เส้นขนตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผมบนศีรษะ ขนบนใบหน้า รักแร้ หน้าอก หน้าแข้ง หรือขนแขน อาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจของใครหลายคนได้ไม่น้อย
บางคนที่ศีรษะล้านอาจไม่มั่นใจในตัวเอง แต่หากขึ้นมาในตำแหน่งที่ไม่ต้องการ เช่น รักแร้ ขนแขน ก็อาจเสียความมั่นใจด้วยเช่นกัน
ในบทความนี้ จะมาพูดถึงการกำจัดขนที่ไม่ต้องการบริเวณแขน ว่ามีวิธีไหนเป็นทางเลือกสำหรับคุณบ้าง
ขนแขนมีประโยชน์อย่างไร?
โดยปกติ ขนตามร่างกายไม่ว่าจะเป็นขนแขน หน้าอก เส้นผม ขนตา ก็ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น ตัวอย่างประโยชน์ของเส้นขนส่วนต่างๆ มีดังนี้
- ป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกาย
- ป้องกันอวัยวะส่วนนั้นๆ จากอันตราย เช่น ขนตาป้องกันฝุ่นเข้าสู่ดวงตา ผมบนศีรษะป้องกันแสงแดดทำร้ายหนังศีรษะ ขนแขนป้องกันผิวหนังเสียความชุ่มชื้น
- รูขุมขนมีเส้นประสาทอยู่ภายในมากมาย จึงเป็นหนึ่งในอวัยวะรับความรู้สึกเมื่อถูกสัมผัส
- เป็นตัวนำสารคัดหลั่งบางชนิดออกจากร่างกาย เช่น ไขมัน เหงื่อ
- มีบทบาทสำคัญต่อสมดุลผิวหนังกำพร้า (Epidermis) และการหายของแผล
แม้ขนจะมีประโยชน์หลายข้อ แต่บางส่วนก็สามารถกำจัดออกได้โดยเกิดผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย เช่น รักแร้ ขนแขน เพื่อจุดประสงค์หลายข้อ ดังนี้
- เพื่อความสวยงาม ดูเรียบเนียน
- เพื่อลดเหงื่อ แม้จะไม่ใช่วิธีลดการหลั่งเหงื่อเหงื่อโดยตรง แต่เส้นขนก็มีความชื้นเกาะอยู่มาก การนำเส้นขนออกจึงทำให้ดูเหมือนมีเหงื่อน้อยลงด้วยเล็กน้อย
- เพื่อลดกลิ่นไม่พึงประสงค์จากการสะสมของเหงื่อ
หากใครที่มีความต้องการดังที่กล่าวมา อาจเลือกวิธีการกำจัดขนต่างๆ ดังที่จะกล่าวต่อไป
รวมวิธีกำจัดขนแขน
การกำจัดขนแขนมีด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่สามารถพบได้ทั่วไป และนิยมใช้ มี 3 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. แว็กซ์ขนแขน
การแว็กซ์ คือการใช้น้ำยาแว็กซ์ทาบริเวณที่ต้องการกำจัดขน หรืออาจใช้เป็นแผ่นแว็กซ์ก็ได้ เมื่อพอกลงไปสักพักจะรู้สึกได้ว่าน้ำยามีความแข็งขึ้น จากนั้นจึงค่อยๆ ลอกออก น้ำยาแว็กซ์จะดึงเอารากขนออกมาด้วย
ผลลัพธ์จากการแว็กซ์อาจอยู่ได้ 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับวงจรการเติบโตเส้นขนแต่ละคน การแว็กซ์มีหลักๆ 2 ประเภท ดังนี้
- ซอฟท์แว็กซ์ (Soft wax) เป็นลักษณะแผ่นแปะและดึงออกเพื่อกำจัดขนออกโดยตรง
- ฮาร์ดแว็กซ์ (Hard wax) เป็นแว็กซ์ที่มักจะต้องละลาย หรือุ่นก่อนใช้ เมื่อนำมาพอกแล้วสามารถแข็งตัวได้เอง จากนั้นลอกออกเพื่อให้ขนติดออกมาด้วย มักมีส่วนผสมของขี้ผึ้ง เรซิ่น (Resin) และน้ำมัน
นอกจากนี้ผลพลอยได้ของการแว็กซ์ขนแขน อาจมีส่วนช่วยในการผลัดเซลล์ผิวด้วย เพราะน้ำยาแว็กซ์จะเคลือบลงบนผิวหนังด้วย
การแว็กซ์ขนสามารถทำเองได้ที่บ้านโดยน้ำยาแว็กซ์ที่ผสมเอง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายทั่วไป หรือไปทำที่สถานที่ให้บริการที่มีประสบการณ์ก็ได้
การเตรียมตัวก่อนแว็กซ์ มีดังนี้
- ควรกะวันที่แว็กซ์ขนเมื่อขนมีความยาวอย่างน้อย 1 ส่วน 4 นิ้ว และไม่เกินครึ่งนิ้ว
- ควรทาครีม หรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นผิวก่อนทำแว็กซ์
- ไม่ควรทำการแว็กซ์หากขนมีความยาวมากกว่าครึ่งนิ้ว เพราะอาจทำให้เจ็บมาก หากขนยาวกว่าครึ่งนิ้วควรเล็มออกเล็กน้อยให้สั้นลง
- ไม่ควรขัดผิวก่อนวันแว็กซ์ขน
- ไม่ควรอาบแดดทำผิวแทนก่อนวันแว็กซ์ขน
- ไม่ควรทำให้ผิวแห้งจากการว่ายน้ำ
ขั้นตอนการแว็กซ์ อาจมีดังนี้
- ผู้ให้บริการจะทำความสะอาดบริเวณที่จะแว็กซ์ขน และใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันการระคายเคือง เช่น ครีม หรือโลชั่น
- จากนั้นผู้ให้บริการจะลงน้ำยาแว็กซ์บริเวณที่ต้องการทำ โดยทาไปในทิศทางเดียวกับที่ขนขึ้น หรือหากใช้แว็กซ์แบบแผ่นแปะก็ต้องติดไปในทิศทางเดียวกัน เช่นกัน
- เมื่อถึงเวลาที่ต้องดึงออก ผู้ให้บริการจะลอกแว็กซ์ออกในทิศตรงกันข้ามกับทิศที่ขนเจริญเติบโต เพื่อให้เกิดแรงดึงขนให้ออกมาทั้งราก
- เมื่อทำการแว็กซ์เสร็จแล้ว ผู้ให้บริการจะทาเซรั่ม ครีม หรือโลชั่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขนคุด
การแว็กซ์ขนค่อนข้างปลอดภัย แต่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะบอกว่ามีความเจ็บปวดบ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดขนของแต่ละคน
2. เลเซอร์กำจัดขนแขน
การใช้เลเซอร์กำจัดขนแขน เป็นวิธีที่ไม่ทำอันตรายร้ายแรงกับร่างกาย และเป็นวิธีที่นิยมในการกำจัดขนแขน
หลักการทำงานของเลเซอร์ คือการใช้แสงที่มีความเข้มข้นสูงเข้าไปส่งผลกระทบที่รากขน (Follicle) โดยเข้าไปจับกับเม็ดสีเมลานิน (Melanin pigment) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เส้นขนมีสีต่างๆ เช่น ดำ น้ำตาล ทอง
โดยเส้นผมที่ดูดซึมแสงเลเซอร์เข้าไปก็จะถูกทำลาย และเส้นขนหลุดไปในที่สุด ดังนั้นหากเส้นขนยิ่งมีสีเข้มมาก การใช้เลเซอร์ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมาก เพราะแสงเลเซอร์จับได้ดี ยิ่งหากมีผิวสีอ่อนก็จะยิ่งได้ผลมากขึ้นอีก เพราะแสงผ่านได้ง่าย
สำหรับผู้ที่มีผิวเข้ม อาจทำให้แสงเลเซอร์ส่งผลกระทบกับผิวไปด้วยเพราะมีเม็ดสีอยู่ที่ผิวจำนวนมาก แสงเลเซอร์จึงไปจับกับผิวนั่นเอง
แต่สำหรับผู้ที่มีผิวสีเข้ม หรือเส้นขนสีอ่อน ยังคงสามารถใช้วิธีกำจัดขนด้วยเลเซอร์ได้ แต่อาจต้องพูดคุยกับผู้ให้บริการว่าควรใช้เลเซอร์ชนิดใดให้เหมาะสมกับสภาพผิว และขนของตัวเอง
การเลเซอร์กำจัดขน อาจต้องทำ 3-8 ครั้ง แต่ละครั้งควรห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์จึงจะได้ผลถาวร ผู้ให้บริการจะเป็นผู้ประเมินจำนวนครั้งจากการดูสภาพขนในครั้งแรก
ตัวอย่างเลเซอร์ที่พบได้ อาจมีดังนี้
- Intense pulsed light: IPL แม้จะไม่ใช่เลเซอร์ แต่หลายคนมักเรียกรวมกันว่าเลเซอร์เพื่อความเข้าใจ โดย IPL เป็นแสงความเข้มข้นสูง แต่วิธีการทำงานนั้นคล้ายกับเลเซอร์ชนิดอื่น
- Nd:YAG เป็นเลเซอร์ที่ใช้ความยาวคลื่นประมาณ 1,064 นาโนเมตร เข้าจับกับเม็ดสีเมลานินในผิวหนังได้น้อย ทำให้ผลข้างเคียงน้อยด้วย มีเทคโนโลยีความเย็นช่วยระงับอาการเจ็บในระหว่างทำ
- Diode เป็นเลเซอร์ที่ใช้ความยาวคลื่นประมาณ 810 นาโนเมตร ไม่ทำปฎิกริยากับเม็ดสีเมลานินในผิวหนัง จึงสามารถใช้ได้กับผิวแห้ง ผิวบอบบาง หรือผิวสีคล้ำได้หมด
3. การโกนขน
การโกนขนออกโดยตรง เป็นการใช้อุปกรณืโกนขนตัดเอาขนที่อยู่เหนือพื้นผิวออก สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน เป็นวิธีที่รวดเร็ว และสามารถหาซื้ออุปกรณ์โกนได้ง่าย แต่การโกนขนนั้นมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง เช่น
- อาจทำให้เกิดขนคุด
- อาจทำให้เกิดผื่นแดง (Razor burn)
- อาจเกิดรอยบาด
- อาจทำให้ผิวระคายเคือง
- อาจทำให้ผิวหยาบกร้าน
- อาจเกิดการติดเชื้อได้
โดยสาเหตุของการเกิดผลข้างเคียงอาจมาจากหลายปัจจัย ทั้งใบมีดทื่อเกินไป โกนเร็วเกินไป หรือความสะอาด ดังนั้นจึงควรทำด้วยความระมัดระวัง หรือทำกับผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์
แต่อย่างไรก็ตาม การโกนขนยังมีผลข้างเคียงหลายข้อที่ยังเป็นที่เข้าใจผิดอยู่ คือการโกนขนไม่ได้ทำให้ขนที่งอกมาใหม่หนากว่าเดิม หรือเร็วกว่าเดิมอย่างที่หลายคนเข้าใจ
ที่หลายคนรู้สึกว่าขนที่ขึ้นมาใหม่หลังจากโกนหนาขึ้น อาจเกิดจากขนที่ถูกตัดอาจมีความทื่อกว่าการถอนออกไปทั้งราก ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นตอแข็งๆ จึงคิดว่าหนาขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ตอนวัยรุ่น เป็นประจำเดือน หรือตั้งครรภ์ โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อ แอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งอาจพบได้ในผู้หญิงด้วย มีส่วนทำให้เส้นขนหนา และหยาบขึ้น โดยที่การโกนไม่ได้มีผลแต่อย่างใด