพอ
บางคนอาจมีการผลิตขี้หูที่มากผิดปกติ หรือขี้หูไปจับตัวกับฝุ่นจนเกิดการอุดตัน นอกจากไปพบแพทย์เพื่อดูดขี้หูออกแล้ว ก็มีหลายวิธีที่สามารถล้างหู หรือกำจัดขี้หูได้เองที่บ้าน
สารบัญ
1. น้ำมันมะกอก (Olive Oil)
น้ำมันมะกอกมีกรดไขมันที่ช่วยหล่อลื่นใบหู และวิตามินอี ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังช่วยให้ขี้หูนุ่มลง และทำให้ขี้หูไหลออกมาด้านนอกได้อย่างง่ายดาย
วิธีล้างหูด้วยน้ำมันมะกอก
- เทน้ำมันมะกอกอุ่นๆ ลงในหลอดหยด และบีบใส่ในหู 2-3 หยด
- เอียงศีรษะเพื่อให้น้ำมันมะกอกไหลเข้าไปด้านใน
- ตะแคงศีรษะอีกข้างเพื่อให้ขี้หู และน้ำมันมะกอก ไหลออกมา
- ทำเช่นนี้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- เมื่อมีแมลงเข้าไปในหู ให้หยอดน้ำมะกอกลงไปเพื่อให้แมลงตาย และไปพบแพทย์เพื่อเอาแมลงออก
2. น้ำมันพาราฟิน (Paraffin oil)
น้ำมันพาราฟิน เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่กลั่นแยกออกจากน้ำมันดิบ มีเนื้อสัมผัสเป็นน้ำมันทำให้ขี้หูนุ่มลง และช่วยหล่อลื่นช่องหู เพื่อให้เราสามารถแคะขี้หูออกมาได้ง่ายขึ้น สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายยา
วิธีล้างหูด้วยน้ำมันพาราฟิน
- ใส่น้ำมันพาราฟินในหลอดหยด และบีบใส่ภายในหู 3 หยด
- ตะแคงศีรษะ และปล่อยให้ทำปฏิกิริยาประมาณ 3-4 นาที
- แคะขี้หู หรือสิ่งสกปรกออกมาอย่างระมัดระวัง
- ทำความสะอาดบริเวณใบหูรอบนอกด้วยผ้าสะอาด
3. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide)
เราสามารถนำไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เป็นสารละลายชนิดหนึ่งที่สามารถนำมากำจัดขี้หูได้เช่นกัน ซึ่งสารดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อ และช่วยฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแบ่งตัวของเชื้อโรค
วิธีล้างหูด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
- ผสมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% กับน้ำอุ่นในอัตราส่วนเท่าๆ กัน
- จุ่มสำลีลงในสารละลายที่เตรียมไว้ และตะแคงศีรษะ
- บีบสารละลายจากสำลีใส่ในหู และปล่อยให้ทำปฏิกิริยา 3 นาที
- แคะขี้หู หรือสิ่งสกปรกออกมาอย่างระมัดระวัง
- ทำความสะอาดบริเวณใบหูรอบนอกด้วยผ้าสะอาด
4. น้ำเกลือ
น้ำเกลือ สามารถช่วยกำจัดขี้หูที่อุดตันอยู่ในช่องหูได้ โดยการทำให้ขี้หูนุ่มลง และสามารถแคะขี้หูออกมาได้ง่ายขึ้น หากไม่มีน้ำเกลือสามารถใช้น้ำส้มสายชูกลั่นที่ใช้รับประทานผสมกับน้ำกลั่นในอัตรา 1 ต่อ 1 ได้เช่นกัน
วิธีล้างหูด้วยน้ำเกลือ
- เตรียมสารละลายโดยใช้น้ำอุ่นกับเกลือ หรือน้ำเกลือที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป
- จุ่มสำลีลงในน้ำเกลือที่เตรียมไว้
- เอียงศีรษะไปด้านข้าง และใส่สำลีในรูหู
- ปล่อยให้น้ำเกลือทำปฏิกิริยากับขี้หูประมาณ 3 นาที หลังจากนั้นตะแคงศีรษะเพื่อให้สิ่งสกปรกไหลออกมา
- ทำความสะอาดบริเวณรอบใบหูอีกครั้ง
5. กลีเซอรีน (Glycerin)
กลีเซอรีน เป็นสารสะลายที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความหนืดเล็กน้อย และมีรสหวาน ส่วนมากจะสกัดมาจากน้ำมันพร้าว และน้ำมันปาล์ม มีประสิทธิผลในการช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับหูได้มากมาย หนึ่งในนั้น คือ การช่วยให้ขี้หูนุ่มลงนั่นเอง
หากไม่มีกลีเซอรีนก็สามารถใช้เบบี้ออยล์ (Baby oil) ทดแทนได้เช่นกัน
วิธีล้างหูด้วยกลีเซอรีน
- หยอดกลีเซอรีน 3 หยดลงในหูแต่ละข้าง เอียงศีรษะ และปล่อยให้ทำปฏิกิริยา 3 นาที
- แคะขี้หู หรือสิ่งสกปรกออกมาอย่างระมัดระวัง
- ทำความสะอาดบริเวณใบหูรอบนอกด้วยผ้าสะอาด
- ทำเช่นนี้สัปดาห์ละครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากมีขี้หูสะสมอยู่ภายในช่องหูมากเกินไปจนทำให้รู้สึกเจ็บ หูอื้อ หรือได้ยินลำบาก คุณก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสม ในกรณีที่ไม่ได้มีขี้หูสะสมมากเกินไป
การใช้วิธีที่ดังกล่าวสามารถช่วยกำจัดขี้หูได้ แต่หากขี้หูที่มากผิดปกตินั้นมาจากโรคเกี่ยวกับหู การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุก่อนจะเหมาะสมกว่า