การสวนหลอดเลือดเป็นกระบวนการวินิจฉัยที่ช่วยทำให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลโครงสร้างและการทำงานหัวใจ โดยการใช้เทคนิคเอกซเรย์เพื่อร่างภาพหลอดเลือดที่ส่งผ่านเลือดเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจ (หลอดเลือดหัวใจ) ผสานกับเทคนิค “ฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ” ที่จะช่วยทำให้ภาพหัวใจชัดเจนยิ่งขึ้น
สารบัญ
- เหตุใดจึงต้องเข้ารับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ?
- กระบวนการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- การพักฟื้นหลังการสอดสายสวนหลอดเลือดและการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- ความเสี่ยงของการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- ภาวะข้างเคียงที่ร้ายแรง
- ภาวะหัวใจที่การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจสามารถวินิจฉัย
- การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจกับการรักษา
- การสอดส่องหัวใจขณะทำการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- คำแนะนำในการดูแลตนเอง
เหตุใดจึงต้องเข้ารับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ?
การฉีดสีหลอดเลือดจะทำให้ภาพถ่ายที่ได้เห็นภาพหลอดเลือดต่างๆ ที่เชื่อมไปยังกล้ามเนื้อหัวใจอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น กระบวนการนี้จะช่วยทำให้แพทย์ทำการตัดสินใจหาแนวทางรักษาที่ตรงจุดที่สุด
ตัวอย่างสถานการณ์ที่ต้องใช้กระบวนการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- หลังจากประสบกับภาวะหัวใจวาย ที่ซึ่งหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจเกิดการปิดกั้นหรืออุดตัน
- เพื่อตรวจสอบวินิจฉัยภาวะเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการเจ็บข้างในหน้าอกที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจ
- เพื่อวางแผนกระบวนการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน หรือการผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG)
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจถูกพิจารณาว่า เป็นกระบวนการที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ (ภาวะโรคที่ส่งผลต่อหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ)
กระบวนการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- ก่อนเริ่มกระบวนการ คุณต้องแจ้งแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจถึงโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา และยาทุกชนิดที่ใช้ในปัจจุบัน
- หากกำลังใช้ยาต้านเกล็ดเลือด แพทย์จะสั่งให้คุณงดยาประเภทนี้ไปก่อนเข้ารับการตรวจประมาณ 3-5 วัน ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- งดรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำก่อนเข้ารับการตรวจ 6 ชั่วโมง
- แพทย์จะให้ยาระงับประสาท ซึ่งจะทำให้รู้สึกง่วงนอนและผ่อนคลาย แต่จะยังคงรู้สึกตัวอยู่ตลอดกระบวนการ ซึ่งยาตัวนี้จะคงสติของผู้ป่วยเพื่อรับฟังคำสั่งของแพทย์ เช่น คุณอาจถูกขอให้หายใจเข้าลึกๆ และกลั้นหายใจในบางช่วงของกระบวนการ
- แพทย์จะใช้ท่อสวนที่ยาวและยืดหยุ่นสอดเข้าเส้นเลือดบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ ด้วยการใช้เทคนิคเอกซเรย์นำทางให้ปลายสายสวนไปอยู่ในตำแหน่งของหลอดเลือดหัวใจ
- แพทย์จะปล่อยสารย้อมที่เรียกว่า “สารทึบรังสี” ผ่านสายสวนไปยังหลอดเลือด และจะมีการบันทึกภาพเอกซเรย์ไว้
- สารทึบรังสีจะแสดงออกมาบนภาพ ซึ่งจะช่วยแสดงให้เห็นหลอดเลือดจนสามารถระบุถึงการตีบตันได้อย่างชัดเจน
การพักฟื้นหลังการสอดสายสวนหลอดเลือดและการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- หลังเข้ารับการตรวจด้วยวิธีสวนหลอดเลือดและฉีดสีหลอดเลือดหัวใจแล้ว ความดันโลหิตและชีพจรของคุณจะถูกบันทึกไว้
- หากว่าสายสวนถูกสอดผ่านขาหนีบ พยาบาลจะทำการกดแผลของคุณไว้เป็นเวลา 5-10 นาทีเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ไหลออกมาหลังการถอนปลอกสายสวนออกจากผิวหนัง
- ในบางครั้งแพทย์อาจใช้หัวปิดขนาดเล็กที่ตำแหน่งที่สอดท่อ หรือใช้ไหมเย็บแผลชนิดพิเศษเพื่อปิดปากแผล ซึ่งหากทำเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องกดปากแผลไว้
- หากสายสวนถูกสอดผ่านเส้นเลือดที่แขนของคุณ จะมีการสวมปลอกแขนแรงดันรอบแขนของคุณไว้ โดยแรงดันของปลอกจะค่อยๆ ลดลงภายในเวลาหลายชั่วโมง โดยพยาบาลจะตรวจสอบเพิ่มเติมหลังจากนั้นว่ายังมีเลือดออกจากตำแหน่งที่สอดสายสวนหรือไม่
- หากคุณถูกสวนสายผ่านแขน คุณจะสามารถลุกขึ้นนั่งได้ทันทีที่เสร็จกระบวนการ และสามารถเดินไปมาได้หลังจากนั้นทันที
- แต่หากสายสวนถูกเสียบผ่านขาหนีบของคุณ คุณต้องนอนราบระยะเวลาหนึ่งเพื่อรอให้เลือดหยุดไหล ซึ่งหากเป็นไปได้ด้วยดี คุณก็สามารถลุกนั่งได้หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง และไม่นานแพทย์อนุญาตให้คุณเดินไปมาได้
- หากคุณรู้สึกไม่สบายตัวหลังกระบวนการให้รีบแจ้งแพทย์ผู้ดูแลทันที
- ภายหลังการสอดสายสวนหลอดเลือดไม่กี่ชั่วโมง คุณสามารถให้สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่พามาด้วยพาคุณกลับบ้านได้
- ส่วนมากผู้ที่ผ่านการตรวจประเภทนี้มักจะรู้สึกดีขึ้นเองภายหลังกระบวนการทั้งหมด แต่อาจมีความรู้สึกเหนื่อยล้าเล็กน้อย อีกทั้งตำแหน่งที่มีแผลเจาะอาจมีความระคายเคืองได้ง่ายไปอีกสัปดาห์หนึ่ง และรอยฟกช้ำที่เกิดขึ้นอาจคงอยู่นานกว่าสองอาทิตย์
ความเสี่ยงของการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
การสวนหลอดเลือดหัวใจและการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเป็นกระบวนการที่นับว่าปลอดภัยอย่างมาก แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน ดังนี้
- ภาวะแพ้สารทึบรังสี (เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก): หากคุณมีประวัติแพ้สารทึบแสง หรือแพ้อาหารทะเล หรือมีประวัติแพ้ยาใดๆ ให้คุณแจ้งแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ ก่อนเข้ารับการตรวจประเภทนี้
- จุดที่สอดสายสวนมีเลือดออกใต้ผิวหนัง: จะหายไปเองภายในเวลาไม่กี่วัน (หากกังวลให้ปรึกษาทีมรักษา)
- รอยฟกช้ำ: เป็นภาวะที่นับว่าปกติ แต่หากบริเวณที่เจาะสายสวนเข้าไปมีรอยฟกช้ำหรือบวมมากเกินไปให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม
ภาวะข้างเคียงที่ร้ายแรง
ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะข้างเคียงที่อันตรายจากกระบวนการเหล่านี้คาดว่าอยู่ที่ 2 จาก 1,000 กรณีเท่านั้น โดยมักส่งผลต่อหัวใจเป็นส่วนใหญ่ ความเสี่ยงดังกล่าวมีดังนี้
- หัวใจวาย เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ซึ่งหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดการอุดตันกะทันหัน ซึ่งมักเกิดมาจากลิ่มเลือดเองที่ไปอุดตัน
- ภาวะหลอดเลือดเลี้ยงสมองเกิดตีบตัน เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ซึ่งหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดอุดตัน
- เกิดความเสียหายที่เส้นเลือดแดงที่แขนหรือขาหนีบที่ทำการสอดสายสวนเข้าไป โดยมักส่งผลเป็นการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะส่วนนั้นเกิดบกพร่องไป
- ไตวาย จากสารทึบรังสีหากผู้ป่วยมีภาวะไตเสื่อมสภาพอยู่เดิม
- เนื้อเยื่อเสียหายจากการสัมผัสรังสีเอกซเรย์มากเกินไป
- เสียชีวิต
ภาวะหัวใจที่การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจสามารถวินิจฉัย
การฉีดสีย้อมหลอดเลือดหัวใจสามารถวินิจฉัยได้ถึงสภาวะทางหัวใจหลายอย่าง เช่น
- ภาวะหัวใจวาย: เป็นภาวะทางการแพทย์ชนิดฉุกเฉินที่ซึ่งหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดการอุดตันกะทันหัน โดยมักจะเกิดจากลิ่มเลือดเอง
- เจ็บหน้าอก: เป็นความรู้สึกเจ็บหน่วงหรือแน่นอกที่สามารถเจ็บหรือปวดร้าวไปยังแขน คอ กราม หรือหลังได้ โดยอาการดังกล่าวเกิดมาจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเกิดตีบตันจากการสะสมกันของสารจำพวกไขมันบนผนังหลอดเลือดแดง
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจกับการรักษา
นอกจากการฉีดสีย้อมหลอดเลือดที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจแล้ว วิธีการรักษาโรคหัวใจยังมีอีกหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพที่ตรวจพบ
- การผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงด้วยบอลลูน สามารถเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การรักษาหลอดเลือดตีบตันผ่านสายสวน (PCI) หมายถึง กระบวนการที่ช่วยขยายหลอดเลือดแดงที่เกิดการตีบตัน และมักดำเนินการไปพร้อมกับการถ่ายภาพหลอดเลือด
- การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือด (CABG)
เป็นการผ่าตัดที่สร้างทางเบี่ยงของเลือดอ้อมตำแหน่งที่เกิดการตีบตันไป - การผ่าตัดลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจคือ โครงสร้างที่อยู่ภายในหัวใจ ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
การสอดส่องหัวใจขณะทำการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
ตลอดกระบวนการ คุณจะถูกติดตามการทำงานของหัวใจด้วยเครื่องอิเล็กโทรคาร์ดิโอแกรม (Electrocardiogram: ECG) ที่ใช้บันทึกจังหวะการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ โดยใช้ปุ่มอิเล็กโทรด (ปุ่มแผ่นโลหะที่มีขนาดเล็ก) ติดตามร่างกายของคุณ เช่น บนแขน ขา และหน้าอก
ปุ่มอิเล็กโทรดจะเชื่อมไปยังเครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้าที่คอยบันทึกจังหวะการเต้นหัวใจของคุณ
หากคุณไม่จำเป็นต้องเข้ารับกระบวนการอื่นๆ นอกจากการสวนหลอดเลือด กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
คำแนะนำในการดูแลตนเอง
รายละเอียดต่อไปนี้คือคำแนะนำสำหรับการพักฟื้น:
- พยายามหลีกเลี่ยงการแช่น้ำร้อนเป็นเวลา 3-4 วันจนกว่าแผลจะหายดี (คุณสามารถอาบน้ำได้ปกติ โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลถูกน้ำ)
- หลังจากกระบวนการทั้งหมดหนึ่งวัน คุณสามารถเปลี่ยนผ้าปิดแผลได้ โดยค่อยๆ ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบด้วยน้ำสบู่จางๆ และเช็ดหรือเป่าให้แห้งก่อนติดผ้าปิดแผลชิ้นใหม่ ควรทำเช่นนี้ทุกวันจนกว่าแผลบริเวณผิวหนังจะหายดี
- ควรไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการบวมแดงร้อนบริเวณแผลเมื่อสัมผัสโดน หรือเมื่อมีไข้สูง ผื่นขึ้น มีอาการชา หรือมีความเจ็บปวดที่ขาขณะเดิน
- ห้ามขับขี่ยานพาหนะเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมหนักๆ อย่างการยกของที่หนักมากกว่า 5 กิโลกรัมเป็นเวลาสองถึงสามวัน โดยผู้คนส่วนมากจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้หลังจากนั้นไม่กี่วัน
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี