หู อวัยวะแห่งการได้ยิน และการทรงตัว

หู อวัยวะแห่งการได้ยิน และการทรงตัว

ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า หู (Ear) เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าในการได้ยิน แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากการได้ยินแล้ว หูยังช่วยให้เราสามารถทรงตัวและเคลื่อนไหวได้อย่างปกติอีกด้วย ซึ่งหากเกิดความผิดปกติภายในหูก็อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือบ้านหมุนได้

มาดูกันว่าโครงสร้างของ “หู” ประกอบด้วยอะไรบ้าง และแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร

หูสำคัญอย่างไร

หู เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการได้ยิน และการทรงตัว ทำงานด้วยพลังงานกลและพลังงานไฟฟ้า (Mechanic and Electrical  Impulse) ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปสู่สมองโดยตรง ทำให้การได้ยินและการทรงตัวเป็นไปอย่างอัตโนมัติ

เมื่อใดก็ตามที่หูข้างใดข้างหนึ่งผิดปกติ ก็จะส่งผลต่อการได้ยิน เช่น มีอาการหูอื้อ หูหนวก หรือไม่สามารถทรงตัวได้ เมื่อเคลื่อนไหวก็จะเกิดอาการโคลงเคลง บ้านหมุน จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หูจึงมีความสำคัญมากกับมนุษย์นั่นเอง

โครงสร้างของหู

หูมี 2 ข้าง โดยแต่ละข้างจะมีรูปร่างที่เหมือนกัน แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่

  • หูชั้นนอก ประกอบด้วย ใบหู รูหู และเยื่อแก้วหู
  • หูชั้นกลาง ประกอบด้วย ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) และกระดูกสำคัญ 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน (Malleus) กระดูกทั่ง (Incus) และกระดูกโกลน (Stapes)
  • หูชั้นใน ประกอบด้วย หน้าต่างรูปไข่ (Oval window) หน้าต่างรูปกลม (Round window) คอเคลีย (Cochlea) แลบบิรินท์ (Vestibular labyrinth) หินปูน (Otolith) และอวัยวะคอร์ติ (Organ of corti) ที่ประกอบด้วย เซลล์ขน (Hair Cells) และเยื่อบุเทคโทเรียล (Tectorial membrane)

หน้าที่ของหูแต่ละส่วน

ใบหู 

  • ทำหน้าที่รับ และรวบรวมคลื่นเสียงจากที่ต่างๆ ให้ผ่านเข้าไปในช่องหู
  • โครงสร้างของใบหูมีลักษณะเป็นกระดูกอ่อน  และมีรอยหยักตามใบหูซึ่งมีผลต่อคลื่นเสียงในย่านความถี่ต่างๆ
  • การมีหู 2 ข้างจะช่วยให้รู้ทิศทางและที่มาของเสียงได้ชัดเจนขึ้น

รูหู 

  • ภายในหูจะมีต่อมไขมันเคลือบผนังรูหูไว้ไม่ให้แห้ง ทำหน้าที่ช่วยป้องกันอันตรายจากแมลง ฝุ่นละออง การติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยเมื่อไขมันสะสมมากเข้าก็จะกลายเป็นขี้หู และหลุดออกมาเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องแคะหูบ่อยจนเกินไป
  • การแคะหูเป็นประจำจะกระตุ้นให้ต่อมไขมันสร้างขี้หูเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้ขี้หูถูกดันเข้าไปลึกจนเกิดการอุดตัน ส่งผลให้เกิดอาการหูอื้อตามมา ผู้ที่มีอาการได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ปวดหู วิงเวียนศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นเป็นหนึ่งในสัญญาณหูอื้อที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • รูหูมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร เท่ากับหนึ่งในสี่ของความยาวคลื่นเสียงในย่านความถี่ประมาณ 3,000 เฮิรตซ์ ซึ่งเป็นระดับของเสียงพูดปกติ จึงทำให้เราสามารถรับรู้เสียงจากการพูดคุยได้ดีนั่นเอง
  • ความดังของคลื่นเสียงในช่วงความถี่ 3,000 เฮิรตซ์ จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 เดซิเบลหลังผ่านรูหูไปแล้ว

เยื่อแก้วหู 

  • เป็นรอยต่อระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง
  • เยื่อแก้วหูมีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ รูปร่างเกือบกลม เอียงทำมุมกับหูชั้นนอก 55 องศา
  • เยื่อแก้วหูจะสั่นเมื่อได้รับคลื่นเสียง และจะส่งแรงสั่นสะเทือนเข้าไปในหูชั้นกลาง โดยการขยับหรือกระเพื่อมตามความถี่ที่ได้รับ

ท่อยูสเตเชียน

  • เป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูก และหูชั้นกลาง
  • ทำหน้าที่ปรับความดันอากาศภายนอกและภายในให้สมดุลกัน
  • ปกติท่อนี้จะเปิดเวลาเคี้ยว หรือกลืนอาหาร เพื่อไม่ให้มีอาการหูอื้อ
  • หากท่อยูสเตเชียนมีการอุดตันจะทำให้หูอื้อ  ปวดหูได้  รวมถึงเวลาที่เราติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หากไม่รีบรักษา เชื้อก็อาจแพร่กระจายมายังหูชั้นกลางผ่านท่อยูสเตเชียนได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูน้ำหนวกได้

กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน

  • อยู่ถัดจากเยื่อแก้วหู ไล่เรียงจากตำแหน่งที่อยู่นอกสุดไปยังในสุดตามลำดับ
  • กระดูกทั้งสามชิ้นจะยึดติดกันเป็นระบบคานดีด-คานงัด ทำหน้าที่ขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น และส่งต่อไปยังหูชั้นใน

เส้นประสาทในหูชั้นกลาง

  • แขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7  (Chorda  Tympani  Nerve)
  • แขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9  (Glossopharyngeal  Nerve)
  • แขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5  (Trigeminal  Nerve)

หน้าต่างรูปไข่ และหน้าต่างรูปกลม

  • กั้นระหว่างหูชั้นในกับหูชั้นกลาง
  • ช่องหน้าต่างทั้งสองจะมีเยื่อบางๆ กั้นอยู่ ช่วยให้หูชั้นกลางทำหน้าที่สำคัญทั้ง 2 อย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การขยายเสียงและการป้องกันเสียงดัง

คอเคลีย

  • อยู่ในหูชั้นใน มีลักษณะเป็นท่อกลมม้วนขดเป็นรูปก้นหอยราวสองรอบครึ่ง
  • ภายในคอเคลียมีท่อขนาดใหญ่ 2 ท่อ ได้แก่ สกาลาเวสติบูไล(Scala  Vestibuli) และสกาลาทิมพาไน (Scala  Tympani) ขดคู่กันไปตั้งแต่ฐานแล้วมาบรรจบกันที่ยอดของก้นหอย หรือที่เรียกว่าเฮลิโคทรีมา (Helicotrema)
  • ภายในท่อทั้งสองนี้จะมีของเหลวคล้ายน้ำโลหิตหล่อเลี้ยงอยู่เรียกว่า เพอริลิมพ์ (Perilymph) เมื่อมีคลื่นเสียงมากระทบจะเกิดการสั่นสะเทือนและส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทต่างๆ

เซลล์ขน

  • เซลล์ขนมีอยู่ตลอดแนวตั้งแต่ต้นท่อคอเคลียไปจนถึงปลายท่อ โดยเซลล์ขนที่ฐานคอเคลียรับเสียงสูง และไปถึงปลายท่อรับเสียงทุ้มตามลำดับไป
  • เป็นตัวรับการกระตุ้นของเสียง ทำหน้าที่เปลี่ยนการสั่นสะเทือนของของเหลว หรือเพอริลิมพ์ ภายในท่อให้เป็นคลื่นไฟฟ้าไปสูสมอง
  • มี 2 แถวคือ แถวนอก (Outer hair cells)  มี 3 แถว จำนวนราว 12,000 – 20,000  เซลล์ และแถวใน (Inner hair cells)  มี 1 แถว มีจำนวนราว  3,600  เซลล์

แลบบิรินท์

  • อวัยวะรูปครึ่งวงกลมต่อกันในลักษณะตั้งฉากทั้งแนวตั้งและแนวนอน ภายในมีของเหลวหล่อเลี้ยงชนิดเดียวกับในท่อคอเคลีย  โดยปลายด้านหนึ่งของแลบบิรินท์จะมีอวัยวะรับการเคลื่อนไหวของน้ำในหู ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถนอน นั่ง ยืน วิ่ง หรือเล่นผาดโผน ก็จะทำให้รู้ว่าร่างกายกำลังอยู่ในท่าทางใด ส่งผลให้ทรงตัวได้นั่นเอง

หินปูน

  • เกาะอยู่ตรงกลางระหว่างคอเคลียกับประสาทการทรงตัว
  • ทำหน้าที่รับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะตามแรงโน้มถ่วงของโลก เช่น เวลาตะแคง ก้ม หรือเงยศีรษะ  ทั้งนี้การกระตุ้นอวัยวะการทรงตัวจะต้องสมดุลกันระหว่างหูทั้งสองข้าง เพื่อให้เราสามารถทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้ม
  • ถ้าอวัยวะการทรงตัวสองข้างไม่สมดุลกัน มีความขัดแย้งของข้อมูล สมองจะประเมินไม่ถูก ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ มึนงง หรือบางครั้งเรียกว่ามีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top